posttoday

เราจะมีสุขใน ยุค "อปกติ" ที่ต้องคุ้นชินให้ได้อย่างไร

27 เมษายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 17/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ทุกสิ่งที่เกิด ล้วนมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

สิ่งใดที่เกิดขึน สิ่งนั้นย่อมดีทั้งสิ้น

อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล

เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเป็นความจริง

ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ

ทุกสิ่งล้วน เกิดมา ตั้งอยู่ เสื่อมลง ดับไป

ความประมาท เป็นหนทางสู่ความตาย

คาถาการบริหารเงิน ฝากออมสิน ฝังดินไว้ ใช้หนี้เก่า ให้เขากู้ ทิ้งสู่เหว

และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นคติคิดในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้คนมากบ้าง น้อยบ้างก็ได้นำเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน หากแต่ในช่วง อปกติ ที่ไวรัสซึ่งเป็นเชื้อโรคที่อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องมาอยู่กับสิ่งมีชีวิต และได้ทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ตนเองอาศัยอยู่จนถึงแก่ความตาย

หากเรามองแบบที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI) ได้พูดไว้น่าสนใจคือ มนุษย์อยู่ในระบบนิเวศน์แล้วก็ทำลายระบบนิเวศน์เสียยับเยิน โลกร้อนขึ้น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุมา ไฟป่า และควันพิษ มนุษย์ก็ยังไม่หยุดการทำลาย ซ้ำร้ายยังพยายามแพร่พันธุ์ ให้มากขึ้น บริโภคมากขึ้น กระตุ้นการทำลายมากขึ้น โดยไม่สนใจว่าระบบนิเวศน์จะพังทลายและย้อนมาทำลายตัวเอง

ซึ่งมันก็เหมือนกับไวรัส ที่ต้องการความอยู่รอด มองหาระบบนิเวศน์สำหรับตน และพบว่าในสัตว์ ในร่างกายของคนเราคือระบบนิเวศน์ของเขา เมื่อเขาเข้ามาโดยการเกาะติดเซลล์ของตัวเรา จากนั้นก็พากันไปยังจุดที่เขาต้องการจะอยู่ พออยู่ได้ เขาก็ต้องการแพร่พันธุ์ แตกตัว กระจายตัว เพิ่มจำนวน ทำลายล้างระบบนิเวศน์ที่เขาชอบอยู่คือปอดมนุษย์ ผลคือมนุษย์ก็ต้องตาย ไวรัสที่อยู่ด้วยก็ต้องตายไปเหมือนกัน

ดังนั้นการดิ้นรนเพื่อการมีชีวิต กับความต้องการแพร่เผ่าพันธุ์จึงน่าจะเป็นปฐมเหตุของหลายสิ่งที่เกิดขึ้น ที่เขียนเล่ามาทั้งหมดก็เพื่อเกริ่นนำว่า สิ่งที่ยังทำให้มนุษย์รอด และคงจะรอดต่อไปคือการความสามรถในการปรับตัวเริ่มจาก ปรับใจ ปรับความคิด ปรับวิธีการดำเนินชีวิต และต้องปรับมุมมองของตัวเองกับมนุษย์คนอื่นและระบบนิเวศน์ที่ตนเองอยู่อาศัย

เมื่อเราทุกคนซึ่งเป็นมนุษย์ที่ยังอยู่ในสังคมเศรษฐกิจ เราคงไม่สามารถเก็บกักตัวเองได้ตลอดไป การอยู่รอดแบบตัวกู ของกู ไม่สนคนอื่นคงยาก เมื่อเวลาของการเปิดเมือง เปิดให้ค่อยๆ ดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงกับการใช้ชีวิตก่อน COVID-19 จะมาห้ำหั่นจนทุกวันนี้ จะเกิดความท้าทายในระบบย่อยๆในระบบเศรษฐกิจใหญ่ในหลายเรื่องเช่นที่ผู้เขียนขอนำมายกเป็นตัวอย่าง

1. ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์เพื่อสร้างรายได้ มันจะได้ต่ำกว่าเดิมหรือไม่เช่น ร้านอาหารเดิมเคยมี 40 โต๊ะ กินกันแบบเบียดเสียด แต่ในอนาคตถ้าเปิดเมืองจะต้องนั่งห่างๆ กันซึ่งอาจจะเหลือ 20 โต๊ะ ในพื้นที่เดียวกัน รายได้ก็จะน้อยลง แต่รายจ่ายจะบริหารงานอย่างไร จำนวนพนักงานจะลดลงไปหรือไม่ ลดแล้ว เลิกจ้างเขาแล้ว เขาเหล่านั้นจะไปทำอะไร ที่ไหนได้อีก การว่างงานโดยรวมจะเพิ่มสูงทุกหนแห่งหรือไม่ ว่างงานมากๆ ปัญหาสังคมจะเพิ่มมากหรือไม่ ต้นทุนในเรื่องความปลอดภัยจะเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ลองคิดดู

