posttoday

ตลาดหุ้นฟื้นตัวหลังความกังวลไวรัสโคโรนาเริ่มคลี่คลาย แต่ต้องระวัง 2 ปัจจัยเสี่ยงในไตรมาส 2

18 กุมภาพันธ์ 2563

บทความโดย...คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

ตลาดหุ้นในช่วงต้นปีปรับฐานจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่กดดันเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ดีเราเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากราว 3-4 พันคนต่อวันในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. มาอยู่ที่ราว 1,600 คน ต่อวัน ณ วันที่ 11 ก.พ. โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่ลดลงต่อเนื่องชี้ว่ามาตรการปิดเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. เริ่มประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคภายหลังจากระยะเพาะเชื้อ 14 วันผ่านไป การชะลอตัวลงของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่นับเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดหุ้น เนื่องจากในช่วงที่เกิดการระบาดของโรค SARS ในปี 2003 ตลาดหุ้นก็ได้กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเดียวกับที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มแนวโน้มลดลงเช่นกัน

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาก็ยังช่วยสนับสนุนการ Rebound ของตลาดหุ้น หลังจากสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงการค้า Phase 1 ได้สำเร็จและทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการส่งออกจีนที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ในเดือน ธ.ค. รวมไปถึงสัญญาณการฟื้นตัวในภาคการผลิต ที่ดัชนี ISM Manufacturing ของสหรัฐฯ ซึ่งกลับมาอยู่ในระดับเกิน 50 จุด ในเดือน ม.ค.ซึ่งเป็นระดับที่ชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ขาขึ้นของตลาดหุ้นในรอบนี้นั้นอาจไม่ยืนยาวนัก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยง 2 ประการที่อาจกลับมากดดันตลาดในช่วงไตรมาส 2 ดังนี้

ประการแรก ได้แก่ความนิยมของนาย Bernie Sanders หนึ่งในผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรค Democrat ที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้น เนื่องจากนโยบายที่กดดันภาคธุรกิจ เช่น การเสนอให้ขึ้นภาษีนิติบุคคล และภาษีบุคคลธรรมดา รวมถึงเพิ่มภาษีจากรายได้จากการลงทุน (Capital Gain Tax) เพื่อนำเงินไปอุดหนุนสวัสดิการสังคม เช่น บริการสุขภาพ (Medicare-for-All) รวมไปถึงการเสนอให้มีการปฏิรูปธนาคารกลาง (Fed) ซึ่งอาจเพิ่มความไม่แน่นอนต่อนโยบายการเงิน โดยในช่วงนี้ตลาดจะจับตามองกระบวนการคัดเลือกตัวแทนพรรค Democrat เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือน ก.พ. โดยสมาชิกพรรค Democrat จะทยอยเลือกตัวแทนไล่ไปจนครบทุกรัฐ และประกาศชื่อผู้ชนะเป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ค.

การเลือกตัวแทนมีขึ้นไปแล้ว 2 รัฐ ได้แก่ รัฐ Iowa และ New Hampshire ผลชี้ว่าผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่ม Anti-establishment เช่น นาย Pete Buttigieg และ Bernie Sanders ได้รับความนิยมสูง ในขณะที่ผู้สมัครที่มีภาพลักษณ์เป็นนักการเมืองมืออาชีพและเป็นสมาชิกพรรคมาอย่างยาวนาน อย่าง Elizabeth Warren และ Joe Biden นั้นได้รับความนิยมต่ำกว่าคาดเป็นอย่างมาก ผลคะแนนของรัฐ Iowa และ New Hampshire น่าจะยิ่งเพิ่มความนิยมของนาย Sanders ซึ่งขึ้นมามีความนิยมนำอยู่เป็นอันดับ 1 ในโพลทั่วประเทศ แซงหน้านาย Biden ซึ่งความนิยมลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลัง

ประการที่ 2 ได้แก่ ความเสี่ยงจากการถอนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของ Fed ซึ่งอาจจุดชนวนให้เกิดการเทขายหุ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับขนาดงบดุลของ Fed ค่อนข้างมาก โดย Fed ได้กลับมาอัดฉีดสภาพคล่องตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องตึงตัวในตลาดเงิน (Money Market) ซึ่งในช่วงเริ่มต้น Fed ได้อัดฉีดสภาพคล่องเป็นจำนวนมากถึง $162bn ในเดือน ต.ค. ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขนาด Balance Sheet ที่มากที่สุดในรอบ 1 เดือน นับตั้งแต่ช่วงวิกฤต Subprime

ตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับขนาดงบดุลของ Fed ค่อนข้างมาก ซึ่งเห็นได้จากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลกในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันกับการกลับมาอัดฉีดสภาพคล่องของ Fed ในเดือน ก.ย. ดังนั้น ตลาดจึงกำลังจับตาท่าทีของ Fed อย่างใกล้ชิดว่าจะถอนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องออกเมื่อใด

หากพิจารณาในแง่ความจำเป็น การอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากนั้นดูจะเริ่มมีความจำเป็นน้อยลง หลังจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน เริ่มลดลงสู่ระดับปกติตั้งแต่เดือน ม.ค. ซึ่งเป็นเครื่องชี้ว่าปัญหาสภาพคล่องในตลาดเงินในสหรัฐฯ นั้นได้คลี่คลายลงไปแล้ว

แม้ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อเดือน ม.ค. Fed จะยังระบุว่าจะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้น (Treasury bills) ไปจนถึง เม.ย. เป็นอย่างน้อย แต่หากดูงบดุลของ Fed ในช่วงหลังก็จะเห็นว่า Fed ได้เริ่มทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องไปแล้วบางส่วน ซึ่งหาก Fed ประกาศชัดเจนว่าจะหยุดอัดฉีดสภาพคล่องเมื่อใด ตลาดหุ้นที่ถูกขับเคลื่อนด้วยสภาพคล่องเป็นหลัก ก็มีความเสี่ยงที่จะปรับฐานตามไปด้วย

ดังนั้น ในเชิงกลยุทธ์ เราแนะนำให้นักลงทุนทยอยขายทำกำไร และปรับพอร์ตมาถือเงินสดเพิ่มขึ้น เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะเข้ามากดดันตลาดในช่วงไตรมาส 2