posttoday

ข้อคิดจากบทความนักวิชาการธนาคารกลางสู่ความจริงในเวลานี้

02 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 44/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ผู้เขียนต้องขอชื่นชมท่านที่เขียนบทความนี้แม้ว่าจะออกตัวว่ามิใช่ความเห็นขององค์กรที่ตนเองสังกัดแต่เป็นความเห็นของตนเองก็ตาม บทความนี้เป็นสารตั้งต้นให้ผู้เขียนคิดและลงมือเสนอเรื่องราวต่อจากสิ่งที่ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวไว้ว่าในโลกของภาคปฏิบัตินั้นน่าจะเกิดขึ้นอย่างไร และแน่นอนว่าสิ่งนั้นจะเกิดในปลายปี 2563 นี้แหละครับ

ท่านนักวิชาการและผู้บริหารของธนาคารกลางได้ระบุในบทความว่า.... Social banking  คือ บริการธนาคารออนไลน์บนแอปโซเชียลมีเดีย เป็นโมเดลธุรกิจที่ธนาคารจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมหาศาลความร่วมมือระหว่างธนาคารกับ Super App ชั้นนำที่มีทุกอย่างครบในแอปเดียว จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในระยะยาวให้ธนาคารจากการแชร์ข้อมูลกับพันธมิตร ทำให้ Social banking ให้บริการทางการเงินกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคารเพราะไม่มีบัญชีเงินฝาก หรือกู้ไม่ได้เพราะไม่มีเอกสารยืนยันรายได้เมื่อ Social banking มีข้อมูลใหม่ด้านอื่นมาเสริม ก็จะช่วยให้ธุรกิจนี้เสนอบริการทางการเงินต่างๆ ได้ถูกที่ ถูกเวลา ตรงความต้องการและศักยภาพของลูกค้าได้ดีขึ้น

ในปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคคุ้นเคยกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ใช้เวลาบนโลกโซเชียลนานขึ้นชอบความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมการเงินดิจิทัลได้ครบในแอปเดียว คนมีทางเลือกมากขึ้นจากบรรดาแพลตฟอร์มธุรกิจเทคโนโลยีที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ ธนาคารจึงต้องเร่งปรับตัวให้เข้าไปอยู่บน Super App ที่รวมทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าให้ใช้บริการการเงินได้ทุกที่ทุกเวลา

ธุรกิจแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ก็อาศัยจุดแข็งของธนาคารด้านบริการทางการเงินดิจิทัลเต็มรูปแบบและความไว้เนื้อเชื่อใจที่ลูกค้ามีให้กับธนาคารมาเสริมจุดแข็งของตัวเองที่เข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้งานบนเครือข่ายจำนวนมหาศาลและเก่งในการออกแบบแอปให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานให้ทำทุกอย่างได้ในแอปไม่ว่าจะเป็นการแช็ต-ช็อป-บันเทิง-สั่งอาหารส่งของ-เรียกรถไปจนถึงการโอน-ออม-ยืม-จ่ายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือไม่มีรายได้ประจำที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคารโดยจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานแอปแต่ละรายเชิงลึกเพื่อประมวลผลแบบปัญญาประดิษฐ์ทำให้รู้ถึงความเสี่ยงในการกู้เงินและการชำระคืนได้ง่าย...

ท่านผู้อ่านลองนึกตามผมนะครับ

1. SME รายจิ๋วคนหนึ่งเป็นสมาชิกใน Platform ขายของในขณะที่ตนเองยังศึกษาในปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยแต่มองเห็นโอาสในช่วงที่ธุรกิจบนออนไลน์กำลังมา จึงระดมทุนจากที่บ้าน เพื่อนฝูงมาดำเนินกิจการ แนวโน้มธุรกิจไปได้ดี เงินที่วิ่งเข้าวิ่งออกเป็น Wallet

2. ต่อมาก็มีข้อเสนอจาก Platform ว่าสนใจใช้บริการสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทไหมจากธนาคารแห่งหนึ่งเพราะระบบการวิเคราะห์ระบุว่าคนนี้ไปต่อได้แน่นอน

