posttoday

อันดับเครดิต (Credit Rating) เรื่องต้องรู้ก่อนลงทุนตราสารหนี้

20 สิงหาคม 2563

?คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPTศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

ถ้ามีใครสักคนมาขอยืมเงินเรา และเรามีเงินเหลือมากพอที่จะให้ยืม สิ่งแรกที่เราต้องพิจารณาก่อนให้ยืมเงินนั้นก็คือ เรามีโอกาสถูกเบี้ยวหนี้มากน้อยเพียงใด อย่างเช่น เรามีเพื่อนอยู่ 2 คน คนแรก นาย ก. มีฐานะมั่นคง มีรายได้สม่ำเสมอ ต้องการนำเงินไปขยายธุรกิจ กับ นาย ข. ซึ่งมีรายได้ไม่สม่ำเสมอและมาขอยืมเงินโดยไม่บอกเหตุผล แถมยังเคยมีประวัติยืมเงินเราแล้วคืนช้าอีก หากพิจารณาจากปัจจัยข้างต้น การให้ นาย ก. ยืมเงินน่าจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าให้ นาย ข. ดังนั้นถ้าเราจะให้นาย ข. ยืมเงินจริง ๆ เราคงต้องขอคิดดอกเบี้ยมากกว่า นาย ก. สักหน่อย เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เราต้องแบกรับไว้

การให้ใครสักคนยืมเงินแล้วเราได้ดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน ก็เปรียบเสมือนการที่ผู้ลงทุนนำเงินไปให้องค์กรหรือบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ยืมเงิน ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้ (Issuer) มีหน้าที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดสัญญาให้กับนักลงทุนผู้ถือตราสารหนี้ (Investor) ดังนั้นก่อนผู้ลงทุนจะตัดสินใจให้องค์กรหรือบริษัทไหนกู้ยืมเงินเราไปใช้ ควรพิจารณาอันดับเครดิตกันก่อนนะครับ

อันดับเครดิต หรือ Credit Rating คืออะไร

สิ่งที่จะทำให้ผู้ลงทุนรู้ว่าตราสารหนี้นั้น ๆ มีโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ (Default) มากน้อยเพียงใด ก็คือการดูจากอันดับความน่าเชื่อถือหรืออันดับเครดิต ซึ่งเป็นการประเมินความน่าเชื่อถือของทั้งตัวองค์กรที่เป็นผู้ออกตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชนต่าง ๆ และเป็นการประเมินความน่าเชื่อถือในระดับของตราสารหนี้แต่ละตัวที่องค์กรนั้น ๆ ได้ออกมาเสนอขายให้กับผู้ลงทุน โดยจะมีการประเมินจาก สถาบันจัดอันดับเครดิต (Credit Rating Agency) โดยบริษัทจัดอันดับเครดิตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล 3 บริษัท ได้แก่ Standard and Poor’s (S&P) / Moody’s / Fitch ส่วนในประเทศไทยนั้นจะมี ทริสเรทติ้งและฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ซึ่งสถาบันเหล่านี้ทำหน้าที่ให้บริการจัดอันดับเครดิตโดยพิจารณาจากภาพรวมลักษณะธุรกิจ ปัจจัยหลักต่าง ๆ ที่มีผลต่อผลประกอบการ ความสามารถในการแข่งขันทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของธุรกิจ มีการพิจารณาข้อมูลด้านการเงินจากงบการเงินของบริษัท แผนงบประมาณต่าง ๆ รวมไปถึงระดับหนี้และโครงสร้างเงินทุนของบริษัท

อันดับเครดิตบอกอะไรเราบ้าง

สำหรับอันดับเครดิตของตราสารหนี้ระยะสั้น จะมีตั้งแต่ T1 หรือ F1+ (อาจแตกต่างกันไปในแต่ละสถาบันจัดอันดับเครดิต) ลงไปจนต่ำสุดถึงระดับ D ส่วนอันดับเครดิตของตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปจะถูกตัดเกรดแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มน่าลงทุน (Investment Grade) จะมีอันดับเครดิต AAA ลงไปถึง BBB- และกลุ่มเก็งกำไร (Speculative Grade) เริ่มต้นตั้งแต่อันดับ BB+ ลงไปจนถึง D โดยตราสารหนี้ที่อันดับเครดิตยิ่งสูง (AAA) จะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ซึ่งตามทฤษฎีการเงินแล้วตราสารหนี้ประเภท พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) จะถือว่าเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk-Free Asset) เพราะว่ารัฐบาลมีความน่าเชื่อถือมีความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีอำนาจ (Authority) ในการจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้หนี้คืนนั่นเอง ส่วนตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชนหรือที่เรียกว่าหุ้นกู้นั้น จะมีความเสี่ยงสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้นหุ้นกู้ภาคเอกชนจึงต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ลงทุนในอัตราที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลจึงจะเป็นที่สนใจของนักลงทุน

แนวทางการเลือกลงทุนตราสารหนี้

1.) สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปแล้วแนะนำว่าควรเลือกลงทุนตราสารหนี้ที่อยู่ในระดับ Investment Grade ซึ่งจะมีความปลอดภัย เป็นการหลีกเลี่ยงโอกาสการสูญเสียเงินต้น หลีกเลี่ยงโอกาสที่จะได้ผลประโยชน์ไม่ครบตามจำนวนหรือระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามสัญญา

2.) ผู้ลงทุนพึงระลึกว่าการซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตรโดยตรงนั้น มีความเสี่ยงสภาพคล่อง (Liquidity Risk) เนื่องจากตลาดรองของตราสารหนี้นั้นมีผู้ซื้อขายน้อยราย เมื่อผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนตราสารหนี้ไปแล้ว มักต้องถือครองตราสารจนครบกำหนดไถ่ถอน ดังนั้นผู้ลงทุนรายย่อยควรพิจารณาเลือกอายุตราสารหนี้ให้เหมาะกับระยะเวลาที่ต้องการใช้เงินในอนาคต

สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนแบบมีสภาพคล่อง อาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งมีทั้งประเภทกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) ที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ รวมถึงหุ้นกู้ภาคเอกชน อีกทั้งยังมีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศให้เลือกอีกด้วย ข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้นั้นคือมีผู้จัดการกองทุนบริหารเงินลงทุน บริหารความเสี่ยงให้กับเรา คอยติดตามสถานะตราสารที่เข้าไปลงทุน โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนที่มีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของตนเอง ส่วนข้อมูลรายละเอียด ค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขต่าง ๆ สามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

ทั้งนี้ในส่วนการลงทุนของ กบข. ซึ่งบริหารเงินลงทุนให้กับสมาชิกกว่า 1.1 ล้านราย มีนโยบายการลงทุนคัดเลือกตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูง โดยเลือกตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับ Investment Grade เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับสมาชิก