posttoday

ติดตามการการเมืองต่างประเทศสัปดาห์นี้

28 กันยายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทองมนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.30-31.80 โดยเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่ต้องติดตามสัปดาห์นี้มาจากทั้งประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยการโต้วาทีระหว่างผู้สมัตรนายโจ ไบเดน และโดนัล ทรัมป์จะเกิดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปในวันที่ 2 ตุลาคม ซึ่งด้านประเด็น Brexit ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อค่าเงินปอนด์ที่สำคัญจากการเจรจารอบสุดท้ายระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรในวันจันทร์ก่อนจะถึงกำหนดวันที่สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากความสัมพันธ์ทางการค้าเดิมกับสหภาพยุโรป ด้านนโยบายการเงินประธานอีซีบี นางลาการ์ดมีกำหนดให้การต่อหน้าสภายุโรปเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน และติดตามการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ และอินเดียที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจ ติดตามการจ้างานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ และสำหรับไทย ธปท. จะรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมและดุลบัญชีเดินสะพัด

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่ามากในสัปดาห์นี้ โดยเปิดตลาดที่ 30.95 และอ่อนค่าลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับค่าเงินเอเชียสกุลอื่น เนื่องจากนักลงทุนเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ตามความกังวลต่อการรั่วไหลของข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารทั่วโลกที่ผิดปกติ ทำให้นักลงทุนกลับเข้าถือครองเงินดอลลาร์ ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงมาก นอกจากนี้ ตลาดยังมองว่ามาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เร็วๆ นี้มีโอกาสน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อมีการขัดแย้งทางการเมืองในการสรรหาตุลากรศาลสูงคนใหม่มาแทนคุณรูธ กินสเบิร์ก ที่เสียชีวิต และใกล้วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลกฟื้นตัวช้า ขณะที่หลายประเทศในยุโรปรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสที่พุ่งขึ้นสูงต่อเนื่อง ด้านนายโพเวล ประธานเฟดแถลงต่อคณะกรรมการบริการทางการเงินของสภาผู้แทนราษฎรว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูงและต้องใช้เวลานานกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้การใช้นโยบายการคลังมีความจำเป็น โดยเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนที่ 31.70

ด้านการประชุมนโยบายการเงินของไทย กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ตามที่ตลาดคาด โดยประเมินว่ามาตรการภาครัฐคือปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก โดยมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นปัจจัยเสริม ขณะที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นมาที่ -7.8% จากประมาณการเดิมที่ -8.1% ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์หลังจากดัชนีค่าเงินดอลลาร์กลับมาเคลื่อนไหวทรงตัว เนื่องจากความเชื่อมั่นของตลาดดีขึ้นเล็กน้อยจากความหวังของนักลงทุนต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ภายหลังนายสตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่าพร้อมที่จะเจรจากับพรรคเดโมแครตเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินบาทปิดตลาดที่ 31.59 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10ปี เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 0.65-0.70% ซึ่งระหว่างสัปดาห์มีถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินสหรัฐฯ ว่าการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงต่ำกว่าระดับก่อนหน้าวิกฤติ โดยมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงและจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐเพิ่มเติม สอดคล้องกับความเห็นของคุณอีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก ที่กล่าวว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะรุนแรงหากไร้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาครัฐ ซึ่งในช่วงปลายสัปดาห์เริ่มมีข่าวเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรส อย่างไรก็ดีการเจรจายังคงมีความไม่แน่นอนในเรื่องของเม็ดเงินของมาตรการ โดยฝั่งเดโมแครตเสนอเม็ดเงินที่ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ฝั่งรีพับลิกันยอมรับได้ที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนักลงทุนคงต้องติดตามประเด็นดังกล่าวว่าท้ายสุดแล้วข้อสรุปของมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจจะออกมาในรูปแบบไหนและจะส่งผลให้ตลาดกลับมาสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่การประกาศตัวเลขยอดการขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 870,000 รายเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่ 866,000 ราย และสู้กว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 840,000 ราย ถึงแม้ตัวเลขจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับช่วงการระบาดรุนแรง

ขณะที่ประเด็นสำคัญในประเทศอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด โดยประเมินว่ามาตรการภาครัฐคือปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก โดยมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นปัจจัยเสริม พร้อมกันนี้ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นมาที่ -7.8% จากประมาณการเดิมที่ -8.1% ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองที่ผ่านมา ทำให้การใช้จ่ายในประเทศมีสัญญาณดีขึ้น ประกอบกับมองว่าภาครัฐจะเร่งการลงทุนขึ้นมาขยายตัวที่ 8.8% (จาก 5.8%) จึงช่วยชดเชยรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มหดตัวรุนแรงขึ้นได้ ขณะที่ตัวเลขการส่งออกไทยตามระบบศุลกากรหดตัว 7.94%YoY ในเดือนสิงหาคม จากการหดตัวทุกหมวดสินค้าหลัก ยกเว้นทองคำที่ยังคงขยายตัวสูง (71.5%YoY) หากไม่รวมทองคำ การส่งออกไทยหดตัว 14.26%YoY ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่วนทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยแทบไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับระดับปิดในสัปดาห์ก่อนหน้า มีเพียงพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปี เท่านั้นที่ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากผลการประมูลพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 3 ปี ที่ออกมาไม่ดีนัก ประกอบกับข่าวที่ทางกระทรวงการคลังจะมีการออกพันธบัตร benchmark อายุ 3ปีตัวใหม่ จึงเป็นแรงกดดันให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุ 3ปีปรับตัวสูงขึ้น โดย ณ วันที่ 25 กันยายน 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.51% 0.58% 0.66% 0.86% 1.08% และ 1.39% ตามลำดับ

ติดตามการการเมืองต่างประเทศสัปดาห์นี้

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน รวมมูลค่าสุทธิประมาณ 7,195 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 399 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 8,569 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 975 ล้านบาท