posttoday

จับตาหุ้น Value Stocks และ EM อาจกลับมา Outperform ตลาด

17 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ Global Investment Advisory โดย...โดย คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

ตลาดหุ้นยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับขนาดเศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรงทั่วโลก ทำให้ Valuation ของตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่แพงมากเมื่อเทียบกับในอดีต ประกอบกับการพุ่งขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Technology ที่นำตลาดจนทำให้หลายคนนึกย้อนไปถึงฟองสบู่ Dot-com ในช่วงปี 2000

เรามองว่าฟองสบู่ในปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นร้ายแรงเท่าฟองสบู่ Dot-com ในปี 2000 เนื่องจาก 1) ค่า Fwd P/E ของกลุ่มเทคโนโลยี (Info. Tech.) ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 28 เท่า แต่ยังต่ำกว่าจุดสูงสุดที่ 55 เท่าในช่วงวิกฤต Dot-com เป็นอย่างมาก และ 2) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดในปัจจุบันยังช้ากว่าในช่วงวิกฤต Dot-com ทั้งดัชนี S&P500 และ S&P500 Info. Tech. โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 220% ต่ำกว่า 330% ในวิกฤต Dot-com และดัชนี S&P500 Info. Tech. เพิ่มขึ้น 550% น้อยกว่า 1,300% ในช่วงวิกฤต Dot-com เป็นอย่างมาก

การฟื้นตัวของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ถูกขับเคลื่อนจากนโยบายการเงินเป็นหลัก (Easing Mode) ซึ่งสังเกตได้จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการลดลงของ Bond Yield ตามการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เช่น การลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางในภาวะ Easing Mode นั้น หุ้นในกลุ่มที่มีกำไรเติบโตสูง (Growth Stocks) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นในกลุ่ม Technology และ Healthcare มักปรับตัวขึ้นมากกว่าหุ้นที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ (Value Stocks) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นในกลุ่มธนาคารในภาวะ Easing Mode

ปัจจัยหลักที่ทำให้หุ้น Growth ให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้น Value นั้น นอกจากจะมาจากการเติบโตของกำไรที่สูงที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันราคาหุ้นแล้ว ยังมาจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งตามหลักการการคำนวณมูลค่าโดย Discounted Cash Flow (DCF) การลดลงของดอกเบี้ยจะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่ม Growth ที่มีการเติบโตของกระแสเงินสดในอนาคตสูง เนื่องจากอัตราคิดลดที่ลดลงจะส่งผลให้กระแสเงินสดในอนาคตมีมูลค่าสูงขึ้นนั่นเอง

หรือกล่าวโดยสรุปง่ายๆ ก็คือหุ้นในกลุ่ม Growth คือหุ้นที่นักลงทุนมองถึงการเติบโตของกำไรในระยะยาว ซึ่งไม่ถูกกระทบมากนักจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้น การลดลงของดอกเบี้ยซึ่งทำให้มูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ของกระแสเงินสดในอนาคตเพิ่มขึ้น จึงทำให้หุ้นในกลุ่ม Growth มีราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ดอกเบี้ยเป็นขาลงมาตลอดนั่นเอง

แต่ข่าวการค้นพบวัคซีนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หุ้นในกลุ่ม Value กลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนมากขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลให้ Bond Yield กลับมาเพิ่มขึ้น และทำให้ตลาดเปลี่ยนผ่านไปสู่ Reflation Mode (ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อน และ Bond Yield ขึ้น)

โดยในภาวะ Reflation Mode ตลาดหุ้นยังมักให้ผลตอบแทนสูงต่อเนื่อง แต่กลุ่มที่นำตลาดหุ้นขึ้นจะกลายมาเป็นหุ้นในกลุ่ม Value Stocks ที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ (PBV ต่ำ เช่น หุ้นในกลุ่มธนาคาร) และหุ้นในกลุ่มที่กำไรแปรผันตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ เช่น หุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (EM) โดยหุ้นเหล่านี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของกำไรระยะสั้นตามการฟื้นตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจ

เราแนะนำให้จับตาการเคลื่อนไหวของ Bond Yield อย่างใกล้ชิด หากยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนอาจพิจารณาปรับพอร์ตเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่ม Value Stocks และกลุ่ม EM มากขึ้น