posttoday

Low beta, high benefits อีกทางเลือกลงทุน ...สำหรับคนกลัวหุ้น

28 มิถุนายน 2559

โดย บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ธนชาต

โดย บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ธนชาต

หลังกระแสดอกเบี้ย 0% ผ่านไป มีใครเริ่มคิดที่จะจัดการเงินที่ทิ้งไว้ในออมทรัพย์บ้างหรือยัง
 
หากกำลังคิด กำลังหาทางจัดการ หรือก็ปล่อยเงินไว้อย่างนั้น... ลองอ่านบทความนี้ก่อนแล้วค่อยตัดสินใจก็ได้ครับ
 
ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำมาก ผมเชื่อว่าเหตุการณ์นี้น่าจะทำให้ผู้ฝากเงินหลายคนเริ่มตระหนักได้ว่า มีความไม่คุ้มค่าอย่างยิ่งที่จะทิ้งเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์หากมีวัตถุประสงค์เพื่อออมเงินสำหรับอนาคต ไม่ใช่เพื่อการใช้จ่ายประจำ เพราะ ไม่ว่าจะฝากแบบออมทรัพย์หรือแบบประจำแบบที่ไม่มีโปรโมชั่นหรือเงื่อนไขพิเศษมักไม่คุ้มค่านัก
 
จริงอยู่ที่ภาวะดอกเบี้ยต่ำ และสภาพคล่องที่ล้นระบบ จัดเป็นภาวะชั่วคราว แต่ก็อย่าลืมว่าการที่เราจะกลับไปสู่ภาวะที่ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 5-8% นั้น  ภายใต้เศรษฐกิจแบบ New Normal นี้ น่าจะไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น เราเองต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีการเก็บเงิน จากเพียงแค่ฝากธนาคารเป็นเริ่มลงทุนหรือกระจายเงินออมในสินทรัพย์อื่นๆ บ้าง ซึ่งสำหรับผมหุ้นถือเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ หากเป็นการลงทุนในระยะยาว ซึ่งจะเห็นว่ายิ่งมีเวลาให้เงินอยู่กับหุ้นนานเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นก็มีสูงขึ้นตามไปด้วย
 
แต่แม้ว่าหลายคนจะเห็น หรือเคยเห็น เคยได้ยินมานานแล้ว ว่าการลงทุนหุ้นในช่วงระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่าง การฝากเงินหรือหุ้นกู้ แต่ก็ยังไม่มั่นใจ หรือยังไม่รู้จะทำใจลงทุนอย่างไร หรือบางคนก็ตั้งใจจะลงทุน แต่พอเริ่มลงทุนเห็นตัวเลขขาดทุนก็ทำใจไม่ได้ เปลี่ยนไปลงทุนตราสารหนี้แทน หรือบางรายก็หันไปฝากเงินเหมือนเดิม ไม่กลับมาลงทุนในหุ้นอีก

วันนี้ ผมขอเสนอทางเลือกในการลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำอย่าง Low Beta อีกครั้งหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ผู้ลงทุนที่ต้องการเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตลงทุน แต่ไม่ชอบให้หุ้นมีการเคลื่อนไหวของราคาสูงมากนัก

แล้วทำไมหุ้นในลักษณะนี้ ที่มีการเคลื่อนไหวของราคาไม่มากนัก ถึงมีผลตอบแทนที่น่าสนใจได้?

เพราะตามปกติเราจะได้ผลตอบแทนจากหุ้น ใน 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ กำไรจากราคาหุ้น (Capital Gain) และเงินปันผล (Dividend) และเราจะสังเกตได้ว่าหุ้นบางตัวแม้กำไรส่วนต่างจากราคาไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก แต่ก็มีความน่าสนใจตรงที่จ่ายปันผลในอัตราที่สูง และจ่ายอย่างสม่ำเสมอ

เพราะฉะนั้นแล้วที่ผมบอกว่า Low Beta, High Benefits แทนคำว่า High Return นั้นเพราะในช่วงที่หุ้นขึ้น ตามปกติตามทฤษฎีหุ้นในกลุ่มนี้จะทำผลงานได้ไม่ดีเท่า แต่ความน่าลงทุน คือ เมื่อตลาดหุ้นทำผลงานได้ไม่ดีหรือติดลบ หุ้นกลุ่มนี้มักติดลบน้อยกว่า หรือบางทีก็สามารถทรงตัวเป็นบวกอยู่ได้ เพราะด้วยลักษณะของกิจการมักจะเป็นกิจการที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็น กิจการที่มีลักษณะผูกขาด กิจการสัมปทาน หรือกิจการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะหาคู่แข่งยาก โดยถ้าเราลองดูผลตอบแทนหุ้นรายตัวที่ค่า beta ต่ำกว่า 1 เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นไทย จะพบว่าจริงๆแล้วผลตอบแทนหุ้นกลุ่มนี้น่าสนใจมากทีเดียวเราจะเห็นว่าในปีที่ที่ตลาดหุ้นไทยติดลบ หากลองคำนวณหุ้นที่มี beta ต่ำกว่า 1 แบบที่ลงทุนหุ้นทุกตัวในกลุ่มในสัดส่วนที่เท่ากัน จะทำผลงานได้ดีกว่า
 
สำหรับ บลจ.ธนชาต ก็มีกองทุนที่ลงทุนในหุ้นประเภท Low Beta อยู่เช่นกัน โดยมี 2 แบบหลักๆ  คือ T-LowBeta และ T-PrimeLowBeta ซึ่งแม้จะเป็นกองทุนสำหรับผู้ที่ชอบลงทุนในหุ้นที่ผันผวนต่ำ แต่ก็เหมาะกับนักลงทุนคนละแบบ

โดย T-LowBeta จะเหมาะกับผู้ที่คุ้นเคยกับการลงทุนมาสักพัก และอยากขยับมาลงทุนในหุ้น หรือเป็นคนที่ปกติลงทุนในหุ้นแต่ขาดทุนจนรู้สึกไม่อยากลงทุน กองทุนนี้เน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีค่า Beta ต่ำกว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำผลงานได้เป็นที่น่าพอใจ และได้รับความนิยมอย่างมาก ตั้งแต่เปิดกองทุนมา 4 ปีกว่าๆ (29 มี.ค. 55 – 9 มิ.ย. 59) กองทุนมีผลตอบแทนถึงกว่า 91% ทั้งๆที่ตลาดหุ้นไทยทำผลงานได้เพียง 19% เท่านั้น
แต่เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก ผู้ที่เคยฝากเงินแต่ในธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ย หรือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมาจากดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวก็เริ่มประสบปัญหา และเริ่มมองหาการลงทุนใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนครอบคลุมรายจ่าย

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บลจ.ธนชาต จึงได้เริ่มเปิดขายกองทุน T-PrimeLowBeta เพราะกองทุนเดิมอาจมีความผันผวนมากเกินไปสำหรับผู้ฝากเงินเพียงอย่างเดียวมาตลอด ซึ่งในครั้งหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังว่า กองทุนนี้คาดหวังผลตอบแทนที่เท่าไหร่ ลงทุนหุ้นอะไรบ้าง และจุดเด่นสำคัญของกองทุนนี้คืออะไร อย่าลืมติดตามกันนะครับ
ในโลกการลงทุนอาจไม่มี Low Risk, High Return แต่อย่างน้อยๆ Low beta, high benefits ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