posttoday

ออมเท่านี้...อายุ 60 ปี ก็มี 4 ล้าน

18 สิงหาคม 2556

หลังจากรู้กันแล้วว่า จะทำอย่างไรให้ชีวิตเป็น “เรื่องเศร้า” เพราะตายแล้วยังใช้เงินที่เก็บออมมาทั้งชีวิตไม่หมด และไม่กลายเป็น “เรื่องสลด”

หลังจากรู้กันแล้วว่า จะทำอย่างไรให้ชีวิตเป็น “เรื่องเศร้า” เพราะตายแล้วยังใช้เงินที่เก็บออมมาทั้งชีวิตไม่หมด และไม่กลายเป็น “เรื่องสลด” เพราะใช้เงินออมจนหมดแล้วยังไม่ตาย

แต่หลายคนพอเห็นตัวเลข 1020 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่น่าจะทำให้พอมีพอใช้อย่างสบายๆ ในวัยเกษียณ ถึงกับหงายหลังเตรียมทำหน้าสลดตั้งแต่ยังไม่ทันจะถึงวันเกษียณ

ถ้าเป็น “แฟนประจำ” น่าจะพอรู้วิธีการวางแผนเพื่อการเกษียณกันอยู่แล้ว (เพราะนำมาเล่าสู่กันฟังมาอย่างต่อเนื่อง) แต่คราวนี้ขอเอาใจ “แฟนไม่ประจำ” กันสักหน่อย เพราะถามกันมามากว่า แล้วจะต้องทำอย่างไร

ลงทุนเดือนเท่าไร

ตามคำแนะนำในการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ ของ tsithailand.org โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีอยู่ 5 ขั้นตอน ได้แก่

1.กำหนดอายุที่ต้องการจะเกษียณ จะได้รู้ว่า เราจะเหลือเวลาเตรียมตัวอีกนานแค่ไหน

2.ประมาณช่วงระยะเวลาหลังเกษียณ จะได้รู้ว่าเรามีเวลาใช้เงินอีกกี่ปี

3.ประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

4.ประมาณการรายได้หลังเกษียณ

5.วางแผนการออมในปัจจุบัน

ถ้าทำได้ตาม 5 ขั้นตอนนี้ รับรองว่า ชีวิตหลังเกษียณจะไม่สลดแน่ๆ

แต่เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่า แต่ละคน ในแต่ละช่วงอายุจะต้องออมเงินเดือนละเท่าไร เพื่อให้มีกินมีใช้สบายๆ ตามอัตภาพ เมื่อเกษียณอายุแล้ว

เพราะฉะนั้นจึงขอกำหนดเงื่อนไขเหมือนๆ กัน คือ เกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และคาดว่า จะมีชีวิตอยู่ไปจนถึงอายุ 80 ปี อยากจะใช้จ่ายแบบสบายๆ เดือนละ 2 หมื่นบาท

ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ทำให้ในวันเกษียณจะต้องมีเงินอยู่ในมือ 4 ล้านบาท (โดยมีข้อแม้ว่า หลังจากเกษียณแล้วจะต้องนำเงิน 4 ล้านบาทนี้ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนปีละประมาณ 5% เพราะถ้าไม่นำไปลงทุนเงิน 4 ล้านบาทที่มีอยู่ก็จะไม่พอใช้ไปจนถึงอายุ 80 ปีก็ได้)

จากนั้นก็ประเมินว่า ตลอดเวลาที่เราออมเงินเพื่อการเกษียณ เราสามารถนำเงินออมนั้นไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 6% ต่อปี แล้วนำไปคำนวณในโปรแกรมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ชื่อว่า startoinvest เพื่อให้ได้คำตอบว่า...

