posttoday

จะเลือกกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนที่เหมาะสมอย่างไรดี? (ตอนจบ)

03 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

เรื่อง จะเลือกกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนที่เหมาะสมอย่างไรดี? (ตอนจบ)

โดย พิชญ ฉัตรพลรักษ์

กองทุนบัวหลวง

......................................

บทความนี้เป็นตอนจบในการนำเสนอกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งต่อจากบทความในครั้งก่อนที่นำเสนอไปแล้ว 4 กลยุทธ์ โดยกลยุทธ์ในรูปแบบต่างๆ ได้ถูกคิดค้นขึ้น เพื่อตอบสนองต่อมุมมองและเงื่อนไขความต้องการของนักลงทุนที่มีความหลากหลาย เพื่อให้นำมาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ ดังนี้

5. กลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนแบบสมดุลตามอายุ (Life-cycle or Target Date Asset Allocation) เป็นการที่แสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment) ที่สูงที่สุด โดยคำนึงถึงปัจจัย เป้าหมายผลตอบแทน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และอายุของนักลงทุน อย่างไรก็ดีวิธีการนี้จะค่อนข้างซับซ้อน และกองทุนที่มีเสนอขายทั่วไปจะเป็นแบบมาตรฐานซึ่งอาจไม่ตรงกับลักษณะเฉพาะของนักลงทุนแต่ละคน

6. กลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนแบบมีประกัน (Insured Asset Allocation) เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ค่อนข้างจะมีความกังวลหรือไม่ชอบความผันผวนหรือความเสี่ยงมากนักและต้องการการบริหารแบบเชิงรุกในระดับหนึ่งเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทน โดยจะกำหนดมูลค่าสินทรัพย์หรืออัตราผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ เมื่อใดที่มูลค่าหรือลตอบแทนจากการลงทุนลดต่ำลงจนใกล้เคียงหรือต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้ ก็จะมีการดำเนินการตามความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนความเสี่ยงให้ลดลง เช่น นำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นๆ เป็นต้น

7. กลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนแบบพลวัต (Dynamic Asset Allocation) จะเป็นการปรับเปลี่ยนสัดส่วนเงินลงทุนในแต่ละประเภทสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ตามภาวะตลาดและภาวะเศรษฐกิจ (Market Dependent Strategy) โดยการขายหรือลดสัดส่วนสินทรัพย์เมื่อราคาหรืออัตราผลตอบแทนลดน้อยลง และซื้อหรือเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเมื่อราคาหรืออัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์ที่ตรงข้ามกับกลยุทธ์คงสัดส่วนการจัดสรรเงินลงทุน แต่ถ้าตลาดมีความผันวนขึ้นลงสูง โอกาสที่จะเกิดผลในทางตรงข้าม คือ ซื้อแพง-ขายถูก จะมีมากขึ้น

8. กลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนแบบบูรณาการ (Integrated Asset Allocation) กลยุทธ์นี้รวมวิธีการต่างๆ ของกลยุทธ์ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ได้แก่ การคาดการณ์ภาวะตลาดและภาวะเศรษฐกิจ และการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลาเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี กลยุทธ์นี้ไม่สามารถรวมกลยุทธ์ที่มีความแตกต่างแบบตรงกันข้ามกัน ระหว่างกลยุทธ์คงสัดส่วนการจัดสรรเงินลงทุนและกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนแบบพลวัตได้

จะเห็นได้ว่า กลยุทธ์ในการจัดสรรเงินลงทุนมีให้เลือก ทั้งที่เป็นแบบเชิงรุกในหลากหลายระดับ ไปจนถึงแบบเชิงรับอย่างเต็มรูปแบบ สามารถเลือกใช้เพียงกลยุทธ์เดียวหรือหลายกลยุทธ์ผสมกันก็ได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้เข้าใจว่า การปรับสัดส่วนผสมการลงทุนให้สอดคล้องกับภาวะตลาด (Market Timing) ต้องการความเชี่ยวชาญในระดับที่สูงมาก การมองตลาดได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ท่านต้องแน่ใจว่า กลยุทธ์ที่เลือกใช้ต้องไม่สร้างความเสียหายที่มากเกินไปอันเกิดจากความผิดพลาดที่มองไม่เห็น