posttoday

วางเงินเพื่อเกษียณ อย่างไรให้สบายใจ

02 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ คูุ่คิดนักลงทุน โดย...บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง

วางเงินเพื่อเกษียณ อย่างไรให้สบายใจ

คอลัมน์ คูุ่คิดนักลงทุน โดย...บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง

สวัสดีครับเพื่อน ๆ นักลงทุน หากพูดถึงเรื่องเกษียณ หลายคนอาจมองว่า ไกลตัว แต่เรื่องนี้ถือว่า สำคัญมาก โดยคาดการณ์ ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะมีผู้สูงอายุประมาณ 20% ของประชากรรวม และจากการทำสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ที่ผ่านมา 55.8% ของผู้สูงอายุในไทยยังคงต้องพึ่งพาคนอื่น นั่นหมายความว่า เกินครึ่งของผู้สูงอายุในไทยไม่สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ด้วยเงินทองของตัวเอง และในอนาคตสัดส่วนผู้สูงอายุต่อวัยทำงานมีสัดส่วนที่น้อยลงอย่างอัตราเร่ง เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาระดับชาติจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องเริ่มวางแผนการลงทุนอย่างจริงจัง

เริ่มอย่างไร ? หลายคนมีคำถาม แน่นอนครับ เราต้องมีความรู้ในด้านการออม วันนี้เลยขอพูดเรื่องการวางเงินเพื่อเกษียณอย่างไรให้สบายใจ

ขั้นที่ 1 ก็ต้องรู้เรา การที่จะออมเราก็ต้องรู้ก่อนว่า ระดับความเสี่ยงที่รับได้นั้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุด คือ อายุ เพราะอายุจะเป็นตัวบอกอย่างง่ายว่า เราควรรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ในแต่ละช่วงอายุมีรูปแบบหน้าตาการลงทุนที่แตกต่างกันไป อย่างท่านที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ มีเวลาทำงานอีกนาน 30-40 ปี กว่าจะเกษียณ ก็สามารถรับความเสี่ยง รับความผันผวนได้มากหน่อย เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูง หากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นเกิดปรับตัวลง ก็สามารถที่จะรอได้ เพราะระยะเวลาการลงทุนของเรายาว

แต่ถ้าอายุมากขึ้นหน้าตาพอร์ตต้องเปลี่ยนไป เพราะเมื่อสูงอายุมากเข้าเราจะรับความเสี่ยงมากไปก็ไม่ดี เพราะพอจะเกษียณ เกิดเป็นช่วงที่ตลาดหุ้น สินทรัพย์เสี่ยง อยู่ขาลงพอดี เราจะเอาเงินที่ออมเพื่อเกษียณมาใช้ราคาก็หายได้ อย่างเช่น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ใครมีเงินออม เพื่อเกษียณ อย่างเงินสำรองเลี้ยงชีพ หรือ RMF ที่เน้นหุ้นไทยอย่างเดียว มาวันนี้ท่านคงทำใจยากเหมือนกันที่จะขายได้ราคาที่ต่ำ หลายท่านจำต้องค้างรอให้หุ้นไทย ขึ้นอีกทีถึงจำทำการขายได้ เพราะฉะนั้นเมื่อสูงอายุใกล้เกษียณมากขึ้นพอร์ตการลงทุนจึงต้องเน้นไปทางสินทรัพย์มั่นคงมากขึ้น ฉะนั้นข้อแรกจึงต้องรู้ก่อนว่า จะรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

ขั้นที่ 2 รู้สินทรัพย์ที่จะลงทุน สินทรัพย์ลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ สินทรัพย์เสี่ยง และสินทรัพย์มั่นคง แต่พอพูดคำว่า สินทรัพย์เสี่ยง หลายคนก็เข้าใจว่า คือ หุ้นไทยเพียงอย่างเดียว แต่คำว่าสินทรัพย์เสี่ยงยังคงเป็นอะไรที่เราสามารถกระจายความเสี่ยงได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หุ้นต่างประเทศ สินทรัพย์ทางเลือกอย่าง อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และน้ำมัน ซึ่งสามารถจัดเป็นพอร์ตที่เราเรียกว่า สินทรัพย์เสี่ยงได้ แต่ก็ควรมีการจัดสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ควรให้น้ำหนักประเภทไหนมากจนเกินไป และอย่างที่คุยกันเบื้องต้น หากเน้นแต่หุ้นไทยอย่างเดียว 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ perform เลย หากเรากระจายไปหุ้นต่างประเทศ หรือ ทองคำ ก็จะทำให้พอร์ตของเรามีเสถียรภาพ สำหรับสินทรัพย์มั่นคง หลายคนคงคิดแค่เงินฝากธนาคารอย่างเดียว แต่ในแง่การลงทุนแล้ว ตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้นกู้คุณภาพดี ระดับ investment grade ขึ้นไป ถือว่าเป็นตัวแทนของสินทรัพย์มั่นคง และก็คงไม่ใช่แค่ตราสารหนี้ในประเทศเท่านั้น การกระจายไปในพันธบัตร และหุ้นกู้คุณภาพดี ก็เป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงได้เช่นกัน เมื่อเรารู้ว่าจะลงได้ทั้งสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์มั่นคง เคล็ดลับ คือ การกระจาย เพื่อลดความเสี่ยง เพราะเงินเกษียณเป็นเงินออมที่สำคัญ เราจึงกระจายทั้งประเภทและประเทศ ทั้งสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์มั่นคง

แล้วสัดส่วนควรเป็นเท่าไร ? จากขั้นแรกเมื่อเรารู้แล้วว่า ควรบริหารจัดการพอร์ตการออมเพื่อเกษียณตามความเสี่ยงที่เรารับได้ โดยเอาอายุเป็นที่ตั้ง ซึ่งก็ง่ายแล้วใช้ได้ดี โดยมีเกณฑ์การจัดอย่างง่ายครับ เอา 80 ตั้งแล้วลบด้วยอายุของท่าน เช่น ถ้าท่านอายุ 40 สินทรัพย์เสี่ยงที่มีอยู่ในพอร์ตก็ควรจะประมาณ 80- 40 = 40% และเมื่ออายุ 50 สินทรัพย์เสี่ยงควรเหลือ 80 – 50 = 30% เป็นต้น สัดส่วนนี้เป็นเกณฑ์อย่างง่าย ๆ ให้เรารู้ เพื่อให้รับความเสี่ยงให้เหมาะกับวัยได้ อย่างไรก็ดีก็ขึ้นอยู่กับมุมมองการลงทุนของแต่ละท่านด้วย ถ้าท่านคิดว่า ตัวเองรับความเสี่ยงได้มาก จาก 80 ลบอายุ ก็จะเป็น 90 หรือ 100 หรือใครเสี่ยงได้น้อย ก็เอาเป็น 60 ลบอายุท่านก็ได้ครับ

ขั้นที่ 3 ติดตามปรับพอร์ตการลงทุนตามขั้นตอนที่ 2 แล้ว สิ่งที่เราควรทำ คือ ปรับพอร์ต เพื่อการเกษียณของเราตามวัย ซึ่งอย่างน้อย ก็คือ 1 ปี ทยอยลดสินทรัพย์เสี่ยงลงมา เพื่อให้พอร์ตการลงทุนสมดุลกับตัวเรา ทุกท่านอย่าลืมหมั่นตรวจสอบติดตามปรับสัดส่วนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆจนเกษียณนะครับ

พูดมาตามนี้ หลายคนเริ่มสนใจที่จะจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อเกษียณ แต่อาจมีข้อจำกัด ไม่สะดวกเรื่องการลงมือเอง

ตอนนี้ บลจ.บางกอกแคปปิตอล (BCAP) บริษัทลูกของ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง ได้ออกแบบกองทุน เพื่อเหมาะอย่างยิ่งในการออมเพื่อเกษียณ โดยเปิดแบบ RMF ที่ทำให้นอกจากออมแล้วยังลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ชื่อกองว่า “BCAP Global Target Date RMF” โดยใช้หลักการตามที่ ผมเล่ามาข้างต้นจึงเหมาะและง่ายในการออมเพื่อเกษียณ โดยแบ่งเป็น 3 กอง คือ BCAP2030RMF, BCAP2040RMF และ BCAP2050RMF โดยตัวเลข คือ ปีค.ศ.ที่นักลงทุนจะเกษียณ ถ้าเป็น 2030 อีก 10 เกษียณจะมีสินทรัพย์มั่นคงมากหน่อย ส่วน 2050 อีก 30 ปีกว่าจะเกษียณ ก็จะมีสินทรัพย์เสี่ยงมากหน่อย ซึ่งทุกกองจะปรับสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงลงเรื่อย ๆ จนถึงปีที่เกษียณ และทั้งสินทรัพย์เสี่ยง และสินทรัพย์มั่นคง กระจายสินทรัพย์ลงทั่วโลกอย่างเหมาะสมจึงเป็นการวางเงินเพื่อเกษียณ ได้อย่างสบายใจ เกษียณแล้วเกษม