posttoday

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “การผลิตวัคซีนต้านโควิด-19”

12 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อไร และเป็นที่แน่นอนว่าแล้วว่า มาตรการล็อคดาวน์หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม (หรือ Social Distancing) จะกลายมาเป็นความปกติใหม่ (New Normal) จนกว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลง โดยปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะส่งผลทำให้การแพร่ระบาดสิ้นสุดลงได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า 1) โลกเราจะสามารถผลิตวัคซีนที่สามารถต้านทานไวรัสโควิด-19 และจัดจำหน่ายแจกจ่ายไปทั่วโลกได้เมื่อไร หรือ 2) โลกเราจะสามารถผลิตยา/หรือวิธีการรักษาผู้ติดเชื้อสามารถหายขาดจากการติดเชื้อโดยถาวรได้เมื่อไร เพราะถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมหมายความว่า มนุษย์เราสามารถสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ได้โดยสมบูรณ์

มาว่าด้วยการผลิตวัคซีน ในขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อออกมาต้านไวรัสโควิด-19 นี้ โดยมีการคาดการณ์ว่าน่าจะใช้เวลานานถึง 12-18 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่คาดว่าจะ “เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของการผลิตวัคซีนเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว” และเป็นการยากที่จะบั่นทอนเวลาให้เร็วกว่านั้นได้ เพราะจริงๆ แล้วที่ผ่านมา กระบวนการในการออกแบบ พัฒนา ทดลอง จนนำวัคซีนออกมาใช้มักกินเวลาถึงกว่า 10 ปี เลยทีเดียว กว่าจะได้วัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสามารถทำการตลาดได้จริง

เพราะเหตุใดถึงต้องใช้เวลานานขนาดนั้น นักเศรษฐศาสตร์สามารถให้เหตุผลเพื่ออธิบายถึงปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ (Economics Factors) ที่ส่งผลทำให้การผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 นี้จะไม่ได้ออกมาได้ง่ายอย่างที่เราคาดหวัง ทั้งการที่การผลิตต้องใช้เวลานานและมีความเสี่ยงสูงที่จะล้มเหลว, การมีต้นทุนการผลิตสูง, การที่จะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ (หรือภาคเอกชน) ยันไปถึงปัญหาการทำการตลาด และการแจกจ่ายวัคซีนที่จะต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกประเทศ/ทุกกลุ่ม โดยในแต่ละประเด็นขอเขียนอธิบายในรายละเอียดดังนี้

1) กระบวนการพัฒนาที่ซับซ้อนและต้องใช้ระยะเวลานาน - เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนโดยธรรมชาติเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly Market) เพราะต้องอาศัยการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology Production) และต้องพึ่งพาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ จึงส่งผลให้มีบริษัทที่มีโอกาสผลิตได้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ซึ่งที่เด่นๆ ก็จะเป็นไม่ บริษัทยาในฝั่งอเมริกา (เช่น Johnson & Johnson, Merck, Pfizer) ก็บริษัทยาในฝั่งยุโรป (เช่น Novartis, Roche, Astra, GlaxoSmithKline) ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าบริษัทไหนจะค้นพบได้ก่อนจะค้นพบได้ก่อน

แต่อย่างไรก็ดี การผลิตวัคซีน ไม่ง่ายเหมือนกับการทำอาหาร เพราะมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนมากมายกว่าที่จะได้วัคซีนที่ปลอดภัยและป้องกันได้จริง โดยก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า กระบวนการที่มักใช้เวลานานที่สุดก็คือ “กระบวนการการวิจัยและพัฒนา” ซึ่งในการทำกระบวนการดังกล่าว โดยคร่าวๆ นักวิทยาศาสตร์จะต้องสร้างวิธีการที่ทำให้ร่างกายของคนได้รู้จักกับเชื้อไวรัสประเภทนี้ก่อน เพื่อที่จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายออกมาทำลายเชื้อไวรัสนั้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องเริ่มจาก

