posttoday

ในสงครามต้องมีผู้กล้าที่ยอมสละชีพ (ตอนจบ)

20 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง โดย...วรวรรณ ธาราภูมิประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด

คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ท่านสรุปผลการประชุมทางไกล 90 คน ของนักวิเคราะห์อนาคต นักออกแบบ นักเทคโนโลยี ผู้ออกแบบนโยบายสาธารณะหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ที่สำรวจประเมินด้วยซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดย MIT จนรวมความคิดเห็นมาได้ว่า ถ้า COVID-19 ต้องอยู่กับสังคมโลกไปแบบยาวข้ามปี..จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมฝรั่ง (สังคมไทยก็น่าจะไม่หนีกันเท่าไหร่) … ท่านระบุว่า

1. เลือกที่จะปล่อยกลไกตลาดให้มันจัดตัวเองไป

ฝรั่งตั้งชื่อแบบจำลองแรกนี้ว่า "Piramid" ซึ่งมีผู้อยู่บนยอดปิรามิดน้อยราย มีฐานไล่ลำดับทับเรียงเอาเปรียบกันลงมาเรื่อยๆ จนถึงข้างล่างสุด

นั่นคือ กลุ่มผู้มั่งมีจะเข้าช้อนซื้อสินทรัพย์จากผู้เดือดร้อนในราคาถูกๆ … ถ่างความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิมให้หนักขึ้นไปอีก

ผลของมันคือ อีกไม่นาน สังคมที่ถูกเอาเปรียบจะหา "แพะมารับบาป" เพราะความโกรธ

กลุ่มการเมืองในสังคมฝรั่งจะผุดกลุ่มใหม่ๆ มากมาย มาชี้นิ้วและนำม้อบออกมาเพื่อหา "แพะ"

กลุ่มมาเฟียติดอาวุธในมุมมืดจะแสดงตน ทั้งเพื่อคุ้มครองและฉกฉวย

แน่นอนว่า ทุกรัฐที่ปล่อยไปจนต้องตกอยู่ในสภาวะแบบนั้นจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องใช้กำลังของรัฐที่เหนือกว่าเข้าปรามและควบคุม และอาจมีการปะทะ เกิดความรุนแรงเพื่อให้สังคมอยู่ใน ความสงบนิ่งทั้งทางออนไลน์และนอกออนไลน์ ซึ่งรัฐเหล่านั้นจะจำต้องล้วงข้อมูลบุคคลออกมาวิเคราะห์และจำแนกความเสี่ยงกันยุ่งนุงนัง

สังคมจะเกิดความกดดันและการแกะแก้ที่ซับซ้อน เพราะทุกอย่างจะไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และกว่าจะสงบลงได้ก็จะนาน

2. การปรากฏขึ้นของผู้ชี้นำที่น่านับถือ

อันนี้ ฝรั่งเลือกใช้ศัพท์แทนด้วยคำว่า "the leviathan" โดยแนะว่ารัฐบาลฝรั่งอาจต้องเลือกใช้อำนาจเข้าควบคุมกิจการเท่าที่จำเป็น เพื่อบริหารให้เจ้าใหญ่ในตลาดต้องกระจายทรัพยากร กระจายสินค้าและ ของจำเป็นให้ไปถึงมือภาคประชาชนอย่างเป็นธรรม จากนั้นรัฐก็ลงทุน (อาจจะจากเงินกู้ยืมแบบต่างๆ) เพื่อนำมาเล่นบท "ผู้ว่าจ้างงานสาธารณะรายใหญ่" ทำให้ประชาชนมีงานทำ ได้ค่าตอบแทนตามสมควร และ งานที่จ้างจะเน้นที่ความยั่งยืนของอนาคต และ/หรือ เป็นความจำเป็นพื้นฐาน เช่น ได้ความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้ความเอื้ออาทรดูแลกันในสังคม ดูแลคนอ่อนแอ ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างน่าหดหู่

แนวนี้ ผู้วิเคราะห์ชี้ว่า ต้องอาศัยผู้นำที่เสียสละสูงมาก ... สร้างศรัทธาเชื่อมั่นให้คนในสังคมเห็นว่าไม่มี ใครได้เปรียบและทุกคนจะเริ่มยอมเหนื่อยยากไปด้วยกันจนกว่าสถานการณ์จะจบลง

