posttoday

ข้อเสนอนายธนาคารกลางที่เอาลูกหนี้มาอยู่ในสมการแก้หนี้(ตอนที่ 1)

17 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 33/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร

สืบเนื่องจากแนวทางในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลหลังมีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจที่ได้มีการเผยแพร่ตามสื่อมวลชน โฟกัสเฉพาะในส่วนของการเร่งแก้ไขปัญหาการทำมาหากินและการจัดการภาระหนี้สินในระยะเร่งด่วนเนื่องเพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจวันนี้ต้องบอกว่าอยู่ในอาการ

(1) ขายของไม่ดี

(2) ไม่มีกำไร

(3) ใช้หนี้ไม่ทัน

พิจารณาจากแถลงการณ์ของท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563? ใจความสำคัญที่ว่า ... ผมขอเริ่มต้นด้วยการบอกว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่ จะไม่หายไปได้ในเร็ววัน พวกเราต้องอยู่บนโลกของความเป็นจริง ในเมื่อผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก ต่างคาดการณ์ว่า ทุกคนคงจะต้องทนทุกข์กับวิกฤตินี้ ไปจนถึงปลายปีหน้า

เมื่อทั้งโลกต้องเจ็บหนักกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายกว่าครั้งไหน ประเทศไทยก็ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสนี้ด้วยเพราะเศรษฐกิจไทย เชื่อมอยู่กับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เราพึ่งพานักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และเราทำการค้าขายกับทั่วทุกมุมโลก เมื่อเราอยู่ในพายุวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังโหมกระหน่ำ เราเองก็ไม่สามารถหนีไปไหนได้ ซึ่งดูแล้วว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ ก็ต่อเมื่อประเทศอื่นๆ ในโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติด้วย

แนวทางที่ท่านนายกรัฐมนตรีมอบให้แก่รัฐมนตรีมี 5 อย่าง ที่ต้องทำเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนคนไทยคือ

งานที่ 1: เราต้องเยียวยาความเจ็บปวดที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ต่อไปอีกโดยเฉพาะกลุ่ม SME และประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องตกงานในช่วงที่ผ่านมา

งานที่ 2: เราต้องแก้ปัญหาต่างๆ ในแนวทางที่จะช่วยประเทศ อย่างยั่งยืน โดยต้องตระหนักอยู่เสมอว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน ซึ่งผมรู้ดีว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เงินเยียวยากันไปตลอดดังนั้นเราต้องเริ่มทำโครงการที่จริงจัง ทำให้ได้ ที่จะช่วยแก้ปัญหาปัจจุบัน นอกจากนั้น ต้องเตรียมการที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้ได้อย่างยั่งยืน เมื่อโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราต้องทำโครงการที่ถูกต้อง ตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ และเราจะต้องใช้เงินที่มีอยู่อย่างเหมาะสม และให้ความช่วยเหลือไปถึงคนที่ต้องการจริงๆ โดยใช้กลไก โครงสร้าง คณะกรรมการ และศูนย์บริหารสถานการณ์ที่มีการทำงานบูรณาการกัน ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

งานที่ 3: เราต้องสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจต่างๆ ยังคงการจ้างงานลูกจ้างของเขาต่อไป และให้ธุรกิจต่างๆ ใช้ช่วงเวลานี้พลิกองค์กรของตัวเองให้กลายเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น

งานที่ 4: เราต้องมีแผนเรื่องการจ้างงานคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจบใหม่จำนวนมากกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน พวกเขาาจำเป็นต้องมีงานทำ

งานที่ 5: คือ งานที่เกี่ยวกับการทำงานต่างๆ เหล่านี้ จะต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกคนในสังคมมีบทบาทหน้าที่ ที่จะช่วยกันนำพาประเทศ ก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปให้ได้

ผมได้มีโอกาสรับฟังและเห็นความตั้งใจของนักเรียนทุนธนาคารกลาง ที่ทำงานแบบติดดิน ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน ด้วยวิธีการคุยกับคนที่เดือดร้อน ฟังคนที่มีปัญหา เอาผู้คนที่เป็นหนี้มาเป็นศูนย์กลาง ไม่คิดเองเออเอง แต่ใช้การฟังความรอบด้าน ไม่เริ่มต้นการคิดด้วยการเลือกเครื่องมือก่อนเหมือนแบบแผนที่ทำๆกันมา เขามีข้อเสนอที่น่าสนใจควรแก่การนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ครับ

... การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว

ปัจจุบันคนไทยที่เป็นมนุษย์เงินเดือน พอเงินเดือนออกและหักเงินจ่ายเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ ส่วนที่เหลือสำหรับจับจ่ายใช้สอยเหลือน้อยจนแทบไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เงินเดือนออกไม่กี่วัน สังเกตดูไปไหนก็จะเงียบเหงา แม้แต่ในกรุงเทพฯ ช่วงกลางคืนไม่ต่างจากเมืองร้าง ก็เพราะเงินหมด ดังนั้น ถ้าสามารถทำให้เจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ เป็นธรรมมากขึ้น เรียกเก็บหนี้ในลักษณะผ่อนปรนให้ประชาชนมีเงินเหลือพอจะใช้ดำรงชีพ ก็เท่าเอากำลังซื้อบางส่วนกลับไปให้ประชาชน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเดือดร้อนยังถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุดที่ไม่ต้องใช้งบประมาณแม้สักบาทเดียว

ในด้านหนึ่ง วิกฤติโควิด-19 ทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่แย่อยู่แล้วทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก แต่ในขาวมีดำ ในดำมีขาว ท่ามกลางวิกฤติก็ยังมีโอกาส เพราะทุกภาคส่วนตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาร่วมของคนไทยที่ต้องช่วยกันแก้ไข

หลักการที่ต้องยึดถือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน

ประการแรก : รายได้ของลูกหนี้ในแต่ละเดือนหลังจากใช้หนี้เจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ แล้วต้องมีเงินเหลือพอที่จะดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี

ประการที่สอง : เจ้าหนี้กลุ่มต่างๆจะยังได้รับชำระหนี้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่จะผ่อนปรนและเป็นธรรม(ย้ำว่าต้องเป็นธรรม) มากขึ้น

ประการที่สาม : มาตรการประกอบด้วยการเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้น การสร้างวินัยและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จำเป็นในระยะยาว

วิธีคิดที่สำคัญคือ (1) กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก ในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ไม่ว่าจะหนี้อะไร คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ปัญหาหนี้สินนั้นเกิดจากลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาที่ได้เคยตกลงกับเจ้าหนี้และมักจะด่วนสรุปว่าลูกหนี้นั้นแหละคือต้นตอของปัญหา โดยอาจจะไม่ได้ตระหนักว่าการที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยทำสัญญากันไว้นั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวอาจจะไม่เป็นธรรม หรือเป็นข้อตกลงที่เจ้าหนี้เป็นผู้กำหนดขึ้นมาแทบทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะเป็นข้อตกลงในลักษณะที่เอาเปรียบ หรือข้อตกลงในลักษณะที่ไม่มีทางที่ลูกหนี้จะปฏิบัติได้ แต่ลูกหนี้ต้องยอมรับในสัญญาดังกล่าว เพราะไม่มีทางเลือก

การอนุมานว่าปัจจัยความบกพร่องของลูกหนี้ เช่น ความไม่มีวินัย การใช้จ่ายเกินตัว ฟุ้งเฟ้อ หน้าใหญ่ไม่ประหยัดมัธยัสถ์ เป็นปัจจัยรากฐานที่ทำให้คนมีหนี้ และทำให้ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาหนี้สินมีลักษณะที่ว่าแก้เท่าไรก็ไม่หายสักที ไม่มีความคืบหน้าที่จับต้องได้ชัดเจน ถ้าเราเริ่มกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดตำแหน่งก็จะทำให้ตำแหน่งของกระดุมเม็ดต่อๆ ไปติดผิดไปด้วย ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเริ่มตั้งโจทย์จากมองว่าต้นตอของปัญหามาจากปัจจัยฝั่งของลูกหนี้แต่อย่างเดียว ก็จะทำให้พลาดโอกาสที่จะมองเห็น“ความเป็นไปได้ในมุมอื่น” ที่แท้จริงอาจเป็นปัจจัยรากฐานที่สร้างปัญหา เช่น การแข่งขันกันของเจ้าหนี้ในการปล่อยกู้ การไม่มีระบบข้อมูลกลางที่บูรณาการที่จะสามารถบอกได้ว่าลูกหนี้แต่ละคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง มีหนี้สินทั้งหมดเท่าไรกันแน่ คนให้กู้ก็จะประเมินภาพรวมหนี้น้อยกว่าความเป็นจริงถ้าเอาเรื่องธุรกิจเป็นตัวตั้ง

ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ทุกรายเรียกเก็บหนี้ในแต่ละเดือนพร้อมกัน อาการจึงเริ่มสำแดงให้เห็นว่า เงินเดือน/รายได้ทั้งหมดเมื่อหักจ่ายเจ้าหนี้ครบทุกรายแล้ว ส่วนที่เหลือถึงลูกหนี้จริงๆนั้นมีเงินเหลือสุทธิน้อยกว่า 30% คือถ้าเงินเดือน 30,000 ก็จะเหลือน้อยกว่า 9,000 บาท คิดเป็นรายได้แค่วันละ 300 บาท ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเงินเดือน/รายได้ที่เหลือไม่พอที่จะใช้ดำรงชีพทันที

โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ...