posttoday

จีดีพีไทยคาดว่าจะหดตัวรุนแรงในไตรมาสที่สอง

17 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทองมนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 30.80-31.20 นักลงทุนรอติดตามความคืบหน้าการพิจารณาออกมาตรการทางการคลังฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ประกอบกับการทบทวนข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ-จีนระยะที่ 1 จะส่งผลให้ตลาดเคลื่อนไหวผันผวน ด้านประเด็น Brexit สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะกลับมาเจรจากันเป็นรอบที่ 6 ในสัปดาห์นี้ในประเด็นการค้าอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินปอนด์ ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจ รายงานจีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มกดดันค่าเงินบาท จากแนวโน้มการหดตัวรุนแรงของเศรษฐกิจเป็นตัวเลขสองหลักจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ด้านนโยบายการเงินติดตามบันทึกจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งการตัดสินดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.00 -31.20 เงินบาทเคลื่อนไหวตามปัจจัยของตลาดการเงินโลกเป็นหลัก ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า คือ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนรุนแรงขึ้น เมื่อสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของจีนและฮ่องกงรวม 11 คนซึ่งมีส่วนในการบ่อนทำลายความเป็นเอกราชของฮ่องกงและจำกัดเสรีภาพของประชาชนชาวฮ่องกง หนึ่งในจำนวนนี้มีแครี่ แลม ผู้นำของฮ่องกงด้วย ความเคลื่อนไหวดังกล่าวต่อเนื่องจากที่สหรัฐฯห้ามชาวอเมริกันใช้แอปพลิเคชัน WeChat และ TikTok ตั้งแต่กลางเดือนหน้า และยังเตรียมออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อถอนการจดทะเบียนซื้อขายหุ้นของบริษัทจีนในตลาดสหรัฐฯ หากไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบบัญชีภายในมกราคม 2022 ทำให้รัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จำนวน 11 รายเช่นกัน ขณะที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าจากปัจจัยสนับสนุนเงินดอลลาร์ที่อ่อนแอ คือ พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันยังไม่สามารถเจรจาเพื่อหาข้อตกลงประเด็นมาตรการการคลังฉบับใหม่ได้ จนทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องลงนามใช้อำนาจพิเศษฝ่ายบริหารอนุมัติเพื่อให้เงินช่วยเหลือผู้ว่างงานรายละ 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ จากมาตรการเดิมที่ 600 ดอลลลาร์ต่อสัปดาห์ซึ่งหมดลงไปแล้งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม และนักลงทุนรอติดตามการประชุมสหรัฐฯ-จีนเพื่อทบทวนข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 1 ในช่วงวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ตลาดคาดว่าจีนจะหยิบยกประเด็นการคว่ำบาตร TikTok และ WeChat มาเจรจา รวมทั้งการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่น้อยกว่าที่ตกลงไปมาก ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ 31.10 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนกลับมาอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจัยหลักมาจากการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดี ทั้งตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดในเดือนกรกฎาคมที่ 0.59%MoM ซึ่งตลาดคาดไว้ที่ 0.33%MoM โดยดัชนีราคาผู้บริโภคได้รับแรงสนับสนุนจากราคาพลังงานและราคาสินค้าพื้นฐานที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ ใหม่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 ล้านรายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยตัวเลขอยู่ที่ 963,000 ราย จาก 1.2 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้า และน้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 1.1 ล้านราย นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่เพิ่มสูงขึ้นในการประมูลพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ และการระดมทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก และเป็นการปรับตัวโดยที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันสูงขึ้น (Bear Steepened) ส่งผลให้ ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.50% 0.47% 0.59% 0.86% 1.08% และ 1.37% ตามลำดับ ทั้งนี้นักลงทุนคงต้องติดตามการประกาศตัวเลขจีดีพีของไทยไตรมาสที่2 ที่จะประกาศในวันที่ 17 ส.ค. 63 โดยจากผลสำรวจในรอยเตอร์คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัว 13.3% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบแบบรายปี และหดตัว 11.4% หากเทียบแบบรายไตรมาส ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดในสัปดาห์นี้

จีดีพีไทยคาดว่าจะหดตัวรุนแรงในไตรมาสที่สอง

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 1,610 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 401 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,011 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 198 ล้านบาท