posttoday

มีวินัยเพราะกลัวติดเชื้อ พอผ่อนปรนก็มีคนบางจำพวกทำเป็นไม่เข้าใจ... เดี๋ยวได้เริ่มต้นใหม่

04 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 18/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID?-19 เป็นเรื่องที่ฝืนความเป็นมนุษย์ในสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์ชอบอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ ชอบการแลกเปลี่ยนสนทนากัน ชอบการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มันยิ่งส่งเสริมการแพร่ระบาด การใช้มาตรการ "ควบคุม" ให้แยกกันอยู่ ให้อยู่ห่างกัน ให้กักกันตนเอง จึงทำให้เสรีภาพที่จะทำสิ่งต่างๆมันหดหายไป แต่ด้วยความที่ "กลัวตาย" จึงยอมแลกกับการจำกัดสิทธิ์ ทีนี้พอจะเริ่มผ่อนปรนก็จะมีคนบางจำพวกเริ่มมีปฏิกิริยาที่ไม่น่ารักเอาเสียเลย เริ่มมีการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตนเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้าง เช่นเขาบอกอย่าเพิ่งเดินทางก็จะไป เขาบอกว่าต้องกินอยู่แบบห่างๆ ก็บอกจะเอาแบบเดิม เขาบอกว่าอย่าเพิ่งสังสรรค์ก็จะรีบตั้งวงฉลอง แล้วก็อ้างตัวเลขว่ามันลดลงแล้ว คำถามคือตัวเลขมันลดเพราะคนส่วนใหญ่หรือแทบทุกคนต้องรับผล พอจะดีขึ้นทำไมต้องทำให้ผลลัพธ์ที่อุตส่าห์ร่วมทำกันมาหายไป นี่คือข้อความบางส่วนของคนที่มีส่วนช่วยงานอยู่เบื้องหลังให้ระบบและสภาพการณ์มันดีขึ้น คนทำงานทุกคนเหนื่อยใจกับสิ่งที่เป็นความเสี่ยงตรงหน้าดังนี้ครับ...

คนในสังคมเราบ่นเก่ง บ่นได้ทุกเรื่อง ใครทำอะไรสักอย่าง ก็จะมีอีกร้อยคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตลอดทั้งที่รู้จริงไม่รู้จริง อ่านไลน์แล้วก็เกรียนคีย์บอร์ดออกมา

การมีมาตรการควบคุมโรคใดๆ ก็ตาม ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า “ควบคุม” มันก็ต้องมีการจำกัดสิทธิ์ ลิดรอนสิทธิ์ ไม่อิสระเหมือนยามปกติที่ไม่มีการแพร่ระบาดโรค

ซึ่งถ้าในสุดโต่งด้านนึง คือ lockdown ทุกคนให้อยู่บ้าน เท่าเทียมกัน แต่ตอนนี้เราจะเริ่มเปิดเมือง ออกจาก lockdown เริ่มมีมาตรการการใช้การควบคุมแบบบางคน คือลดจากการควบคุมทุกคน มาเป็นคุมบางคน เฉพาะกิจกรรม เฉพาะธุรกรรม เฉพาะบางคนที่ “อาจ” มีเชื้อติดตัวอยู่ซึ่งไม่แสดงอาการ มันมีความเสี่ยงเพราะมีเชื้อมากกว่าคนอื่น การผ่อนปรนแบบนี้ย่อมต้องมีความไม่เท่าเทียมกันตามกิจกรรมความเสี่ยง ย่อมต้องมีการรอนสิทธิ์ มันต้องมีไม่เท่ากัน ไม่เสมอภาคตามความจำเป็นแน่นอน แต่ก็เรียกว่า ดีกว่าการจำกัดสิทธิ์ ทุกคนเท่ากันแบบ lockdown ทั้งเมือง และอย่างน้อยจะดีขึ้นเพราะกิจกรรมทางสังคม ทางเศรษฐกิจบางส่วนซึ่งก็เป็นภาคที่ดูแล้วว่าจำเป็น เช่น ผู้ค้ารายย่อย ผู้มีรายได้ไม่มากเดินต่อได้ สามารถสร้างรายได้ในเวลายากลำบากนี้

แต่เพียงแค่นี้ ก็มีคนเริ่มมาบ่นแล้วว่า ลิดรอนสิทธิ์คน สร้างความไม่เท่าเทียม ฯลฯ บ่นว่า ว่าการใช้แอป ให้มีการคัดกรองคนเข้าสถานที่ เป็นการไม่ยุติธรรม ปฏิบัติกับแต่ละคนไม่เท่าเทียม (ไม่คัดกรองแล้วจะตามตัวอย่างไร ถ้าคนๆ นั้นเกิดเป็นคนที่แพร่เชื้อตัวพ่อตัวแม่)

หรือเราอยากจะให้คนติดเชื้อ ก็มีสิทธิ์ที่จะไปสนามมวย ไปกินหมูกะทะ ไปกินชาบู กินสุกี้แบบเท่าเทียมกันสุดๆ ไปเลยหรือไม่ก็เปิดเลยไหม อิสระเลย ใครไปไหนทำอะไรก็ได้ตามใจ เท่าเทียมกันหมดแบบเหมือนมันไม่มีการแพร่ระบาด

แล้วตกลงพวกเรา สังคมเรา เพื่อนฝูงพี่น้องเราจะดำเนินมาตรการ “ควบคุม” หรือ "ไม่ควบคุม" การระบาดของโรค อย่าลืมนะครับว่าถึงตอนนี้เรายังไม่มีวัคซีนมาป้องกัน

อย่าให้ใครต่อใครมากล่าวว่าสังคมไทยพัฒนายาก เพราะมีคนจ้องมองหาปัญหาในทุกทางออกที่มีใครก็ตามเสนอมากมาย (พวกกลอนพาไปก็เยอะ) วิพากษ์วิจารณ์โจมตีมากจน เวลานี้จะเหลือคนทำงาน คนที่ตั้งใจที่มุ่งมั่นหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ที่สังคมต้องเผชิญอยู่น้อยลงไปทุกที สุภาษิตไทยที่ว่า "ปากจะพาจนก็คราวนี้แหละ"

คำพูดที่เจ็บปวดใจตอนที่คนประเภทสร้างปัญหาที่มักจะพูดคือ ผม (ฉัน) ไม่ได้ติดเชื้อนี่นา ทำแค่นี้ไม่เห็นจะเป็นไร แต่พอมีเรื่องขึ้นมาจริงๆ ก็จะมาตีหน้าเศร้า คอตก ไม่กล้าสบตาแล้วก็พูดว่า ต้องขอโทษทุกๆ คน ผม (ดิฉัน) รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มันเป็นเช่นนี้อยู่ร่ำไป วนซ้ำซาก ถ้าวันนี้เราท่านทุกคนยังคิดไม่ได้ ไม่ช้าไม่นานเราท่านทุกคนจะเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิด

วินัยเพราะกลัวติดเชื้อ พอผ่อนปรนก็มีคนบางจำพวกทำเป็นไม่เข้าใจ... เดี๋ยวได้เริ่มต้นใหม่... เศรษฐกิจจะหายนะมากกว่านี้

ขอบคุณมดงานที่อยู่ข้างหลังภาพความสำเร็จที่ทำให้เราบอบช้ำน้อยกว่าหลายๆประเทศมา  ณ โอกาสนี้ด้วยความเคารพครับ