posttoday

ความปรกติใหม่ (New Normal) อีกครั้งกับโควิด

19 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ เปิดโลกลงทุน...ดร.สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ. กรุงไทย

คำว่า “ความปรกติใหม่” หรือ New Normal กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากเดิมที่คำนี้ถูกใช้มากหลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 เพื่อสะท้อนความคิดที่ว่าโลกจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม ความที่ไม่ปรกติบางอย่างจะกลายเป็นความปรกติใหม่ โดยในสมัยนั้นจะหมายความถึงภาวะด้าน “เศรษฐกิจ” เสียมากกว่า เช่น อัตราการเติบโตที่ต่ำลง หรือระดับของดอกเบี้ยที่ต่ำลง เป็นต้น ซึ่งความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในช่วง 10 กว่าปีหลังจากนั้น ก็สอดคล้องกับภาวะ New Normal อยู่ไม่น้อย

แต่ในคราวของวิกฤติโควิด-19 นั้น “ความปรกติใหม่” ที่พูดถึงกันจะสะท้อนมาจาก “รูปแบบการใช้ชีวิตความเป็นอยู่” ที่แตกต่างไปจากวิถีเดิมเสียมากกว่า ทั้งนี้ ก็เพื่อรับมือกับไวรัสใหม่ที่แพร่ระบาดใหญ่ไปทั่วโลก หลายพฤติกรรมได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น การใส่หน้ากากเข้าหากัน (หน้ากากจริงๆ), การรักษาระยะห่างเวลาปฎิสัมพันธ์, การทำงานจากที่บ้าน (Work from home), การซื้อของจากหน้าจอแทนที่จะเป็นหน้าร้าน และการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นต้น

เรายังคงเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว มนุษย์จะสามารถ “ชนะ” ความท้าทายรอบใหม่นี้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) หรือด้วยการวิจัยพัฒนาวัคซีนจนเป็นที่สำเร็จ ดังนั้น ชีวิตความเป็นอยู่แบบใหม่นี้บางส่วนอาจจะค่อยๆ เปลี่ยนกลับไปเป็นเหมือนเดิม แต่บางพฤติกรรมก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรกลายเป็น New Normal อย่างแท้จริงก็เป็นได้

เมื่อการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป เศรษฐกิจมหภาคก็ต้องถูกกระทบไปด้วย เกิดเป็น New Normal ตามไปด้วย (หรือคราวนี้จะต้องเรียกว่า “New New Normal”?) เราคาดว่ามีสองกระแสที่น่าจะเกิดขึ้นภายใต้ New Normal ของเศรษฐกิจ กระแสที่หนึ่ง คือ “หนี้” ที่จะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาครัฐหรือหนี้ภาคเอกชน สำหรับหนี้ภาครัฐนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้น และเกิดขึ้นมากเพื่อให้สมน้ำสมเนื้อกับความรุนแรงของวิกฤตินี้ หนี้ที่เกิดขึ้นก็เพื่อระดมเม็ดเงินไปใช้จ่ายป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยจนฟื้น “ไม่เป็น” เป็นการช่วยให้ประชาชนยังพอมีเงินในการจับจ่ายใช้สอยได้บ้าง และช่วยให้ธุรกิจไม่ได้ปิดกิจการจนสร้างปัญหาต่อตลาดแรงงานในระยะยาว

ส่วนหนี้ภาคเอกชนก็เกิดจากการกู้หนี้ยืมสินเพื่อต่อลมหายใจธุรกิจในยามที่รายได้หยุดชะงัก แต่เมื่อหนี้เพิ่มขึ้นภายใต้สถานกาณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ความเสี่ยงของการ “ผิดนัดชำระหนี้” ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น มาตรการสำคัญคือต้องช่วยประคับประคองให้ผ่านพ้นภาวะไม่ปรกตินี้ไปให้ได้ โดยในปัจจุบันนี้ หน่วยงานทางการได้เข้ามาเปิดช่องทางช่วยเหลือหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อย Soft Loan หรือการจัดตั้งกองทุน BSF ซึ่งน่าจะช่วยลดความกังวลลงได้ ดังที่เห็นจากความผันผวน (Volatility) ของราคาหุ้นกู้ที่เริ่มลดลง สะท้อนการคลายความกังวลต่อปัญหาในระยะสั้น แต่ทว่า ส่วนต่างผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนจากพันธบัตรรัฐบาล หรือที่เรียกว่า Credit Spread ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ สะท้อนความกังวลต่อปัญหาระยะยาวในการผิดนัดชำระหนี้ยังคงสูงอยู่ แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้น Credit Spread นี้ก็น่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตาม

คำถามที่ยังต้องเฝ้าคอยติดตามเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของหนี้ คือ เราจะจัดการกับหนี้ที่สูงนี้อย่างไร? ใครจะเป็นผู้ที่เข้ามาให้กู้ในส่วนนี้? ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นสูงหรือไม่และเพียงใด? หนี้ที่สูงในปัจจุบันจะจำกัดความสามารถด้านการคลัง ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ รวมไปถึงจะจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตหรือไม่? และคนยุคไหน (Generation) ที่ควรจะมาแบกรับหนี้ในส่วนนี้ (โดยเฉพาะหนี้ภาครัฐ)?