1) การออกแบบ ซึ่งแต่เดิมขั้นตอนนี้จะต้องใช้เวลานานมาก แต่เราต้องขอบคุณนักวิทยาศาสตร์จากประเทศจีนที่ได้ช่วยทำการจำแนกพันธุกรรมของไวรัสตัวนี้ออกมาแล้วเมื่อครั้งไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดอย่างหนักอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น โดยนักวิทยาศาสตร์จีนเหล่านั้นได้นำข้อมูลที่ได้ไปโพสต์ในโลกออนไลน์ตั้งแต่เดือนมกราคมซึ่งเป็นประโยชน์ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาเป็นอย่างมาก

2) การทดลอง – โดยการทดลองเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ต้องใช้เวลานาน โดยจะเริ่มตั้งแต่ การทดลองในสัตว์, จนมาถึงการทดลองในคนที่มีสุขภาพดี, การทดลองกับคนแบบสุ่มที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด, จนมาถึงการทดลองกับคนแบบสุ่มกับจำนวนประชาชนในหลักพันในพื้นที่ที่ระบาด ซึ่งในแต่ละขั้นตอนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนสำหรับไวรัสโควิด-19 นี้ (ซึ่งเร็วกว่าการทดลองทั่วไปที่แต่ละขั้นที่มักกินเวลา 1-2 ปี)

3) การผ่านกระบวนการได้รับความเห็นชอบ – หลังจากที่การทดลองข้างต้นสำเร็จแล้ว อีกขั้นตอนหนึ่งที่จะกินระยะเวลาไม่แพ้กันก็คือ การที่วัคซีนที่คิดค้นออกมาต้องได้รับความเห็นชอบและอนุมัติเพื่อทำการผลิต ซึ่งในกระบวนการนี้ บริษัทผู้วิจัยยังต้องแบกรับความเสี่ยงในกรณีที่ถ้าวัคซีนนั้นถูกระงับให้ยกเลิกการผลิต โดยสาเหตุอาจเกิดจาก การที่เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธ์, การสิ้นสุดของการระบาดเองจากการที่คนส่วนใหญ่เริ่มมีภูมิคุ้มกัน (Herd Immunity), หรือการที่วัคซีนที่ผลิตออกมานั้นไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ เป็นต้น ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็แสดงว่า กระบวนการที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาต่างๆ ล้วนเป็นการเสียเปล่า

2) ต้นทุนการผลิตสูง – นอกจากต้นทุนที่เกิดจากการออกแบบและทดลองในการผลิตวัคซีนข้างต้น บริษัทที่ลงทุนในการผลิตวัคซีนยังจำเป็นต้องเผชิญกับ “โอกาสที่จะล้มเหลว” จากการทดลองดังกล่าว ซึ่งจากการศึกษาด้วยข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาพบว่า อัตราความล้มเหลวดังกล่าวมีค่าสูงถึงร้อยละ 94 (หรือมีโอกาสสำเร็จเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น) ซึ่งต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการทดลองและกลับล้มเหลวดังกล่าวจึงถูกนำมารวมอยู่ในต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ของการผลิตวัคซีนนั้นๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า วัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นนั้นจะต้อง “แบกรับ” ต้นทุนที่เกิดจากการทดลองที่ล้มเหลวถึงร้อยละ 94 นั้นเอาไว้ด้วย จึงส่งผลให้ต้นทุนโดยรวม (Total Cost) ในการผลิตวัคซีนต้องสูงถึง 100-500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยร้อยละ 90 ของต้นทุนรวมนั้นตกอยู่กับต้นทุนคนที่ และเมื่อนำเอาต้นทุนรวมจากการผลิตคิดค้นทั้งหมดมาหารเป็นต้นทุนต่อหน่วย (Average Cost) จึงพบว่า วัคซีนที่คิดค้นมาใหม่นั้นจะมีต้นทุนโดยเฉลี่ย (Average Cost) ถึงกว่า 800 เหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยต้นทุนที่สูงดังกล่าว จึงทำให้บริษัทที่ผลิตวัคซีนจะไม่สามารถทำกำไรจากการคิดค้นวัคซีนที่ผลิตขึ้นมานี้ได้ หรือถ้าจะขายเพื่อทำกำไร ราคาที่ขายก็อาจจะสูงเกินไปจนคนไม่มีปัญญาซื้อ และยังไม่นับบริษัทที่ผลิตวัคซีนออกมาแล้วล้มเหลว (ไม่ว่าจะมาจากขั้นตอนใดก็ตาม) ก็จะต้องประสบปัญหาการขาดทุนขนานใหญ่ที่อาจจะถึงขั้นปิดกิจการหรือล้มละลายได้เลยทีเดียว ทั้งนี้ต้นทุนต่อหน่วย (และราคา) ของวัคซีนจะต่ำลงได้ก็ต่อเมื่อวัคซีนนั้นได้ถูกนำมาใช้ในการผลิตในปริมาณมากจนกระทั่งผู้ผลิตได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Diseconomies of Scale)