3. SME รายนี้สนใจและเข้าไปดำเนินการผ่าน App ของตัว Platform ซึ่งมีเมนูของธนาคารนั้นฝังอยู่ กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก็เกิดขึ้น SME รายนี้ไม่มีบัญชีกับธนาคาร เขาก็เพียงเดินไปเสียบบัตรประชาชน และให้ถ่ายภาพใบหน้าตัวเองที่ตู้เติมเงินของโทรศัพท์เคลื่อนที่ App ก็เตือนขึ้นมาว่าการพิสูจน์และยืนบันตัวตนเรียบร้อยแล้ว (KYC จบแล้ว)

4. SME รายนี้กรอกข้อมูลตามที่ App ต้องการ และดำเนินการให้ความยินยอมในการที่ธนาคารจะใช้ข้อมูลซื้อขายของตนเองที่ Platform ให้ความยินยอมให้เครดิตบูโรเปิดเผยข้อมูลเครดิต คะแนนเครดิต ยินยอมให้โน่นนี่จนครบ จากนั้นก็จะปรากฏข้อมูลสรุปก่อนกดคำสั่งส่งข้อมูลให้ธนาคาร

5. ไม่เกิน 15นาที ก็มี SMS เรียกเข้าว่าเงินกู้อนุมัติแล้ว ต้องการยืนยันให้โอนเงินกู้ที่ได้รับจากบัญชีที่เปิดใหม่ไปเข้า Wallet ของ Platform หรือไม่

6. เอกสารหนังสือสัญญาก็ปรากฏขึ้นในเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใน App หากยืนยันการลงนามให้ใส่ PIN ที่เป็นรหัสเข้า App และถ่ายภาพใบหน้าตัวเองอีกครั้งหนึ่งเพื่อการยืนยันว่ามีการตอบรับลงนามในสัญญาแล้ว

7. เงินที่ได้รับอนุมัติวิ่งไปเข้า Wallet ตามที่กำหนด มี SMS แจ้งยืนยันว่ามีการถอนเงินจากบัญชีที่เปิดไว้รับเงินกู้จากธนาคารนั้น เรียบร้อย

8. สิ้นเดือน SME รายนี้จะได้รับ statement รายงานการเคลื่อนไหวเงินเข้าออกใน Wallet เงินเข้าออกจากบัญชีเงินฝาก ซึ่งแสดงยอดการชำระหนี้ผ่านการหักอัตโนมัติตามข้อตกลงทุกประการ

9. ผ่านไปหกเดือน SME รายนี้ก็ไปยื่นเรื่องขอกู้เงินจากอีกธนาคารหนึ่งผ่านสาขา มีการเสียบบัตร ถ่ายภาพ และยืนยันว่าตนเองมีบัญชีเดินอยู่กับอีกธนาคารหนึ่ง ขอให้ธนาคารนั้นยืนยันว่าฉันคือคนๆ เดียวกัน กรอกข้อมูลลงในอุปกรณ์ของธนาคารที่สาขานั้นคล้ายๆกับธนาคารแห่งแรก ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ทางสาขาก็แจ้งว่าได้รับอนุมัติเบื้องต้น 100,000 บาท และขอให้จัดส่งเอกสารยืนยันเรื่องรายได้จากกรมสรรพากร (คัดแบบแสดงรายการที่เสียภาษี) มาเพื่อจัดทำกระบวนการอนุมัติขั้นตอนสุดท้าย ส่วนเงินกู้จะโอนเข้า Wallet ได้เลยโดยอาจไม่ต้องเปิดบัญชีเงินฝากแบบไม่มีสมุดกับธนาคารแห่งที่สองในภาษาทางเทคนิค Open super App + Loan application in supper App + eKYC by NDID platform + eConsent + Credit bureau report + Bureau score + Platform score + Internal bank score + eContract + eSignature + Money transfer to Wallet...

โลกเปลี่ยน คนต้องปรับ ธุรกิจต้องขยับ เพื่อความอยู่รอด.. ขอบคุณครับ