ถ้าเริ่มต้นคิดถึงเรื่องการวางแผนเกษียณในช่วงอายุต่างๆ ตั้งแต่ 25 ปี ไปจนถึง 59 ปี เราจะต้องออมเงินให้ได้อย่างน้อยเดือนละกี่บาท

แน่นอนว่า เริ่มต้นเร็วก็ออมเพียงเดือนละไม่กี่บาท เช่น เริ่มตั้งแต่อายุ 25 ปี ก็ออมเงินเดือนละ 2,991 บาท หรือแม้แต่มาเริ่มเมื่ออายุล่วงเข้าเลข 30 จำนวนเงินที่ต้องออมในแต่ละเดือนก็ยังอยู่ที่หลักพันเท่านั้น

แต่ถ้าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจนถึงอายุเข้าหลัก 4050 ปี จะต้องเพิ่มจำนวนเงินออมต่อเดือนให้มากขึ้น และถ้าไปเริ่มคิดเมื่ออายุ 55 ปี จะต้องแบ่งเงินมาออมเดือนละ 59,132 บาท เป็นอย่างน้อย

และถ้าดูจากกราฟแสดงจำนวนเงินออมในแต่ละเดือนของคนที่เข้าใกล้วัยเกษียณมากขึ้น จำนวนเงินที่จะต้องออมมีอัตราการเพิ่มขึ้นในแต่ละปีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะใน 5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ ขณะที่การเริ่มต้นตั้งอายุยังน้อยมีอัตราการเพิ่มขึ้นในแต่ละปีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่า ตอนนี้เราจะอายุเท่าไร ต้องเริ่มต้นลงทุนกันแล้ว

ลงทุนอะไร

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ในสมมติฐานนี้กำหนดอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีไว้แค่ 6% ต่อปี ทั้งๆ ที่จะกำหนดให้เป็นปีละ 1012% ก็เป็นไปได้ ถ้านำเงินไปลงทุนหุ้นเต็ม 100% เพราะ 2030 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทย ก็ให้ผลตอบแทนราวๆ นี้

แต่เพื่อความ “สมจริง” และน่าจะพอเป็นไปได้ในชีวิตจริง เพราะหากอายุยังน้อยสามารถลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้มากหน่อย แต่เมื่ออายุมากขึ้นการลงทุนต้องให้ความเสี่ยงต่ำลง

นอกจากนี้ การลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนปีละประมาณ 6% ก็หาได้ไม่ยาก และไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากจนเกินไป เช่น กองทุนผสมที่ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากหน่อย ตราสารหนี้น้อยหน่อย

เพราะถ้าไม่กล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเลย โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนในระดับนี้ก็อาจจะค่อนข้างยาก ทำให้เป้าหมายเงินล้าน ยิ่งไกลออกไป ซึ่งจะต้องแก้ปัญหา โดยการเพิ่มจำนวนเงินลงทุนในแต่ละเดือนให้มากขึ้นอีก

หรือจะลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งโดยธรรมชาติของกองทุนในกลุ่มนี้จะให้ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอนและสม่ำเสมอ

แต่ที่น่าสนใจมากที่สุด คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพราะนอกจากจะมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายแล้ว (ตั้งแต่เสี่ยงน้อยที่สุดไปจนถึงเสี่ยงมากที่สุด) ยังถือเป็นการบังคับตัวเองให้ลงทุนได้ต่อเนื่อง และยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นของแถมอีกด้วย

ลงทุนอย่างไร

ไม่ว่า จะเริ่มต้นเมื่ออายุเท่าไร ลงทุนเดือนละกี่บาท ได้ผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “วินัยในการลงทุน” เพราะถ้าจะให้ไปถึงฝั่งฝันจริงๆ ต้องลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ไม่วอกแวก ออกนอกลู่นอกทาง โดยเฉพาะนำเงินที่ออมไว้ไปใช้อย่างอื่น

เพราะฉะนั้นวิธีการลงทุนที่แนะนำ คือ การลงทุนเป็นประจำทุกเดือน ด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน ซึ่งทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ไปสมัครใช้บริการ “ลงทุนอัตโนมัติ” ไม่ว่า จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บล.) ก็แล้วแต่ความสะดวก เพราะในปัจจุบันสถาบันการเงินมีบริการแบบนี้แทบจะทุกแห่ง

