posttoday

ถ้าไม่จดทะเบียนสมรส ชีวิตเป็นยังไง

15 เมษายน 2560

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CFP

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CFP

เราคุยกันไปแล้วเกี่ยวกับสินสมรสและหนี้สมรส สรุปง่ายๆ ก็คือ จะแต่งงานจดทะเบียนทั้งทีหาคู่สมรสที่ไม่มีหนี้จะดีกว่า แม้ความรักจะสำคัญและความมั่นคงทางการเงินก็สำคัญไม่แพ้กัน งั้นทำไงดี หากดันไปรักคนที่มีหนี้เยอะซะแล้ว ไม่จดทะเบียนสมรสจะดีกว่าไหม

งั้นเรามาดูกันนะครับว่า ถ้าการอยู่กินกันแบบสามีภรรยาโดยที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีผลทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เมื่อไม่จดทะเบียนสมรส สินสมรสก็จะไม่มี หนี้สมรสก็จะไม่มีด้วยเช่นกัน แต่เมื่อมีการทำมาหากินสร้างรากฐานชีวิตร่วมกัน ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา ถ้าหากเกิดจากการร่วมกันทำมาหากิน แบบนี้ทางกฎหมายเรียกว่า “กรรมสิทธิร่วม หรือหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน”

ดังนั้นจึงต้องแบ่งทรัพย์สินของแต่ละฝ่ายนั้นคนละครึ่งๆ อย่างละเท่าๆ กันครับ พูดง่ายๆ ก็คือ กฎหมายมองการทำมาหากินร่วมกันฉันสามีภรรยาเป็นแบบเดียวกับการเป็นหุ้นส่วนทำธุรกิจทั่วไปครับ

สังเกตนะครับ กฎหมายบอกว่าทรัพย์สินต้องเกิดจากการร่วมกันทำมาหากิน ถึงจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนหาฝ่ายเดียว ทรัพย์สินก็จะเป็นของฝ่ายนั้นไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมครับ ตัวอย่างเช่น ฝ่ายชายออกไปทำงานแต่ฝ่ายหญิงนั้นอยู่บ้านเลี้ยงดูบุตรแต่อย่างเดียว แบบนี้ถือว่าฝ่ายหญิงไม่ได้ร่วมกันทำมาหากินและไม่มีส่วนร่วมในการก่อร่างสร้างตัว จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่ฝ่ายชายหามาได้ เพราะฝ่ายหญิงนั้นไม่ได้เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ร่วมกันทำมาหากิน หญิงจึงไม่มีสิทธิใดๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ครับ

แล้วกรณีของลูกที่พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ตามกฎหมายแล้วลูกคนนั้นจะมีสิทธิในทรัพย์สินของพ่อหรือแม่หรือไม่เรามาดูกันครับ

ในส่วนของแม่นั้น โดยธรรมชาติแม่เป็นคนคลอดลูก ดังนั้นไม่ต้องพิสูจน์ความเป็นแม่ลูก ลูกจึงย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาโดยทันที มีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างแม่กับลูก โดยแม่ไม่ต้องจดทะเบียนหรือทำการรับรองบุตรแต่อย่างใด แต่ในส่วนของพ่อนั้น ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรส ลูกก็จะไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อ ยกเว้นพ่อจะจดทะเบียนรับรองบุตร หรือหากว่าบิดาให้ใช้นามสกุล หรือเลี้ยงดูแบบเปิดเผยประกาศแก่คนรอบข้าง ส่งเสียเรื่องการศึกษาค่าเล่าเรียน หรือ ระหว่างท้องอยู่นั้นได้พาภรรยาไปฝากท้อง หรือเป็นผู้แจ้งในสูติบัตรว่าตนเป็นบิดา แบบนี้ถือได้ว่าบิดาได้ทำการรับรองบุตรโดยพฤตินัย แต่จะให้ดีใช้วิธีจดทะเบียนรับรองบุตรจะดีกว่า ไม่ต้องมาพิสูจน์ให้ยุ่งยาก