2. การให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพจะมีมากขึ้นหรือไม่ ความสะอาด การประพฤติตนเอง สุขอนามัย สุขบัญญัติ กินร้อน ช้อนกู แยกห่างกันอยู่ ตัวกูจึงรอด การปฏิบัติตัวที่จะนำไปสู่สุขภาพที่แข็งแรง เช่น ไม่อ้วน กินน้อย ออกกำลังกายมาก นอนพักผ่อนให้พอ จะกลายเป็นวิถีของคนที่ปรับตัว เหตุเพราะกลัวตาย อีกทั้งยังอยากใช้ชีวิต ใช้เงินทอง ทรัพย์สินที่ตัวเองหามาได้ไปอีกระยะหนึ่ง การให้ความร่วมมือกับแพทย์แบบที่เรียกว่า "เชื่อหมอ แล้วเราจะรอด" ได้พิสูจน์มาแล้ว ชีวิตสำคัญกว่าเศรษฐกิจ หรือการคิดถึงชีวิตคนอื่นเพราะปัญหาจากคนอื่นถ้าเขาไม่รอด เราก็อาจจะไม่รอดก็ได้ และชีวิตที่ต้องรอความหวังว่าวัคซีนจะมาในเร็ววัน ซึ่งมันก็เร็วไม่ได้อย่างที่ใจเราคิด ดังนั้นสุขภาพดี ไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง จะกลายเป็นวิถีของคนปรับตัว คนกลัวตาย คนที่จะอยู่รอดต่อไป

3. การบริหารจัดการทางการเงิน ภายใต้สถานการณ์ที่เรียกว่า จู่ๆ รายได้ก็หายไป หายไปแบบทำอะไรไม่ได้ หายไปแบบไม่มีทางรู้เลยว่าจะได้กลับมาวันไหน หายไปแบบทั้งที่มีความรู้ความสามารถแบบเดิม พร้อมทำงาน พร้อมทำธุรกิจ แต่ต้องหยุดอยู่บ้าน หยุด (แพร่) เชื้อ เพื่อชาติ สิ่งที่เรียกว่า "Income shock" ก็เกิดขึ้น ในขณะที่ตัวเองได้ก่อหนี้ทั้งที่ก่อเพราะความจำเป็นหรือก่อเพราะความอยาก มันคือภาระที่ต้องจ่ายตามสัญญา สิ่งที่บอกกันมาแบบพูดปากจะฉีกถึงหู ที่ไม่เคยผ่านเข้าไปในความคิดและพฤติกรรมที่บอกว่า ต้องมีเงินออมอย่างน้อย 6 เท่าของรายจ่ายประจำเดือน ไม่เคยคิดจะทำ ใช้จ่ายไปเพราะ "ของมันต้องมี" มาวันนี้ถึงได้รู้สัจธรรม เหตุเพราะจะแปรเปลี่ยนกระเป๋า รองเท้า มาเป็นสิ่งของอันจำเป็นในชีวิตไม่ทัน ได้แต่รันทดกับพฤติกรรมของตัวเราเองในอดีต ในวันข้างหน้าหากผ่านเหตุการณ์วันนี้ไปแล้วยังคิดไม่ได้ ก็จะได้เจอสิ่งที่ไม่คาดคิด เพราะเรายังไม่รู้ว่าจะเจอกับ COVID-25 อีกหรือไม่ ผู้เขียนเชื่อว่า การสร้างเงินออมจะเป็นวัคซีนป้องกันภัย Income shock ในอนาคตอย่างแน่นอน

หากเราอยากได้สิ่งที่มันไม่มี

เราก็ต้องสร้าง ต้องทำสิ่งที่ไม่เคยทำ

แต่ในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค “อปกติสุข" คืออยู่กับความผิดปกติอย่างมีความสุขก็คือ ใส่หน้ากาก อย่าอ้วนให้ผอมเข้าไว้ กินพอดี ออกกำลังกายให้มาก นอนพักให้พอ กินร้อน ช้อนกู ห่างกันสุดกู่ อยู่ด้วยการออนไลน์ อย่าทำลายบ้านเมืองด้วย Fake news

ขอบคุณมากครับ