posttoday

“อำนาจ” จุดนิ่งที่เปลี่ยน

03 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ ผศ. ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคลศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิฒพัฒนบริหารศาสตร์www.econ.nida.ac.th; [email protected]

“สังคมปัจจุบันอยู่ยาก” ประเทศไทยเจอทั้งเรื่องฝุ่น เรื่องโรค เรื่องปากท้องซึ่งก็ว่าหนักหน่วงแล้ว เรื่องการเมืองไทยก็กลับมารัดตัวซ้ำเข้าไปอีก ครั้งนี้เพิ่มเติมด้วยประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์และการแตกแยกของความคิดระหว่างรุ่น เรียกว่าสุดฤทธิ์สุดเดชกันไปเลย

“สังคมติดป้าย” ในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนก็คงได้มีเวลามานั่งคิดตรึกตรองกับตัวเองแล้วละว่า จุดยืนทางการเมืองของตัวเองจริงๆ คืออะไร แล้วเราจะติดป้ายให้ตัวเอง ประกาศให้ทุกคนทราบดีมั้ยว่าเราคือฝ่ายไหน ซึ่งการประกาศจุดยืนทางการเมืองของแต่ละคนมีต้นทุนที่ต้องจ่ายไม่เท่ากัน (รายละเอียดย้อนอ่านได้จากบทความเรื่องเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยจุดยืนทางการเมืองโดย ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 27 ต.ค. 2563)

“ต้นทุนผมสูง” ยอมรับตรงๆ เลยว่า ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองตัวเองต่อสาธารณะอย่างชัดเจน แล้วกลุ่มคนอย่างผมที่ไม่ติดป้ายให้ตัวเอง ก็ย่อมจะมีคนเอาป้ายมาแปะให้โดยปราศจากการร้องขอ ใช่ครับ ผมกลายเป็นกลุ่มคนเพิกเฉย (Ignorance) ไปแล้วครับ “เงียบไม่เท่ากับเพิกเฉย” อันนี้ผมต้องขอทำความเข้าใจและรณรงค์ไว้ตรงนี้เลยนะครับ ว่าเราไม่ควรเหมารวมว่า คนเงียบเป็นคนเพิกเฉยถ้าเขาเหล่านั้นได้ไปใช้สิทธิใช้เสียงในการเลือกตั้งแล้ว แปลว่า เขาได้แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างสันติในระบอบประชาธิปไตยไปแล้ว จะมาหาว่าเพิกเฉยได้อย่างไร ดังนั้น ป้ายคนเพิกเฉยนี้ ผมขอไม่รับไว้นะครับ

“ว่าด้วยเรื่องอำนาจ” ไหนๆ ก็ประกาศตัวเองไปแล้วว่า ผมไม่ใช่คนเพิกเฉยทางการเมืองแล้ว ก็จะขอลองพยายามอธิบายเรื่องอำนาจในแบบฉบับนักเศรษฐศาสตร์ดูสักหน่อย ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทางวิชาการแบบบูรณาการโดยแท้ ไม่มีอคติหรือเจตจำนงค์ปลุกปั่นใดๆ ผิดถูกอย่างไรต้องขออภัยผู้รู้ทุกท่านไว้ล่วงหน้าด้วยครับ

“ทฤษฎีการเจริญเติบโต” ในทางมหเศรษฐศาสตร์ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นใหญ่และถูกศึกษาอย่างกว้างขวาง Robert Solow เป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญในสาขานี้ เขาได้ผู้กการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับกระบวนการสะสมทุน ยิ่งประเทศที่สะสมทุนได้มากและรวดเร็ว ประเทศก็จะมีการผลิตที่สูงและเศรษฐกิจก็จะเติบโตได้เร็ว ซึ่งการที่ทุนจะเพิ่มขึ้นได้นั้น ต้องเกิดจากการอดออมเพื่อเอามาลงทุน และการลงทุนที่เกิดขึ้นจะต้องมากกว่าการเสื่อมของทุน

“จุดนิ่ง” Solow ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจจะมีการสะสมทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในอัตราที่ช้าลง จนถึงจุดที่เหลือการลงทุนเท่ากับค่าเสื่อมเท่านั้นหรือที่เรียกว่าจุดนิ่ง เมื่อประเทศเข้าสู่จุดนิ่ง ประเทศจะหยุดเติบโตและคงระดับรายได้ในระดับนี้ตลอดไป