3) การร่วมลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน –ด้วยสาเหตุของการใช้เวลาในการผลิตที่ยาวนาน ซึ่งมาพร้อมกับต้นทุนการผลิตที่สูงดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่บริษัทผู้ผลิตจะมี “แรงจูงใจ” พอในการผลิตวัคซีนต้านทานไวรัสโควิด-19 นี้ ดังนั้น แนวทางหนึ่งเพื่อให้เกิดการค้นพบวัคซีนและนำเข้าสู่สายพานการผลิตได้ทันเวลาคือความจำเป็นของ “การร่วมลงทุนโดยภาครัฐ (หรือจากภาคเอกชน)” เพื่อลดความเสี่ยงและช่วยแบกรักต้นทุนที่จะเกิดขึ้น โดยล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็ได้เปิดเผยออกมาแล้วว่า ขณะนี้มีวัคซีนต้านโควิด-19 ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาทั่วโลกแล้วถึงกว่า 70 รายการ ยกตัวอย่างเช่น

• รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศทุ่มงบประมาณกว่าสามพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ยารักษา และชุดทดสอบ

• รัฐบาลแคนาดาเองก็ได้ประกาศเพิ่มการลงทุน 2.7 ล้านเหรียญในการวิจัยในวัคซีน

• กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งรวบรวมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ได้มีการจัดตั้งตั้งแต่ที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส Ebora เองก็ได้ทุ่มเงิน 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อคิดค้นวัคซีนโดยเลือกสนับสนุนบริษัทโมเดอนา (Moderna) ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นในอุตสาหกรรมคิดค้นยา

• บริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง Johnson & Johnson เองล่าสุดก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยบริษัทประกาศตั้งเป้าที่จะผลิตวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 จำนวน 600-900 ล้านโดส ภายในสิ้นไตรมาสแรกของปีหน้าและวางแผนที่จะทดลองในมนุษย์สามารถเริ่มต้นได้ในเดือนกันยายนปีนี้

• นอกจากนั้นในฝั่งของยุโรป บริษัท GlaxoSmithKline ของอังกฤษ และบริษัทซาโนฟี เอสเอ ก็ยังประกาศร่วมกันพัฒนาวัคซีนเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 หรือแม้กระทั่งล่าสุด (ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เกิดการร่วมมือของทั้งสองบริษัทนี้)

• ยังไม่รวมเศรษฐีใจบุญอย่างบิลล์ เกตส์ (ภายใต้มูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation) ที่มีการสนับสนุนการผลิตวัคซีน (รวมไปถึงวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 นี้ด้วย) มาอย่างยาวนาน

