posttoday

โลกนี้ช่างงดงาม หลุยส์ อาร์มสตรอง

08 มิถุนายน 2557

ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน What A Wonderfull World ก็ไพเราะเสมอ

โดย...กบยูเนียน

ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน What A Wonderfull World ก็ไพเราะเสมอ บทบรรเลงที่กล่าวถึงความน่าอภิรมย์ของโลก ไม่ใช่เงินทองของล้ำค่า แต่เป็นความงดงามของใบไม้ดอกไม้ ท้องฟ้า สายรุ้งและมิตรภาพ ความรักของเพื่อนมนุษย์ เพราะโลกสวยงามอย่างนี้ จึงสมควรที่เราจะปกป้องมัน

จอร์จ ดี ไวส์ส และ บ็อบ ธีล คือผู้แต่งคำร้องทำนอง (1967) หากผู้ที่ทำให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือ หลุยส์ อาร์มสตรอง (4 ส.ค. 1901-6 ก.ค. 1971) นักทรัมเป็ตและนักร้องเพลงแจ๊ซชาวอเมริกันผู้โด่งดัง

หลุยส์ อาร์มสตรอง มีชื่อเล่นว่า แซทช์โม หรือ ป๊อปส์ เกิดที่เมืองนิวออร์ลีน รัฐลุยเซียนา ในย่านสลัมคนดำ แม่เป็นโสเภณี ทันทีที่เขาเกิด พ่อก็ทิ้งร้างไปที่อื่น (และไม่ได้เห็นหน้ากันอีกเลย) แม่ยังชีพด้วยการเป็นโสเภณี หลังจากเข้าโรงเรียนได้แค่ 5 ปี หลุยส์ต้องออกจากโรงเรียนเพราะความยากจน

โลกนี้ช่างงดงาม หลุยส์ อาร์มสตรอง

 

ด้วยความรู้เพียงแค่ (พอ) อ่านออกเขียนได้ ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน วันหนึ่งหลุยส์เก็บขยะได้เป็นปี่ทิ้งแล้วหนึ่งอัน เกิดความชอบอกชอบใจและหยิบมาเป่าเล่น และตั้งใจว่าโตขึ้นจะเป็นนักดนตรี เขามีโอกาสเรียนรู้เครื่องเป่าอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกก็เมื่อเขาถูกจับเข้าบ้านคุ้มครองเด็กผิวดำ และได้ร่วมอยู่ในวงดนตรีของบ้านคุ้มครองเด็ก (Colored WAIF’s Home) ระยะหนึ่ง

หลังจากออกจากบ้านคุ้มครอง หลุยส์ได้งานเป็นพนักงานส่งถ่านหิน และเวลากลางคืนก็ตะลอน (ขอ) เล่นดนตรีกับวงต่างๆ ในย่านสถานเริงรมย์ของเมือง เป็นช่วงที่เขาได้รู้จักกับนักดนตรีหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือโจ “คิง” โอลิเวอร์ นักเป่าทรัมเป็ตดาวรุ่ง ซึ่งต่อมามีส่วนต่อการเติบโตของหลุยส์อย่างมาก

ครั้งหนึ่ง คิง โอลิเวอร์ ซึ่งเป่าคอร์เน็ตอยู่กับวงดัง คิด โอรี ได้ย้ายไปอยู่ชิคาโก หลุยส์ได้ถูกตามตัวมา เพื่อเล่นแทนในตำแหน่งของนักเป่าคนดัง หลุยส์ตั้งหลักเป็นนักเป่าอยู่กับคิด โอรีจนถึงปี 1919 จึงย้ายมาอยู่กับวงของเฟท มาราเบิล เล่นดนตรีบนเรือสำราญที่ขึ้นล่องอยู่ในแม่น้ำมิสซิสซิปปี ฝีมือคอร์เน็ตของหลุยส์ในเวลานี้ ไม่เพียงขจรขจายไปทั่วคุ้งน้ำ หากยังได้ยินไปไกลถึงนครชิคาโก

โลกนี้ช่างงดงาม หลุยส์ อาร์มสตรอง

 

มิสซิสซิปปี แม่น้ำสายนี้ยังยาวไม่พอ คิง โอลิเวอร์ ซึ่งตอนนี้มีวงเป็นของตัวเองแล้วชื่อ ครีโอล แจ๊ซ แบนด์ ได้ยินข่าว จึงตามตัวหลุยส์ให้มาร่วมงานด้วยกันที่ชิคาโก หลุยส์กลายเป็นที่กล่าวขานในแวดวงดนตรีแจ๊ซ โดยมีนักฟังแจ๊ซหลายคนที่เดินทางมาเพื่อฟังการเป่าของหลุยส์ทีเดียว ฝีปากการเป่าของเขาได้ชื่อว่า “ต้องฟัง” ในช่วงปี 1922-1923 คิงกับหลุยส์ร่วมกันบันทึกแผ่นเสียงหลายแผ่น เช่น Working Man’s Blue; Chimes Blues และ Riverside Blues

ในระหว่างที่เล่นอยู่กับวงของคิง โอลิเวอร์นี้ ยังเป็นช่วงที่หลุยส์ได้ตกหลุมรักกับนักเปียโนสาวสวยของวง ผู้มีชื่อว่า ลิล ฮาร์ดิน (1898-1971) ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1924 เธอผู้นี้ได้ชื่อว่าเป็นอีกผู้หนึ่งที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้หลุยส์ก้าวหน้าในงานอาชีพ หนึ่งในคำแนะนำนั้นคือการขอร้องแกมบังคับให้หลุยส์ย้ายไปอยู่นิวยอร์ก และทำงานร่วมวงกับเฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน ออร์เคสตรา วงชั้นนำในยุคนั้น และเป็นช่วงที่หลุยส์เปลี่ยนจากการเล่นคอร์เน็ตเป็นทรัมเป็ตอย่างถาวรด้วย

เรื่องราวของหลุยส์ อาร์มสตรอง นักทรัมเป็ตและนักดนตรีแจ๊ซที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคของเรา โปรดคอยติดตามอ่านในตอนต่อๆ ไป