“เปรียบอำนาจดั่งทุน” ลองฉายภาพเรื่องอำนาจผ่านเลนส์ทฤษฎีของ Solow เปลี่ยนกระบวนการสะสมทุน เป็นกระบวนการสะสมอำนาจ อำนาจไม่สามารถโผล่มาจากความว่างเปล่า แต่มันมาจากอดออมและลงทุนทำคุณงามความดี หรือที่เราเรียกว่า การสร้างบารมี ถ้าใครอยากจะมีอำนาจ อยากจะให้บริวารยอมรับ เขาจะต้องลดการบริโภคของตัวเอง ยอมละความสบายในระยะสั้นของตัวเอง เพื่อลงทุนสะสมบารมีให้มากกว่าการเสื่อมถอยของอำนาจ ยิ่งอดออมเพื่อลงทุนมาก อำนาจก็จะเจริญเติบโตรวดเร็ว และเมื่อถึงจุดนิ่ง เขาคนนี้ก็จะมีอำนาจในระดับสูงอย่างยืนยงและยาวนานตราบเท่าที่ไม่มีปัจจัยอะไรเปลี่ยนแปลง

“เหตุแห่งการเสื่อม” แล้วอะไรจะทำให้อำนาจมหาศาล ณ จุดนิ่ง เสื่อมลงไปได้? ในแบบจำลองของ Solow ได้ระบุไว้หลักๆ สองประการด้วยกันได้แก่ หนึ่ง การออมที่ลดลง ถ้าผู้มีอำนาจหันมาบริโภคมากขึ้น ไม่หมั่นอดออมเพื่อการลงทุนเสริมสร้างบารมีเหมือนอย่างเก่า นั่นแปลว่าการลงทุนจะน้อยกว่าการเสื่อมของอำนาจ ทำให้จุดนิ่งลดลงมาในระดับอำนาจที่ต่ำกว่าเดิม สอง อัตราการเพิ่มขึ้นของบริวารที่มีประสิทธิภาพ การที่เราจะปกครองเหนือบริวารจำนวนมากย่อมต้องการปริมาณอำนาจที่สะสมมาอย่างมาก ถ้ามีจำนวนบริวารมากขึ้น อำนาจจะถูกแบ่งออกไปปกครองบริวารแต่ละคนมากขึ้น และยิ่งถ้าบริวารแต่ละคนเป็นผู้มีความรู้ เป็นผู้มีประสิทธิภาพ อำนาจก็ยิ่งต้องถูกกระจายออกไปในทุกหน่วยประสิทธิภาพของบริวารแต่ละคน เมื่อเป็นเช่นนี้ อัตราการเสื่อมของอำนาจก็จะสูงขึ้น จุดนิ่งของอำนาจก็จะลดลง

“สังคมผู้สูงอายุปะทะเทคโนโลยี” ในประเทศมุ่งสังคมผู้สูงอายุเนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำ การเสื่อมอำนาจจากการเพิ่มขึ้นของบริวารจะช้าลง ซึ่งควรจะส่งเสริมการสะสมอำนาจให้สูงขึ้น ถ้าไม่ใช่เพราะการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ทำให้ระดับความรู้และประสิทธิภาพของบริวารแต่ละคนเพิ่มทวีแบบรวดเร็วทะลุปรอท จึงเป็นการยากที่จะรักษาระดับอำนาจในระดับเดิมไว้ได้ ถึงแม้จะใช้กำลังมาดึงมารั้งอย่างไร สุดท้ายอำนาจก็ต้องลดน้อยลงมุ่งเข้าสู่จุดนิ่งใหม่อยู่ดี

“การเปลี่ยนแปลง” อำนาจเรืองรองได้ก็เสื่อมได้ แต่ไม่ได้แปลว่าอำนาจจะหายไปตราบที่ยังมีการออมเพื่อการลงทุนอยู่ แค่ปรับเปลี่ยนระดับไปตามปัจจัยปัจจุบันเท่านั้น จะปรับเปลี่ยนไปแค่ไหนอย่างไรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจตามความชอบ ถ้ารักที่จะมีอำนาจสูง ก็จะต้องเว้นความสุขระยะสั้นแล้วมุ่งลงทุนสั่งสมบารมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้ารักที่จะบริโภค ก็ต้องแลกมาด้วยอำนาจที่ลดลงในระยะยาว พร้อมกับยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วและที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป เพราะว่าจุดนิ่งมันไม่ได้อยู่ที่เดิมอีกต่อไปแล้ว