• แม้กระทั่งในกรณีของประเทศไทยเอง ล่าสุดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองยังได้ร่วมกับทางบริษัท ไบโอเนท เอเชีย ได้มีการผลิตวัคซีน และทำการทดลองในสัตว์แล้ว และกำลังรอผลจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าจะสามารถปลอดภัยนำไปสู่การทดลองในคนต่อหรือไม่

อย่างไรก็ดี เรายังคงไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า วัคซีนของบริษัทใด (ประเทศใด) จะประสบผลสำเร็จ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ บริษัทจำนวนมากที่ลงทุนนี้จะต้องล้มเหลวเพราะโลกจะมีวัคซีนที่ได้รับการยอมรับน่าจะเพียง 1-2 แห่งเท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับในตลาด ซึ่งถ้าจะวิเคราะห์โดยใช้หลักการของทฤษฎีเกม (Game Theory) ของทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายนั้น ในการที่ใครจะชนะนั้นจะขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์การให้การสนับสนุน (Strategic Game) ที่ว่ารัฐบาลในฝั่งไหนจะยินดีให้การอุดหนุน (Subsidize) บริษัทยาของตัวเองมากกว่ากัน และบริษัทไหนจะมีความพร้อมด้านทรัพยากรและจะมีความเก่งกาจ (Resource and Capabilities) มากกว่ากัน เพราะถ้าฝ่ายไหนชนะ มันก็แสดงถึงการเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมนี้ในระดับโลก (พร้อมกับผู้ล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก)

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “การผลิตวัคซีนต้านโควิด-19”

4) ความยากในการทำการตลาด (และมักไม่มีกำไร) – หลังจากที่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งได้คิดค้นพบวัคซีนต่อต้านไวรัวโควิด-19 ออกมาแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการผลิตเพื่อจัดจำหน่ายได้จริง ซึ่งในการทำการตลาดนั้นจะนำมาสู่อีกความท้าทายก็คือ วัคซีนดังกล่าวจะมีคนซื้อหรือไม่ ควรจำหน่ายในราคาเท่าใด ใครจะเป็นผู้จัดจำหน่าย เป็นต้น แต่ถึงแม้ว่าวัคซีนจะเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการลดการแพร่ระบาดก็ตาม แต่เนื่องจากด้วยธรรมชาติของวัคซีนที่จะมี 1) อายุไขสั้น (Short-Life Cycle), 2) มี Margin ต่ำ (Low Margin) และมีแนวโน้มที่ราคาจะถูกลงเรื่อยๆ, 3) มีห่วงโซ่อุปทานที่สลับซับซ้อน (Complex Supply Chain), และ 4) มีความต้องการใช้จำกัดหรือมีการใช้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น (Single of Limited Use) ซึ่งไม่เหมือนกับยารักษาโรคที่มีอายุยาว, Margin สูง, และมีความต้องการใช้อย่างเรื่อยๆ จึงส่งผลให้ความต้องการวัคซีนกินส่วนแบ่งในตลาดโลกเพียงแค่ร้อยละ 2 ของอุตสาหกรรมยาเท่านั้น ดังนั้นบริษัทยาเองก็ไม่ได้เห็นว่าการผลิตวัคซีนจะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีเช่นกันเนื่องจากบริษัทล้วนต้องประสบปัญหาในการทำการตลาดวัคซีนเป็นอย่างมาก (เมื่อเทียบกับตลาดยารักษาโรคทั่วไป) ดังนั้น แนวทางหนี่งในการแก้ไขปัญหาการจัดจำหน่ายนี้ก็คือ ภาครัฐเข้ามาช่วยในการ “สร้างอุปสงค์หรือความต้องการ” จาก “การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” เพื่อให้บริษัทยามั่นใจว่าเมื่อผลิตสินค้าออกมาแล้วจะมีผู้ซื้อ (และภาครัฐเองก็ต้องตอบโจทย์แก่ประชาชนในด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ)

