posttoday

ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาต่อไป

17 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 31.00-31.50 ประเมินว่าตลาดจะยังคงให้ความสำคัญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาต่อไปเนื่องจากจีนยังรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านปัจจัยของตัวเลขเศรษฐกิจจะกดดันแนวโน้มค่าเงินบาทเช่นกัน โดยในวันจันทร์รายงานจีดีพีในไตรมาสที่ 4 ของไทยที่อาจอ่อนแอกว่าในไตรมาสก่อนหน้ามากจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ โดยตลาดคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 2014

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์จะมีการรายงานตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 4 เช่นกัน ด้านนโยบายการเงินในช่วงสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียและจีนจะมีการตัดสินดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางออสเตรเลียจะมีรายงานบันทึกการประชุมนโยบายการเงินที่ผ่านมา

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาท เงินบาททยอยแข็งค่าตลอดสัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ตอบสนองต่อประเด็นความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาผ่อนคลายลงบ้างหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์หลังจากที่ทางการจีนรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากถึง 14,840 รายในมณฑลหูเป่ยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาจากผลของการปรับปรุงวิธีการพิจารณา โดยในวันที่ 13 ก.พ. รายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 4,823 ราย ทำจำนวนผู้ติดเชื้อในมณฑลหูเป่ยอยู่ที่ 51,986 ราย ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าและเงินหยวนอ่อนค่าลง ส่วนเงินบาทอ่อนค่าลงมาปิดตลาดที่ 31.155 (เวลา 17.30น.)ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังเคลื่อนไหวทรงตัวอยู่ในกรอบใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยประเด็นที่นักลงทุนให้การติดตามยังคงเป็นเรื่องของผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยในช่วงท้ายสัปดาห์ทางการจีนรายงานการปรับวิธีคำนวณจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้คุณเจอโรม โพเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ให้ความเห็นว่าการแพร่ระบาดดังกล่าวมีแนวโน้มสูงที่จะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบ อย่างไรก็ดีคุณโพเวลไม่ได้ส่งสัญญาณว่าสถานการณ์ดังกล่าวกระทบจุดยืนต่อการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะทรงตัวที่ระดับปัจจุบันตลอดทั้งปี

ขณะที่ฝั่งของสหราชอาณาจักรมีการประกาศตัวเลขจีดีพี ไตรมาสที่ 4 ปี 2019 ไม่ขยายตัว และสำหรับทั้งปี 2019 เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรขยายตัว 1.4% เร่งขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 1.3% ส่วนทางด้านยูโรโซนมีการประกาศตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนหดตัวสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี โดยหดตัว 2.1%MoM ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว 2.0%MoM ทั้งนี้แม้การลงนามในข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเดือนมกราคมส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในยูโรโซนดีขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นความเสี่ยงใหม่ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนผ่านทางห่วงโซ่การผลิตกับจีน

สำหรับปัจจัยในประเทศต่อจากนี้นักลงทุนคงต้องติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะประกาศออกมาว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนามากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ธปท. ออกมาคาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2563 อาจโตต่ำกว่า 2% โดยประเมินว่าการส่งออกจะหดตัว และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปกว่า 5 ล้านคน หรือสูญเสียรายได้กว่า 2.5 แสนล้านบาท (1.5% ของจีดีพี) ทำให้คาดว่าจีดีพีไทยไตรมาสที่ 1 อาจขยายตัวไม่ถึง 1% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นเหตุผลสนับสนุนให้นักลงทุนยังคงเลือกถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลต่อไป โดย ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.98% 0.92% 0.94% 1.03% 1.10% และ 1.21% ตามลำดับ

ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาต่อไป

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 2,013 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 358 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,371 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