posttoday

แนวทางจัดการความกังวลด้านการเงิน

18 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย...ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPT ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา หากเกิดขึ้นแล้วย่อมมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังเช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นเหตุการณ์ที่กระทบกับการดำเนินชีวิตและการเงิน โดยเฉพาะกับลูกจ้างภาคเอกชนและผู้ประกอบอาชีพอิสระในบางธุรกิจ บางรายถูกปรับลดเงินเดือนหรือให้หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง บางรายที่ทำธุรกิจส่วนตัวก็รายได้หดหาย ขณะที่ค่าครองชีพไม่ได้ลดลงและภาระหนี้สินยังคงมีอยู่ไม่ต่างจากเดิม

เราไม่รู้ว่าวิกฤตนี้จะมีระลอกสองหรือไม่ หรือว่าจะมีวิกฤตใดเข้ามาอีก สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การเตรียมแผนรองรับหรือเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดวิกฤตอะไรก็จะช่วยบรรเทาให้เบาลงได้ บทความนี้มีแนวทางจัดการความกังวลด้านการเงินดังนี้ครับ

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เป็นเงินก้อนหรือสินทรัพย์ที่เราจะหยิบมาใช้ยามจำเป็น เช่น ภาวะที่ขาดรายได้ หรือมีค่าใช้จ่ายไม่คาดฝัน เงินสำรองนี้เตรียมได้ไม่ยาก คือเป็นเงินสด เงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน หลักการวางแผนการเงินแนะนำว่าเราควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน เช่น หากมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนที่ 10,000 บาท ก็ควรมีสินทรัพย์ดังกล่าวรวมกันไว้ไม่น้อยกว่า 30,000 บาท เป็นต้น

ควบคุมค่าใช้จ่าย จัดการรูรั่วทางการเงิน

หากเรามุ่งแต่หารายได้แต่ไม่สามารถจัดการรูรั่วของเงิน แม้จะมีรายได้มากเพียงใดก็ไม่สามารถแก้ปัญหาด้านการเงินได้ นอกจากจะใช้จ่ายไม่เพียงพอไม่มีเงินเหลือออมแล้วอาจก่อให้เกิดปัญหาหนี้ในอนาคตได้อีกด้วย ดังนั้นควรจัดการรายจ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มจากควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้รู้ว่าเงินที่เราจ่ายออกไปเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง คิดทุกครั้งก่อนจ่ายเงินออกไปว่าสิ่งนั้นจำเป็นหรือไม่ มีรายจ่ายจำเป็นใดที่ปรับลดได้ หากทำได้ดังนี้จะช่วยทำให้เรามีเงินเหลือออมมากขึ้น และนอกจากทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วควรทำงบประมาณค่าใช้จ่ายแต่ละรายการไว้เพื่อไม่ให้ใช้จ่ายมากเกินกว่ารายได้ ซึ่งการใส่ใจหารูรั่วและหาวิธีอุดรูรั่วทางการเงินในวันนี้จะช่วยให้เรามีเงินออมมากขึ้นและช่วยลดโอกาสการก่อหนี้โดยไม่จำเป็นได้อีกด้วย

มีเป้าหมายและการวางแผนทางการเงินที่ชัดเจน

การมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้มีทิศทางในการลงมือทำ การตั้งเป้าหมายการเงินที่ดีควรชัดเจนทั้งจำนวนเงิน ระยะเวลาที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย และที่สำคัญควรเป็นเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นไปได้ในอนาคต ตัวอย่าง ถ้าปัจจุบันอายุ 30 ปี และตั้งเป้าวางแผนเกษียณตอนอายุ 60 ปี โดยจะมีชีวิตหลังเกษียณไปจนถึง 80 ปี โดยช่วงหลังนั้นเกษียณจะใช้เงินประมาณเดือนละ 20,000 บาท (ปีละ 240,000 บาท) ซึ่งหากไม่มีรายได้หลังเกษียณเลย นั่นแปลว่าต้องมีเงินเตรียมไว้ 4.8 ล้านบาท (20,000 บาท คูณ 12 เดือน คูณกับ 20 ปี โดยยังไม่คำนึงถึงเงินเฟ้อ) และเมื่อมีเป้าหมายการเกษียณที่ชัดเจนแล้ว ก็ให้วางแผนการลงทุนเพื่อที่จะไปถึงเป้าหมายเงินเก็บ 4.8 ล้านบาท หากมีระยะเวลาการลงทุนอีก 30 ปีก่อนเกษียณ จะต้องเก็บเงินปีละ 160,000 บาท หรือประมาณเดือนละ 13,300 บาท (4.8 ล้านบาท หารด้วย 30 ปี หารด้วย 12 เดือน) แต่ถ้าสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปีจะต้องเก็บเงินเพียงเดือนละ 5,700 บาท ดังนั้นการมีเป้าหมายและตรวจสอบแผนการเงินอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เรามีความมั่นใจในการจัดการด้านการเงินมากขึ้น

จัดการความไม่แน่นอนด้านรายได้และความมั่นคงของอาชีพ

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีความรู้และรูปแบบการทำงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา อาจทำให้ตำแหน่งงานในตลาดแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันลดลงหรือหายไปในอนาคต ดังนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบจากการตกงานหรือสูญเสียรายได้ เราไม่ควรมีทักษะหรือความสามารถเพียงอย่างเดียว ควรเตรียมความพร้อมด้วยการเพิ่มความรู้และทักษะที่ก้าวทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ สังเกตได้จากปัจจุบันหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรแทนการใช้คนมากขึ้น ดังนั้น เรายิ่งต้องพัฒนาตัวเองเพื่อที่จะสามารถทำงานหรือทำธุรกิจที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เพิ่มพูนความรู้ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

เมื่อผู้ลงทุนมีความรู้ด้านการลงทุนจะช่วยทำให้เลือกใช้สินทรัพย์ทางการเงิน เพื่อสร้างผลตอบแทนของเงินให้งอกเงยมากขึ้นในอนาคต เพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายได้มากกว่าผู้ที่ไม่ศึกษาด้านการลงทุน โดยควรเริ่มจากการทำความเข้าใจสินทรัพย์ด้านการเงินและการลงทุน เช่น การลงทุนในหุ้นมีความผันผวนในระยะสั้นโดยเฉพาะจะผันผวนมากในช่วงวิกฤตด้านเศรษฐกิจและการเงิน แต่การลงทุนในหุ้นมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีในระยะยาว หากผู้ลงทุนไม่เข้าใจก็จะเกิดความตื่นตระหนกเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงและวางแผนเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ใครที่วางแผนไว้ดีก็จะสามารถรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่วางแผน การให้กำลังใจและช่วยเหลือกันในช่วงเวลานี้เป็นสิ่งจำเป็น แล้วเราทุกคนจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

สำหรับสมาชิก กบข. ที่ต้องการปรึกษาเรื่องการเงินด้านต่าง ๆ สามารถนัดหมายศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. ได้ที่ My GPF Application เมนู “นัดหมายบริการข้อมูลการเงิน” หรืออีเมล [email protected]