นอกจากนี้ เนื่องจากพอมีความต้องการสูงในการใช้วัคซีน (โดยเฉพาะวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19) บริษัทอาจจะต้องเผชิญกับ “การมีวัคซีนปลอม” เกิดขึ้น เพราะ คนอาจไม่สามารถแยกได้ว่าวัคซีนไหนดีและรักษาได้จริง (Asymmetric Information) หรือวัคซีนไหนไม่ได้ และในท้ายที่สุดบริษัทที่ผลิตวัคซีนจริงออกมาจะไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจตัดสินใจที่จะออกนอกตลาดไป ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็จะตรงตามทฤษฎีตลาดเลมอน (Lemon Market) ของศาสตราจารย์ George Akerlof ที่ได้รับรางวัลโนเบลทางสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในการที่บริษัทที่ผลิตคิดค้นวัคซีนออกมาได้จริงจะสามารถแข่งขันกับวัคซีนปลอมได้นั้น บริษัทจึงจำเป็นต้องลงทุนในระบบทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุน (Extra Cost) ของบริษัทเข้าไปอีก

5) ความท้าทายในการแจกจ่ายวัคซีนไปทั่วโลก – ในระยะแรกของการแจกจำหน่างวัคซีนโควิด-19 นี้ ความต้องการในการได้รับวัคซีนย่อมมีสูงกว่าความสามารถในการผลิต (Excess Demand) จึงอาจส่งผลต่อความท้าทายต่อความเท่าเทียมกัน (Equity) ในการแจกจ่ายวัคซีน เพราะจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีของการระบาดของไวรัส H1N1 เมื่อปี พ.ศ. 2552 ก็คือการทีมีประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้สูงกลับทำการ “กว้านซื้อ/กักตุนวัคซีน” และทิ้งให้ประเทศที่ยากจนกว่าต้องเผชิญภาวะขาดแคลน ดังนั้นความท้าทายทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญอีกประการก็คือ “จะมีกระบวนการเพื่อให้เกิดการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันในราคาที่ทุกคนสามารถจ่ายได้ได้อย่างไร”

นอกจากนี้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นมีการกระจายตัวที่ไม่เท่ากัน โดยในปัจจุบันผู้ติดเชื้อกระจุกตัวอยู่ในฝั่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป) นอกจากนี้ยังเกิดการติดเชื้อกับประชาชนมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน (เช่น ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการติดและเสียชีวิตมากกว่าคนที่อายุน้อยๆ หรือ คนที่มีฐานะยากจนที่ยากที่จะทำ Social Distancing มักจะมีโอกาสที่จะติดเชื้อมากกว่าคนรวย) นอกจากนั้น ยังมีบุคลากรทางด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการติดเชื้อมากที่สุดก็อาจจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนก่อนกลุ่มอาชีพอื่นเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลแต่ละประเทศควรจะมีกระบวนการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าประชาชนในประเทศของตนจะได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีโอกาสในการติดเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมา แนวทางที่มีการทำเพื่อให้เกิดการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกับประเทศที่ด้อยพัฒนา

1) การช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอ ซึ่งสามารถทำได้จากการขอความช่วยเหลือจากองค์กรที่รับผิดชอบในด้านนี้ เช่น การขอความช่วยเหลือจาก Gavi (The Vaccine Alliance) ที่เป็นองค์กรที่ให้เงินทุนกับประเทศยากจนกว่า 73 ประเทศมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 หรืออีกทางหนึ่งก็คือ ภาครัฐสามารถทำ “การระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตร” (Bond Market) และนำเงินนั้นเพื่อไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนได้ เป็นต้น

2) เน้นแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรก เพื่อลดการติดเชื้อในกลุ่มบุคคลากรในกลุ่มนี้เพื่อที่จะคงสภาพกำลังคนทางด้านสาธารณสุข (Physician Workforce) ให้เพียงพอในการรักษาประชาชนผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ

3) การสร้างข้อตกลงกันระหว่างประเทศ (International Agreement) ในการจัดโควต้าเพื่อแจกจำหน่ายวัคซีนระหว่างทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว, กำลังพัฒนา, หรือด้อยพัฒนา และต้องมีการลงทุนร่วมกันในด้านการเก็บรักษาวัคซีน (ที่มักต้องอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 2-8 องศาเซลเซียส

4) ภาครัฐในแต่ละประเทศจำเป็นต้องมีการวางแผนในการแจกจ่ายพร้อมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อน (เช่นการใช้เลขบัตรประชาชน) อย่างไรก็ดี อีกประสบการณ์หนึ่งที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งก็คือ “การที่ประชาชนทำตัวเป็น Free Rider จากการไม่ไปรับการฉีดวัคซีน (เพราะเห็นว่ามีคนไปฉีดแล้ว ตนจึงไม่น่าจะติดเชื้อได้) ซึ่งทำให้การวางแผนสำหรับการควบคุมปริมาณที่ต้องการใช้จริงอาจทำได้ยาก

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการถกเถียงว่าเราควรจะใช้วัคซีนอย่างไรหรือใครควรได้วัคซีนก่อน ผู้เชี่ยวชาญกลับคาดการณ์ว่ากว่าวัคซีนจะพร้อมผลิตและจัดจำหน่ายได้จริง การระบาดก็น่าจะขึ้นถึงจุดยอดและเบาบางลงแล้ว อย่างไรก็ดี วัคซีนที่ค้นพบได้นั้นก็น่าจะช่วยรักษาได้หากไวรัสดังกล่าวกลายเป็นโรคภัยไข้เจ็บปกติและระบาดเป็นครั้งคราวเช่นเดียวกับไข้หวัดตามฤดูกาล

6) ความคุ้มค่าทางสังคม – ถึงแม้ว่า การผลิตวัคซีนจะเป็นกิจกรรมที่มีต้นทุนสูง มีความเสี่ยง และยากต่อการทำการตลาดก็ตาม แต่งานศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเกือบทุกชิ้นต่างก็ยืนยันว่า “การลงทุนในวัคซีนเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อสังคมและเศรษฐกิจ” เสมอ เพราะนอกจากวัคซีนจะช่วยสร้างผลประโยชน์ส่วนบุคคล (Private Benefit) จากการที่ผู้ติดเชื้อจะหายจากการติดเชื้อแล้ว วัคซีนยังสร้างผลประโยชน์ทางสังคม (Social Benefit) ผ่านกระบวนการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) ของประเทศ เช่น การมีสมองที่ดีขึ้น การมีสุขภาพที่แข็งแรงและห่างไกลจากการติดเชื้อ อันส่งผลไปสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงานของประเทศ

นอกจากนี้ ผลได้ทางสังคมของวัคซีนยังส่งผลไปถึงรวมไปถึงการป้องการและลดโอกาสในการติดเชื้อต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ซึ่งตัวเลขที่เกิดจากผลได้โดยรวม (Total Benefit) นี้จึงมักสูงกว่าต้นทุนของการผลิตวัคซีนเสมอ หรือกล่าวได้ว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการลงทุนในการผลิตวัคซีนจึงมักเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า (Cost Effective) เสมอ

ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ข้างต้น การผลิตวัคซีนต้นไวรัสโควิด-19 จึงจะยังคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ดังนั้น การสร้างความฉลาดรู้ในการดูแลตัวเองจากเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19 Literacy) นี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ทั้งการดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำทั้งเรื่องสุขอนามัย ทั้งการ “เว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งการการไม่ไป ชุมนุมกัน การใส่หน้ากาก และล้างมือสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะลดการติดเชื้อและการแพร่เชื้อไวรัสนี้ได้

ดังนั้น “การ์ดอย่าเพิ่งตกนะครับ !!!” ไม่ว่าประเทศเราจะยังคงล็อคดาวน์หรือหยุดล็อคดาวน์แล้วหรือไม่ก็ตาม