กระแสที่สองที่น่าจะเกิดขึ้น คือ กระแส “อโลกาภิวัฒน์” (De-globalization) เพิ่มเติมจาก “สงครามการค้า” ที่กดดันเรามาก่อนหน้านี้ ในด้านหนึ่ง กระแสนี้อาจรุนแรงขึ้นจากการที่ประเทศต่างๆ หันมาชี้นิ้วกล่าวโทษกัน (Blame game) ถึงสาเหตุของการเกิดวิกฤติในครั้งนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง กระแสนี้อาจเกิดขึ้นเองจากการที่แต่ละประเทศต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของตัวเอง ต่างคนจึงต่างหันไปพึ่งความต้องการซื้อในประเทศ ถ้าเรามี “ไทยเที่ยวไทย” ได้ ทำไมจะมี “จีนเที่ยวจีน” หรือ “ยุโรปเที่ยวยุโรป” ด้วยบ้างไม่ได้ ซึ่งกระแสดังกล่าวคงไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเป็นแน่ เพราะเราพึ่งพิงรายได้จากต่างประเทศค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกหรือการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอาจได้รับประโยชน์อยู่บ้างหากกระแสดังกล่าวทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาคหรือเกิดขั้วความสัมพันธ์ในภูมิภาค (Regionalization) ขึ้นมาแทน จึงต้องติดตามว่าความสมดุลของขั้วอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

แม้ว่าหลายสิ่งจะเปลี่ยนไป แต่ในด้านการลงทุนบางสิ่งก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ความปรกติเดิม (Old Normal) หลายอย่างก็ยังคงอยู่ เช่น การจัดประเภทสินทรัพย์ใหญ่ๆ เป็น บอนด์กับหุ้น, หุ้นมีความเสี่ยงมากกว่าแต่ผลตอบแทนก็จะสูงกว่าตามไปด้วย, การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Diversification) จะสามารถลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้, การจัดสรรน้ำหนักการลงทุน (Asset Allocation) ให้เหมาะสมกับเป้าหมายในการลงทุนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาว, หรือการดำรงเงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Fund) ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายประมาณ 6 เดือน เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เป็นต้น เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นแนวคิดเดิมที่ยังคงใช้ได้อยู่ไม่มีอะไรเปลี่ยน และการเคลื่อนไหวของตลาดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ตอกย้ำความสำคัญของ Old Normal เหล่านี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เป็น New Normal ทำให้มุมมองการลงทุน (Investment View) เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เมกกะเทรนด์เดิมไม่ว่าจะเป็น ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี หรือ ความต้องการด้านสาธารณสุข วิกฤติครั้งนี้น่าจะเป็นตัวเร่งให้เทรนด์ดังกล่าวเกิดเร็วยิ่งขึ้น ในขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปจาก COVID-19 ก็ทำให้เกิดธุรกิจที่เป็น “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” ด้วย การเลือกลงทุนกับผู้ชนะและหลีกเลี่ยงผู้แพ้จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ (ดังที่เห็นวอร์เรน บัฟเฟตต์ได้ขายหุ้นสายการบินสหรัฐฯ ออกไป) ขณะที่ความช่วยเหลือขนาดใหญ่ก็ทำให้เม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดการเงินเพิ่มมากขึ้นไปอีก ซึ่งอาจจะผลักดันให้มูลค่าของหลักทรัพย์ (Valuation) สูงขึ้นเป็น New Normal พร้อมๆ กับความผันผวนรุนแรงที่ขึ้น และที่สำคัญคือกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งสองที่กล่าวข้างต้นจะเป็นเช่นไร คำถามที่ตั้งไว้ข้างต้นน่าจะมีผลอย่างยิ่งต่อแนวโน้มการลงทุนในอนาคตค่อนข้างมาก จึงเป็นประเด็นที่ควรติดตามต่อไปนะครับ

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขด้วยครับ แม้ว่าเมืองจะค่อยๆ กลับมาเปิดแล้ว แต่ก็อย่าลืม #ใส่หน้ากาก และ #รักษาระยะห่างทางสังคม กันด้วยนะครับ