posttoday

เลือก SSF Extra ต้องดูอะไรบ้าง

22 เมษายน 2563

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย... ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPTศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

กองทุน SSF (Super Savings Fund) นั้นเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้นทดแทนกองทุน LTF และในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ครม. มีมติให้จัดตั้งกองทุน SSFX (Super Savings Fund Extra) ออกมา เพื่อช่วยส่งเสริมให้มีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้นโดยให้ผู้ลงทุนใช้สิทธิลดหย่อนได้เพิ่มเติมสูงสุด 2 แสนบาทมีเงื่อนไขต้องลงทุนภายใน 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึง 30 มิ.ย. 2563 และต้องถือหน่วยลงทุนจนครบ 10 ปีเต็ม (นับวันชนวัน) เนื่องจากกองทุน SSFX มีข้อกำหนดว่า กองทุนต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนดังนั้นผู้ลงทุนที่จะเลือก SSFX มาเป็นเครื่องมือการเก็บออมนั้นควรสามารถรับความเสี่ยงได้สูง เนื่องจากราคาหุ้นจะมีความผันผวนในระยะสั้น อีกทั้งควรนำปัจจัยด้านอื่นมาประกอบการตัดสินใจก่อนลงทุนดังต่อไปนี้

สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขทางภาษีที่เราจะใช้

กองทุน SSFX นั้น เหมาะกับผู้ที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกลุ่มการลงทุนเพื่อการเกษียณ ได้แก่ SSF ปกติ, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), ประกันบำนาญและเงินสะสม กบข. รวมกันเต็มสิทธิ 5 แสนบาทแล้ว วงเงินลดหย่อนพิเศษของ SSFX จะสามารถนำมาลดหย่อนเพิ่มเติมได้อีก 2 แสนบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนกลุ่มนี้สามารถประหยัดภาษีได้มากขึ้น แต่หากเป็นผู้ลงทุนที่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการลงทุน SSFX กับ RMF อาจพิจารณาจากอายุของตนเอง เช่น ปัจจุบันอายุ 50 ปี การลงทุนใน SSFX นั้นจะต้องถือหน่วยลงทุนระยะเวลา 10 ปี จะได้ขายหน่วยได้เมื่ออายุ 60 ปี แต่หากลงทุนใน RMF จะใช้เวลาถือหน่วยลงทุนเพียง 5 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปี จึงสามารถขายหน่วยลงทุนออกมาได้ จะเห็นได้ว่าระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุนขึ้นอยู่กับอายุของผู้ลงทุนเองด้วย

เลือกนโยบายตามที่ต้องการ

สำหรับสไตล์การลงทุนของ SSFX นั้นมีให้เลือกหลายหลายไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์การบริหารแบบเชิงรับ (Passive Management) ที่พยายามทำผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงกับ SET Index ให้มากที่สุด, นโยบายลงทุนบริหารแบบเชิงรุก (Active Management) มีผู้จัดการกองทุนคอยจับจังหวะซื้อขายทำกำไรให้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว, นโยบายแบบลงทุนในบริษัทที่ใส่ใจดูแล สิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล (ESG: Environmental, Social and Governance) อีกทั้งมีให้เลือกนโยบายการลงทุนแบบผสมเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง โดยกองทุนอาจมีหุ้นไทยมากกว่าร้อยละ 65 และส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนใน ตราสารหนี้ เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

เลือก SSF Extra ต้องดูอะไรบ้าง

รวบรวมข้อมูลโดย ศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข.

อย่าลืมดูค่าธรรมเนียม

ในหนังสือชี้ชวนของกองทุน (Fund Fact Sheet) จะมีหัวข้อ ค่าธรรมเนียม ซึ่งชี้แจงค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จะเก็บจากผู้ลงทุน โดยทั่วไปกองทุน SSFX จะยกเว้นค่าธรรมเนียมส่วนนี้ แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายที่เก็บจากกองทุนอยู่ แนะนำให้ผู้ลงทุนพิจารณาเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) ของแต่ละกองทุน สำหรับกองทุน SSFX ที่เป็นกองทุนแบบอิงดัชนีจะมีค่าธรรมเนียมการจัดการต่ำ โดยอาจอยู่ที่ปีละ 0.5% ไปจนถึง 0.9% ต่อปีขึ้นอยู่กับแต่ละ บลจ. แต่ในกรณีของกองทุน SSFX ที่บริหารการลงทุนแบบเชิงรุกอาจมีค่าธรรมการจัดการถึงปีละ 2.7% และควรดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของกองทุน ซึ่งจะรวมค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมนายทะเบียนเข้าไปด้วย ทั้งนี้ผู้ลงทุนต้องไม่ลืมว่าค่าธรรมเนียมที่ประหยัดได้ก็คือผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับเพิ่มขึ้นนั่นเอง

กองทุน SSFX ไม่จำเป็นที่จะต้องขายเมื่อถือครบกำหนด 10 ปี ผู้ลงทุนสามารถเลือกถือหน่วยลงทุนต่อไปได้จนกว่าจะพอใจในผลตอบแทนจากการลงทุนหรือขายเมื่อมีความต้องการที่จะใช้เงินและด้วยระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุนที่ยาวนานนี้ ผู้ลงทุนต้องมั่นใจว่ามีเงินสำรองไว้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ

สำหรับสมาชิก กบข. ที่ต้องการสอบถามรายละเอียดการลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือปรึกษาเรื่องการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ สามารถนัดหมายศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. ได้ที่ My GPF Applicationเมนู “นัดหมายบริการข้อมูลการเงิน” หรืออีเมล[email protected]