posttoday

ตลาดการเงินนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งสหรัฐฯ

02 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.10-31.50 นักลงทุนรอติดตามผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยช่วงที่ผ่านมา ตลาดการเงินเคลื่อนไหวตอบรับกับการคาดการณ์ว่าโจ ไบเดน จะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้ ดังนั้น ตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนสูงหากผลการเลือกตั้งผิดไปจากที่ตลาดคาด ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ตลาดรอติดตามการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐฯ และยูโรโซน ซึ่งมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการกลับมาระบาดรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ตลาดรอติดตามสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษอาจเพิ่มขนาดของมาตรการซื้อสินทรัพย์หลังเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสรอบใหม่

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอยู่ในกรอบ 31.10-31.40 ตลอดทั้งสัปดาห์ ในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดการเงินโลกปิดรับความเสี่ยง เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสและความไม่แน่นอนของมาตรการการคลังสหรัฐฯ ที่กระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของโลก ด้านยุโรป การระบาดของไวรัสรอบที่ 2 ที่รุนแรงขึ้นมาก ทำให้เยอรมนีประกาศปิดเมืองบางส่วน และฝรั่งเศสปิดเมืองทั้งประเทศ มาตรการควบคุมการระบาดดังกล่าว ส่งผลให้ในการประชุมนโยบายการเงินของยุโรป อีซีบีส่งสัญญาณว่าจะผ่อนคลายการเงินเพิ่มในเดือนธันวาคมนี้ โดยพิจารณาเครื่องมือทุกอย่างที่เป็นไปได้ สอดคล้องกับบีโอเจที่ลดคาดการณ์จีดีพีญี่ปุ่นลงมาที่ -5.5% ในปีนี้จาก -4.7% ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรอบใหม่ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และให้คำมั่นว่าพร้อมจะออกมาตรการเพิ่ม หากจำเป็น ด้านไทย บริษัท Fitch Rating คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) จากเสถียรภาพต่างประเทศที่แข็งแกร่ง แต่เป็นห่วงผลกระทบของความไม่แน่นอนทางการเมืองต่อเศรษฐกิจ ในช่วงปลายสัปดาห์เงินบาทแข็งค่าลงตามทิศทางของเงินหยวน เงินบาทปิดตลาดที่ 31.17 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ เคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน เริ่มจากต้นสัปดาห์อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงจากความไม่แน่นอนในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ แต่อย่างไรก็ดีในช่วงปลายสัปดาห์ตลาดสหรัฐได้รับปัจจัยสนับสนุนจากตัวเลขที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2563 ขยายตัว 33.1% และเป็นการขยายตัวสูงในรอบ 70 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 32% ส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯอายุ 10ปีปรับตัวขึ้นไปเทรดสูงกว่าระดับ 0.80% อีกครั้ง นอกจากนี้การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลได้รับแรงสนับสนุนจากการปิดโพซิชั่นการถือครองพันธบัตรรัฐบาลเพื่อลดความเสี่ยงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย. นี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนีอายุ 10ปี เคลื่อนไหวปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยสาเหตุหลักมาจากความกังวลของการกลับมาระบาดของไวรัสโควิค-19 ในยุโรปจนทำให้หลายประเทศต้องกลับมาปิดเมืองอีกครั้ง ขณะที่การประชุมอีซีบีมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ -0.50% และคงการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมเดือนตุลาคม แต่ชี้นำว่าจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม

สำหรับปัจจัยภายในประเทศผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าต้องติดตามการชุมนุมอย่างใกล้ชิด โดยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น คือความเชื่อมั่น การบริโภค การลงทุน และท่องเที่ยว พร้อมทั้งระบุว่า ธปท. ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการออกมาตรการเพิ่มเติม และนโยบายการคลังควรมีบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ นอกจากนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -7.7 ต่อปี ซึ่งหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อนในเดือนกรกฎาคมที่ -8.8% และสศค. คาดว่าจีดีพีจะกลับมาขยายตัวในปีหน้าที่ 4.5% จากการส่งออก การบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ สำหรับความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบใกล้เคียงกับระดับเดิมในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยในช่วงกลางสัปดาห์มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอ้างอิง 20ปี (LB426A) ตัวใหม่ซึ่งผลการประมูลมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 1.96% ซึ่งผลการประมูลถือว่าไม่ค่อยดีมากเท่าที่ควรสะท้อนผ่านช่วงผลการประมูลที่ 1.93-1.99% และ Bid coverage ratio ที่ 1.86 เท่า ทำให้ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.53% 0.59% 0.67% 0.87% 1.12% และ 1.41% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา credit spread ของหุ้นกู้ในกลุ่ม AAA ถึง A- ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 1-5 bps ขณะที่หุ้นกู้ในกลุ่ม BBB+ ลงไป credit spread กลับปรับตัวสูงขึ้น 1-9 bps

ตลาดการเงินนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งสหรัฐฯ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 3,109 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,041 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 388 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1,680 ล้านบาท