posttoday

ข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้า

05 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ ทันเเศรษฐกิจ โดย...รศ.ดร.วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล, ศ.ดร.ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ, ศ.ดร.จิราวัลย์ จิตรถเวช สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

รมต. พลังงานเปิดเผยมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยในเดือน มี.ค.–พ.ค. โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

1. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.1 ที่ใช้มิเตอร์ 5 แอมป์ ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน ใช้ไฟฟรี 150 หน่วย/เดือน ในเดือน มี.ค.–พ.ค.

2. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้มิเตอร์มากกว่า 5 แอมป์ ค่าไฟฟ้าในเดือน มี.ค.–พ.ค. จะคำนวณโดยเปรียบเทียบกับเดือน ก.พ. 2563 ดังนี้

2.1 กรณีที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย/เดือน ค่าไฟฟ้าในเดือน มี.ค.–พ.ค. ที่มากกว่าค่าไฟฟ้าในเดือน ก.พ. 2563 จะได้รับการยกเว้น ซึ่งหมายความว่า ค่าไฟฟ้าในเดือน มี.ค.–พ.ค. จะเท่ากับค่าไฟฟ้าในเดือน ก.พ. 2563

2.2 กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วย/เดือน แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย/เดือน ค่าไฟฟ้าในเดือน มี.ค.–พ.ค. ที่มากกว่าค่าไฟฟ้าในเดือน ก.พ. 2563 จะได้รับส่วนลดร้อยละ 50

2.3 กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 หน่วย/เดือน ค่าไฟฟ้าในเดือน มี.ค.–พ.ค. ที่มากกว่าค่าไฟฟ้าในเดือน ก.พ. 2563 จะได้รับส่วนลดร้อยละ 30

ข้อสังเกตต่อมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้า

มาตรการปรับลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวเป็นมาตรการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยทุกราย การดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดจะต้องใช้เงินประมาณ 23,000 ล้านบาท เมื่อพิจารณารายละเอียดของมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้ากับลักษณะการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ก็จะมีข้อสังเกตได้ดังต่อไปนี้

1. เมื่อพิจารณาจำนวนวันของการใช้ไฟฟ้า จะเห็นได้ว่าเดือนมีนาคมและเดือนพฤษภาคมมีจำนวนวันมากกว่าจำนวนวันในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ 2 วัน ส่วนเดือนเมษายนมีจำนวนวันสูงกว่าจำนวนวันในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ 1 วัน มาตรการช่วยเหลือตาม 2.1 ที่ใช้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยไม่เกิน 800 หน่วยในช่วงเวลา 29 วันในเดือนกุมภาพันธ์เป็นเกณฑ์ จึงมีผลทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยสามารถใช้ไฟฟ้าได้ฟรีเป็นเวลาเพิ่มขึ้น 1 วันในเดือนเมษายน และ 2 วันในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม

นอกจากจำนวนวันในการใช้ไฟฟ้าฟรีที่เพิ่มขึ้น อุณหภูมิในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมที่สูงกว่าอุณหภูมิในเดือนกุมภาพันธ์มีผลทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาสามเดือนดังกล่าวสูงกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วยในเดือนกุมภาพันธ์จึงสามารถใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นได้ฟรีอีกด้วยดังนั้น การกำหนดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบจึงมีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบที่ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือมากกว่าการกำหนดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเดือนอื่นเป็นเกณฑ์การเปรียบเทียบ

2. ในสภาวะปกติผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย/เดือน มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 94 ในเขตจำหน่ายของ กฟน. และมากกว่าร้อยละ 99 ในเขตจำหน่ายของ กฟภ. มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าจึงสามารถครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านประเภทบ้านอยู่อาศัยทั้งหมดมากกว่าร้อยละ 98 ของประเทศ คิดเป็นจำนวนมากกว่า 19.97 ล้านราย ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วย/เดือน คือ ผู้ที่มีค่าไฟฟ้ามากกว่า 3,500 บาท/เดือน ซึ่งน่าจะพิจารณาได้ว่า เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่คงสามารถรับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 ได้ จึงไม่สมควรที่จะได้รับการพิจารณาช่วยเหลือ ทั้งนี้เพื่อนำทรัพยากรที่มีจำกัดไปเยียวยาผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่มีความสามารถในการรับภาระจากผลกระทบไวรัสโควิด 19 ได้น้อยกว่า โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทสูบน้ำเพื่อการเกษตร