เมื่อพ่อมีการรับรองบุตร ลูกก็ย่อมมีสิทธิรับมรดกหรือทรัพย์สินของผู้เป็นพ่อแบบทายาทโดยธรรมได้ทุกประการครับ

เคยพบกรณีนึงครับ ฝ่ายหญิง (สมมติชื่อ เอ นะ) ไม่ได้จดทะเบียนสมรส โดยฝ่ายชายซื้อบ้านหลังหนึ่งใส่ชื่อฝ่ายชายเป็นเจ้าของ ตอนหลังฝ่ายชายประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ถึงมาทราบตอนนั้นว่าฝ่ายชายจดทะเบียนสมรสกับหญิงอีกคนหนึ่งไว้ โดยตอนที่ฝ่ายชายเสียชีวิต เอ ก็ตั้งท้องลูกด้วย ประเด็นที่สงสัยก็คือ ลูกในท้องจะมีสิทธิได้รับมรดกจากพ่อหรือไม่ และเอ มีสิทธิในทรัพย์สินของสามีหรือไม่

ประเด็นเรื่องลูกในท้องก่อนครับ เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ถ้าสามารถพิสูจน์ได้อย่างข้างต้น เช่น พาภรรยาไปฝากท้อง ฯลฯ แต่ที่สำคัญเด็กต้องเกิดมาภายใน 310 วันหลังการสมรสเลิกจากกันด้วย เหตุที่กฎหมายกำหนด 310 วันนั้นเนื่องมาจาก ระยะเวลา 310 วัน เป็นระยะเวลาที่นานที่สุดที่ทารกจะสามารถอยู่ในท้องของแม่ได้ ดังนี้ หากเด็กเกิดภายใน 310 วันนับแต่วันที่การสมรสเลิกจากกัน

ไม่ว่าจะเลิกจากกันด้วยเหตุแห่งความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน และรวมถึงเลิกจากกันเมื่อมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ กฎหมายให้สันนิษฐานว่า เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของพ่อ แต่เดี๋ยวนี้ง่ายมากครับในการพิสูจน์เพราะสามารถตรวจดีเอ็นเอ ได้ครับ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเด็กในท้องเป็นลูกของฝ่ายชาย เด็กในท้องก็มีสิทธิได้รับมรดกจากพ่อในฐานะทายาทโดยธรรมครับ

ส่วนกรณีบ้านของ เอ จะถือเป็นสินสมรสของภรรยาที่จดทะเบียนหรือไม่ กรณีนี้ถือเป็นสินสมรสครับ แม้ว่าชื่อที่ปรากฏในเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของจะเป็นของฝ่ายชายคนเดียว ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้สินสมรสกลายเป็นสินส่วนตัว เพราะกฎหมายกล่าวว่า ถ้ากรณีที่สงสัยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ฝ่ายที่เถียงว่าไม่ใช่ ต้องมีภาระหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ กรณีนี้ เอ คงลำบากครับ

แล้ว เอ จะมีสิทธิในทรัพย์มรดก ก็คงไม่ได้ครับ เพราะ เอ ไม่ใช่ภรรยาที่จดทะเบียนจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกครับ เว้นแต่ว่าฝ่ายชายจะมีการเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ไว้ก่อนตาย

สรุป ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรส แทบไม่มีสิทธิอะไรในทรัพย์สินของคู่สมรสเลย แนะนำจดทะเบียนดีกว่าหรือหากไม่อยากจด ทำพินัยกรรมไว้ดีกว่า แต่อย่างว่าครับ พินัยกรรมแก้ไขง่ายมาก และกฎหมายจะยึดถือฉบับสุดท้ายเท่านั้น ก็คงต้องระวังอย่าให้มีการแก้ไขพินัยกรรมครับ

ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆ สำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจ ขอเชิญไปกด ไลค์ ได้ที่เพจ ในเฟซบุ๊ก ชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...ขอบคุณครับ