อย่างไรก็ดี..แนวทางนี้ตอนจบ..ทุกคนจะต้องยอมเจออีก "ก๊อก” นั่นคือ การร่วมชำระหนี้สาธารณะก้อนโตไปด้วยกัน

แปลว่า ภาษีของฝรั่งในวันที่ฟ้าสว่าง จะต้องสูงขึ้น และฐานต้องกว้างขึ้นอย่างมาก

แนวนี้เน้นปลุกระดมการรับผิดชอบร่วมกัน

3. รักษาบ้านเมืองด้วยการดูแลชุมชนให้เข้มแข็ง

ฝรั่งเรียกแนวนี้ด้วยคำว่า "the village" คือ ส่งมอบความไว้วางใจให้ชุมชนได้จัดการตนเอง ... ชุมชนจะเร่งสร้างระบบภายในที่พึ่งพากันเอง ทั้งการเงิน การดูแลความมั่นคงทางอาหาร และการได้รับปัจจัยสี่ หลายอย่างของชุมชนอาจมีการฝ่าฝืนกฏหมายและกติกากลางไปบ้าง..แต่ไม่ใช่เพื่อฮุบมาเป็นของคนใด คนหนึ่งแต่ทำเพื่อชุมชนโดยรวม (ซึ่งจะมีทั้งที่เหมาะและไม่เหมาะ ... เช่น อาจตกลงยึดที่ป่า ลำน้ำหรือที่สาธารณะมาใช้ประโยชน์ชุมชนในระดับที่มากเกินไป)

ในทางเลือกนี้ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือชุมชนเข้มแข็งขึ้น ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ... การปะทะ ประลองกำลังกันในระดับท้องถิ่นจะเกิดขึ้นมากมาย แต่ในที่สุดจะสงบลงตามระดับการต่อรองที่ ยอมรับกันเองได้ต่อไป

แต่ทั้งหมดนี้จะอยู่ได้อย่างเปราะบาง เพราะชุมชนส่วนมากมักไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะ ต้านภัย จากภายนอกได้นานนัก อีกทั้งจะก่อให้เกิดการเข้ารวมกลุ่มย่อยๆ เพื่อให้กลุ่มตัวเอง "รอด" ด้วยการขีดกั้นกันผู้อื่นไม่ให้เข้าใกล้

ชุมชนอาจดูเข้มแข็ง ... แต่สังคมประเทศอาจจะต้องร้าวลึก

คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ให้ความคิดต่อยอดว่า การล็อกดาวน์ในแต่ละระดับที่นานพอ ย่อมทำให้มนุษย์ทุกคนปรับตัว และเมื่อปรับตัวนานพอก็จะกลายเป็นบุคลิกใหม่ เป็นมารยาทสังคมใหม่ ... การออกแบบร่วมกันว่า จะผสมผสานทางเลือกข้างต้นอย่างไร จึงเป็นโจทย์สำคัญที่เราคนไทยและเพื่อนๆ รอบบ้านอาจนำไปขบคิดต่อ

“เรายังพอมีจังหวะ และยังไม่ช้าไปในการรื้อชุดความคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ การกำหนดบทบาทของกันและกันในท่ามกลางโควิด ที่จะร่วมกันรับผิดชอบต่อส่วนรวม รับผิดชอบต่อการเปิดและการคลายล็อกลงตามจังหวะเมื่อเหมาะสม และพร้อมรับการต้องปิดล็อกดาวน์ใหม่ไปอีกเป็นจังหวะ ... เป็นระยะ

หากใช้เวลานี้ เรียนรู้พัฒนาสูตรทางเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่ๆ ไปด้วยกัน เราจะสามารถร่วมกันสร้างหรือผสมสูตรแห่งความสมดุลย์ที่จะเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และใช้เป็นฐานสร้างโอกาสให้อนาคตประเทศได้นานๆ ทั้งระหว่างล็อคดาวน์และเมื่อหลังโควิดก้าวผ่านไป”

อ่านที่ท่านเขียนก็บอกได้ว่า ตรงใจ และขอสนับสนุนให้พวกเราช่วยกันคิด เพื่อนำเสนอต่อผู้นำของประเทศในโอกาสที่เหมาะสม

โจทย์เปลี่ยน โลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ... นโยบายรัฐก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งขึ้นได้