3. เป็นที่ยอมรับกันว่า มาตรการ Lock down ของรัฐบาลและการขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ควรที่จะวิเคราะห์ดูว่า ชั่วโมงที่อยู่บ้านจากมาตรการ Lock down ควรเพิ่มขึ้นในระดับใด

สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยทั่ว ๆ ไป มาตรการ Lock down ของรัฐบาลและการขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน ไม่น่าทำให้จำนวนชั่วโมงที่ต้องอยู่ที่บ้านเพิ่มขึ้นมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากสภาวะปกติ ก็ไม่ควรเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ดังนั้น จึงขอเสนอปรับมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้า เป็นดังนี้

สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วยในเดือนกุมภาพันธ์ หน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้นไม่เกินสองเท่าของหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ก็จะไม่นำมาคิดเป็นค่าไฟฟ้า ส่วนปริมาณการใช้ไฟฟ้าในส่วนที่เกิน 2 เท่าของหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ จะถูกนำไปคิดเป็นค่าไฟฟ้าตามอัตราที่กำหนดในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ใช้ไฟฟ้า 700 หน่วยในเดือนกุมภาพันธ์จะใช้ไฟฟ้าได้ถึง 1,400 หน่วยต่อเดือน ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมจะเสียค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์โดยใช้ไฟฟ้าฟรีได้อีก 700 หน่วย ส่วนผู้ที่ใช้ไฟฟ้า 400 หน่วยในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ใช้ไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 1,000 หน่วย ก็จะต้องชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิอนกุมภาพันธ์จากปริมาณ 200 หน่วยซึ่งเป็นหน่วยไฟฟ้าที่เพิ่มมากกว่า 2 เท่าของหน่วยในเดือนกุมภาพันธ์ ตามอัตราที่กำหนดในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม หากมีทรัพยากรเพียงพอ เกณฑ์ปริมาณไฟฟ้า 800 หน่วยในเดือนกุมภาพันธ์ อาจเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 หน่วย ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 98.8 หรือมากกว่า 20 ล้านราย

4. มาตรการการปรับลดค่าไฟยังไม่ได้ครอบคลุมกลุ่มเกษตรกรที่ต้องสูบน้ำเพื่อการเกษตร ควรจะได้มีการปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าให้ถูกลงเป็นกรณีพิเศษเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและราคาผลผลิตทางเกษตรที่ลดลงเนื่องจากผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 โครงสร้างราคาไฟฟ้าปัจจุบันสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าสูบน้ำเพื่อการเกษตร ประเภท 7.1 มีค่าบริการ 115.16 บาท/เดือน และประเภท 7.2 มีค่าบริการ 228.17 บาท/เดือน ทั้งแรงดันต่ำและแรงดันสูง ควรปรับลดค่าบริการที่ระดับแรงดันต่ำให้เท่ากับค่าบริการของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยซึ่งเท่ากับ 38.22 บาท/เดือน เพื่อช่วยค่าไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำเพื่อการเกษตร

นอกจากนี้ ควรยกเลิกอัตราค่าไฟฟ้าประเภท 7.2 เป็นการถาวรซึ่งเป็นอัตราตามช่วงเวลา (TOU) ทั้งนี้เพราะเป็นอัตราเดียวกันกับอัตราตามช่วงเวลา (TOU) ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง และประเภทกิจการขนาดใหญ่ จะแตกต่างกันที่ค่าบริการของอัตราค่าไฟฟ้าประเภท 7.2 ซึ่งเท่ากับ 228.17 บาทต่อเดือน เปรียบเทียบกับ 312.24 บาท/เดือนสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง และประเภทกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งหมายความว่า ยังไม่มีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทการสูบน้ำเพื่อการเกษตรในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ยกเว้นค่าบริการประจำเดือนเท่านั้น นอกจากนี้ เกษตรกรจะต้องสูบน้ำในช่วงเวลา 22:00-09:00 เท่านั้น จึงจะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คงไม่สะดวกสำหรับการสูบน้ำเพื่อการเกษตร

งบประมาณสำหรับมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า

งบประมาณที่จะใช้สำหรับมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าควรพิจารณาจากแหล่งต่อไปนี้

• ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันได้รวมภาระในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานหมุนเวียนและการสมทบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า แต่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของประชาชน รัฐบาลควรจะยกเลิกหรือปรับลดภาระดังกล่าวเป็นการชั่วคราว เพื่อนำเงินส่วนที่นี้ไปลดค่าไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินประมาณปีละ 10,000 ล้าน และรัฐบาลควรเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนประเภท SPP เพื่อให้มีการลดภาระในส่วนนี้ลงเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนในการลงทุนของ SPP จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12 ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงมากในสภาวะปัจจุบัน

• เจรจาปรับลดอัตราค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภท IPP (เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่) ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 30 ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศ โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนได้รับผลตอบแทนจากการรับซื้อของการไฟฟ้าประมาณร้อยละ 15 ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงมากในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน

• ปรับลดอัตราผลตอบแทนในการดำเนินการของการไฟฟ้าลง ในปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตทำกำไรได้ประมาณปีละ 48,000 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทำกำไรได้ประมาณปีละ 15,000 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวงทำกำไรได้ประมาณปีละ 9,000 ล้านบาท ซึ่งพิจารณาได้ว่า กำไรดังกล่าวทำให้การไฟฟ้าอยู่ในฐานะที่จะปรับลดค่าไฟฟ้าในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้

• การปรับการคำนวณค่า FT ให้สะท้อนราคาต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าในปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบัน ค่า FT จะคำนวณจากต้นทุนเชื้อเพลิงเมื่อ 4 เดือนก่อน เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงมากในปัจจุบัน แต่ผลของการลดลงนี้จะมีผลให้อัตราค่าไฟฟ้าลดลงในอีก 4 เดือนข้างหน้าตามการปรับค่า FT แต่ความเดือดร้อนของประชาชนเกิดขึ้นในปัจจุบัน การปรับให้ค่า FT มาสะท้อนค่าต้นทุนเชื้อเพลิงในเดือนปัจจุบัน (เป็นการชั่วคราว) จึงเป็นการดึงส่วนลดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาชดเชยให้กับประชาชนในช่วงเวลาที่เดือดร้อนโดยไม่เป็นภาระทางการเงินของการไฟฟ้า

อนึ่ง สัญญา IPP และ SPP แบบ Firm ได้มีการรับรองผลตอบแทนการลงทุนของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจากองค์ประกอบ Available Payment ซึ่งมีลักษณะของ Take or pay หมายความว่า กฟผ. จะต้องจ่ายค่าโรงไฟฟ้าให้กับคู่สัญญาตามจำนวนพลังไฟฟ้าที่ IPP พร้อมจ่ายในอัตรา Available Payment ที่กำหนด ถึงแม้ว่า กฟผ. จะไม่ซื้อไฟฟ้าเลยก็ตาม แต่ถ้า กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากคู่สัญญา กฟผ. จะต้องจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้าในอัตรา Energy Payment ซึ่งรวมค่าเชื้อเพลิงและค่าดำเนินงานในโรงไฟฟ้า ดังนั้น ผลตอบแทนในการลงทุนของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนประเภท IPP และ SPP แบบ Firm ที่เป็นคู่สัญญาของ กฟผ. จึงไม่ถูกกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด 19 จึงเป็นเหตุผลที่ภาครัฐควรเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนประเภท IPP และ SPP แบบ Firm ให้ลดค่าไฟฟ้าที่ขายให้ กฟผ. เพื่อช่วยเหลือสังคมในช่วงนี้ โดยลดผลตอบแทนในการลงทุนมาอยู่ในระดับร้อยละ 5-6 ซึ่งก็ยังอยู่ในระดับสูงมากสำหรับในช่วงนี้

หากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ มาตรการปรับลดค่าไฟฟ้า ไม่ควรใช้งบประมาณมากกว่าทุนที่สามารถหาได้จากแหล่งดังกล่าวข้างต้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อภาคไฟฟ้าในอนาคต