อย่างไรก็ตาม แต่ละแห่งจะกำหนดเงื่อนไขการลงทุนที่แตกต่างกัน เช่น จำนวนเงินขั้นต่ำในการลงทุนแต่ละครั้ง

แต่สำหรับคนอายุน้อยๆ เริ่มทำงานใหม่ๆ ที่ต้องการจะออมเงินเพียงเดือนละไม่กี่ร้อย ไม่กี่พันบาท จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำที่สถาบันการเงินกำหนดไว้ก็อาจจะยังสูงเกินไป

เท่าที่มีข้อมูลอยู่ในขณะนี้ก็จะมีเพียง บลจ.ทหารไทย เท่านั้นที่กำหนดจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ต่ำมาก โดยลงทุนครั้งแรกด้วยเงิน 2,000 บาท หลังจากนั้นจนลงทุนครั้งละกี่บาทก็ได้ ไม่ว่ากัน จึงน่าจะเหมาะสำหรับคนที่เริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย ต้องการลงทุนเดือนละไม่กี่ร้อยบาท

ช่องทางออม&ลงทุน

จริงๆ แล้วเงินออมเพื่อวัยเกษียณมาได้จากหลายแหล่ง ซึ่งบางแหล่งเราอาจจะลืมไปแล้วก็ได้ว่า “มันมีอยู่จริง” เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะการออมในรูปแบบนี้เป็นการออมแบบอัตโนมัติ

ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. จะเลือกได้ว่า จะรับเงินบำนาญ เท่ากับเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณอายุราชการ หารด้วย 50 (แต่ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย) หรือจะรับเป็นเงินบำเหน็จ จำนวนเงินเท่ากับ เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณ อายุราชการ (ตามเงื่อนไขของทางการ) ก็ได้

แต่ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ถือว่าเป็นโชคดี เพราะนอกจากเราจะได้ออมเงินแบบอัตโนมัติแล้ว นายจ้างยังช่วยเราออมด้วย

ในเว็บไซต์ tsithailand.org คำนวณไว้เป็นตัวอย่างว่า “ถ้าเราเริ่มทำงานและสะสมเงินเข้ากองทุน ตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยสะสม 3% ของเงินเดือน เดือนละ 2 หมื่นบาท ถ้าเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 5% นายจ้างสมทบให้ 3% และกองทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% เมื่ออายุ 60 ปี เราจะมีเงินประมาณ 1.2 ล้านบาท จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”

นอกจากนี้ ถ้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม ก็ยังมีบำเหน็จและบำนาญชราภาพอีกจำนวนหนึ่งด้วย หากเราจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (15 ปี) ซึ่ง KExpert ธนาคารกสิกรไทย สรุปเงื่อนไขไว้ว่า

เงินบำนาญ คำนวณจากเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย (สูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท) มาหารเฉลี่ยคิดเป็นต่อเดือน แล้วคูณด้วย 20% (บวกเพิ่มให้อีก 1.5% ต่อปี ถ้าส่งเงินสมทบมาแล้วเกิน 180 เดือน)

เงินบำเหน็จชราภาพ แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ หากจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพมาไม่ครบ 12 เดือน จะได้รับเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนจ่าย 3% ต่อเดือนเท่านั้น หากจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับส่วนของผู้ประกันตน ส่วนของนายจ้าง และผลประโยชน์ตอบแทนประจำปีที่กองทุนประกันสังคมให้ด้วยเช่นเดียวกับดอกเบี้ย

เห็นข้อมูลแบบนี้แล้ว น่าจะทำให้หลายคนพอเบาใจได้ว่า เงินล้านบาท เมื่ออายุ 60 ปี ไม่ใช่เป้าหมายที่เกินไป และชีวิตสบายๆ หลังเกษียณก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ถ้าเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี