posttoday

เรื่องควรรู้เมื่อพักชำระหนี้

06 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย...ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPT ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว หลายธุรกิจต้องหยุดทำการชั่วคราว ทำให้ประชาชนบางส่วนต้องหยุดงาน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ต้องสูญเสียรายได้ ในขณะที่ยังคงมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและมีภาระหนี้ที่ต้องชำระ ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ออกโครงการพักชำระหนี้ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการลดยอดผ่อนชำระหนี้ต่อเดือน เลื่อนกำหนดการจ่ายหนี้ออกไป โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิตบูโร

ซึ่งรูปแบบมาตรการบรรเทาภาระหนี้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของหนี้สินและเงื่อนไขของสถาบันการเงิน ถ้าเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลจะเป็นการลดยอดผ่อนชำระขั้นต่ำต่อเดือนจากเดิมร้อยละ 10 มาอยู่ที่ร้อยละ 5 ของยอดหนี้คงเหลือ และหากเป็นสินเชื่อที่ต้องผ่อนชำระรายเดือน เช่น สินเชื่อบ้านก็มีทั้งแบบพักชำระเงินต้น (จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น) หรือพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงอาจมีการลดดอกเบี้ยและขยายเวลาการชำระหนี้ (เป็นรายกรณีไป) โดยแต่ละสถาบันการเงินอาจให้ระยะเวลาการพักชำระหนี้นาน 3-12 เดือน มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้กู้จ่ายค่างวดลดลงส่งผลให้มีสภาพคล่องมากขึ้น มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น และเมื่อพ้นระยะเวลาพักชำระหนี้หรือเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น จึงค่อยทยอยกลับมาชำระหนี้ที่พักไว้ให้กับธนาคารต่อไป เพื่อความเข้าใจมากขึ้นขอยกตัวอย่างการจ่ายชำระหนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทย

ถ้ามียอดหนี้อยู่ 1,000,000 บาท

กรณีที่ 1 ชำระแบบปกติ ไม่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้

ผ่อนเดือนละ 10,000 บาท (เป็นดอกเบี้ย 6,000 บาทและเป็นเงินต้น 4,000 บาท) หากเราผ่อนชำระปกติไป 6 เดือน ยอดหนี้คงเหลือจะอยู่ที่ 976,000 บาท และที่สำคัญไม่ต้องมียอดเงินที่พักรอไว้จ่ายหลังพ้นระยะของโครงการ

กรณีที่ 2 เข้าร่วมโครงการพักชำระเงินต้น (จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย)

ผ่อนดอกเบี้ยเดือนละ 6,000 บาทไป 6 เดือน ยอดหนี้คงเหลือ 1,000,000 บาท เราต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือนรวมกัน 36,000 บาท (6,000 คูณ 6 เดือน) โดยยอดหนี้ 1,000,000 บาทไม่ลดลงเลย ดังนั้นดอกเบี้ยที่ต้องชำระของงวดต่อไปจะคำนวณจากหนี้คงค้าง 1,000,000 บาท เหมือนเดิม

กรณีที่ 3 เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ธนาคารเป็นระยะเวลา 6 เดือน และเมื่อครบระยะเวลา 6 เดือนยอดหนี้จะกลายเป็น 1,036,000 บาท ยอดหนี้ที่พักไว้ผู้กู้จะต้องทยอยจ่ายซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนดไว้ ก็จะเพิ่มยอดภาระจ่ายหนี้รายงวดหลังพ้นโครงการจนกว่าจะชำระยอดคงค้างหมด

จะเห็นได้ว่าการพักชำระหนี้แม้ว่าจะจ่ายค่างวดลดลงในช่วงที่เข้าร่วมโครงการ แต่ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้กู้จะต้องจ่ายเมื่อระยะพักชำระหนี้สิ้นสุดลงหรือจ่ายต่อจากงวดการผ่อนสุดท้ายตามสัญญาเงินกู้นั้น ๆ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคาร ก่อนพิจารณาเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ผู้กู้ควรประเมินสถานการณ์การเงินของตนเองให้ดีก่อนตัดสินใจ ถ้าสามารถบริหารจัดการเงินได้ด้วยการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นได้หรือไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่องมากนัก แนะนำให้จ่ายชำระหนี้แบบปกติ แต่หากขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ควรรีบติดต่อสถาบันการเงินเพื่อเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ จะได้ไม่ให้เสียประวัติผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินจะพิจารณาอนุมัติหรือไม่นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารที่กำหนดไว้ ที่สำคัญหากเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้แล้วควรวางแผนการจ่ายหนี้ที่พักไว้หลังจากพ้นระยะผ่อนผัน เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาหนี้พัวพันต่อเนื่องในอนาคต

หากติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้แล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ หรือข้อเสนอลูกหนี้ไม่ได้รับการพิจารณา แนะนำให้ติดต่อไปยัง ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้เปิดช่องทางเสริมที่เรียกว่า “ทางด่วนแก้หนี้” สำหรับผู้ที่ต้องการปรับปรุงเงื่อนไขหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยโครงการนี้เป็นตัวกลางสำหรับการติดต่อและหาข้อตกลงร่วมกันให้กับเจ้าหนี้และลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินใด ประเภทวงเงินไหน ทั้งที่มีสถานะปกติหรือเป็นหนี้เสีย (NPL) หรือแม้ปรับโครงสร้างหนี้แล้วแต่ประสบปัญหาในช่วงนี้อีก ก็สามารถส่งคำขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางนี้ได้

ในช่วงวิกฤตแบบนี้ทุกภาคส่วนล้วนร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่เพื่อที่เราจะได้ผ่านพ้นวิกฤตโควิดนี้ไปด้วยกันนะครับ สำหรับสมาชิก กบข. ที่ต้องการปรึกษาเรื่องการจัดการหนี้ หรือสอบถามเงื่อนไขสินเชื่อของสถาบันการเงินต่าง ๆ สามารถนัดหมายศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. ได้ที่ My GPF Applicationเมนู “นัดหมายบริการข้อมูลการเงิน” หรืออีเมล [email protected]