posttoday

ตีกันทำไม เขาให้ไปดูคอนเสิร์ต

21 มกราคม 2556

กลายเป็นข่าวฉาวสะเทือนสังคมไทยอีกครั้ง

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นข่าวฉาวสะเทือนสังคมไทยอีกครั้ง

เมื่อคอนเสิร์ตเพลงเพื่อชีวิตที่จัดขึ้น 3 งาน ภายในระยะเวลาไม่ถึงสามเดือน มีอันต้องพังพินาศย่อยยับ ด้วยน้ำมือคน (ถ่อย) เพียงไม่กี่กลุ่ม

งานแรก มหกรรมคอนเสิร์ต 25 ปี พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ณ ลานแอ๊คทีฟ สแควร์ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ขวด เก้าอี้ปลิวว่อนจากกลุ่มเด็กอาชีวะที่ปาใส่กันอุตลุด ผลคือต้องยกเลิกงานกลางคัน

ถัดมา มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 16 ที่เขาใหญ่ เกิดเหตุยิงกันหน้าเวที กระสุนปลิดชีพทันทีหนึ่งศพ

ล่าสุด คอนเสิร์ตการกุศล “แสงแห่งหวัง” ของนักร้องดัง เสก โลโซ และแอ๊ด คาราบาว ที่สนามกีฬาการท่าเรือแห่งประเทศไทย เสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหว จิ๊กโก๋ยกพวกไล่กระทืบกันฝุ่นตลบ ก่อนจบลงด้วยความโกลาหล ราวนรกแตก

ทุกภาพ ทุกคลิปวิดีโอ ถูกตีแผ่ผ่านสื่อต่างๆ จนกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน

ทำไมถึงยังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก?

เพลงเพื่อชีวิต...จำเลยหน้าเดิมของสังคม

สาวกคาราบาวยังคงจำกันได้กับงานคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวงที่ชื่อ “คอนเสิร์ตทำโดยคนไทย” จัดขึ้นปี พ.ศ. 2528 ณ สนามเวลโลโดม อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก มีผู้ชมประมาณ 6 หมื่นคน แต่ต้องจบลงก่อนเวลา เนื่องจากเกิดเหตุจลาจลของฝูงชนที่อัดแน่นจนอัฒจันทร์ถล่มลงมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

จากนั้นเป็นต้นมา ว่ากันว่าชื่อวงคาราบาว ถือเป็นสัญลักษณ์ว่าเล่นที่ไหน คนตีกันที่นั่น

“มีเสียงตามมาว่าคาราบาวเล่นที่ไหนก็มีแต่คนตีกัน บางคอนเสิร์ตถึงไม่มีคาราบาว คนก็ตีกันอยู่วันยังค่ำ มันอยู่ที่ผู้ชมกับการจัดการที่เป็นมวยหรือไม่เป็นมวยมากกว่า

ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบอีก เช่น รูปแบบของเพลง จำนวนคนดู ต้องจำไว้เลยว่า ยิ่งมากยิ่งวุ่นวาย และระดับชั้นของคอนเสิร์ตว่าจะเป็นในร่ม กำหนดบัตรแพงเพื่อจัดลำดับชั้นของผู้ชม หรือกลางแจ้งดูฟรี หรือเก็บบัตรถูก

ถ้าดูฟรีอย่างสนามหลวง การสกัดคนก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีปัจจัยในการกุมสภาพพื้นที่ได้ คนเข้ามาได้รอบทิศ ค้นอาวุธก็ไม่ได้ แยกแยะใครประสงค์ดีประสงค์ร้ายไม่ได้ ใครเมาใครไม่เมาก็ยังไม่สามารถควบคุมได้

เยี่ยงนี้แล้ว แค่มีใครทะลึ่งเอาขวดเหล้าโยนใส่กันแค่ขวดเดียว แป๊บเดียวก็จะกลายเป็นสงครามขวด จนงานต้องเลิกกลางคันไปในที่สุด”

แอ๊ด คาราบาว ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “ตามรอยควาย : บทบันทึกการเดินทาง 25 ปี” สำนักพิมพ์ในเครือโมโนโพเอท เขียนโดย วรัตต์ อินทสระ

แม้ภาพคนตีกันจะคุ้นชินตามานานกว่า 30 ปี แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้นแอ๊ดก็ยังรู้สึกหดหู่ใจ

“เป็นเพราะความป่าเถื่อนของคนบางกลุ่มเท่านั้นแหละ เป็นปัญหาของเยาวชนไทยที่ไม่มีทางแก้ไข เห็นแล้วก็หดหู่ ถึงเวลาแล้วสังคายนาบ้านเมืองเสียใหม่ รวมถึงศักดิ์ศรีของสถาบันด้วย มันต้องลดราวาศอกกันบ้าง

เหตุการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นว่าผ่านมานานเท่าไร มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เราก็ทำอะไรกับมันไม่ได้ เมื่อคืนถือว่าสุดยอดนะ ตำรวจตั้ง 700800 นาย แต่ใครไม่รู้แม่งทะลึ่งโยนระเบิดลงมาจากบนตึกข้างๆ เท่านั้นแหละเหมือนผึ้งแตกรังเลย” หัวหน้าวงคาราบาวพูดถึงโศกนาฏกรรมหนล่าสุด

ชัยยุทธ์ ลิมลาวัลย์ ผู้บริหารเว็บไซต์คาราบาวดอทเน็ต ยอมรับว่า ก่อนจัดงานมีการประสานตำรวจวางกำลังค่อนข้างมากทั้งในเวทีใช้เจ้าหน้าที่กว่า 300 นาย เฝ้าดูแลรักษาความเรียบร้อย ด้านนอกอีก 400 นาย มีจุดตรวจวัตถุระเบิดด้วย แต่สุดท้ายก็ยังมีเล็ดลอดเข้าไปได้

เขาเชื่อว่าเป็นเจตนาบางอย่างของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มิใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ

“ความเห็นส่วนตัวน่าจะสืบเนื่องจากคอนเสิร์ตพี่ปูที่วัยรุ่นช่างกลนัดไปตีกันจนงานพัง อาจมีการนัดแก้แค้น ล้างตากัน อาจจะมาเอาคืนกันหรือเปล่า ตามไปคอนเสิร์ตนั้นคอนเสิร์ตนี้ ติดพันกันไป มันขึ้นอยู่กับเจตนาของคนกลุ่มนี้ด้วย อาจตั้งใจแล้วว่ามามีเรื่อง ไม่ใช่ความบังเอิญ ถ้าแค่บังเอิญเหยียบเท้ากัน ต่อยกัน แค่นั้นคงจบ”

“คอนเสิร์ตคาราบาวตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงวันนี้ ผ่านมา 30 ปีมันก็ยังตีกันไม่เลิก คงต้องเน้นเรื่องปลูกจิตสำนึกการชมคอนเสิร์ตตั้งแต่เยาวชน การเลี้ยงดูของครอบครัว ความเป็นวัยรุ่น อยากรู้ อยากลอง อยากแสดงออก ยังไงก็ไม่หมดครับ” ประธานกลุ่มแฟนคลับวงหัวควาย กล่าว

สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน เจ้าของฉายาครูใหญ่วงการเพลงเพื่อชีวิต เล่าว่า วัฒนธรรมการตีกันในงานคอนเสิร์ต ไม่มีศิลปินคนใดอยากให้เกิด

“ไม่เฉพาะเพลงเพื่อชีวิต จะเพลงป๊อป ร็อก ลำซิ่งมันก็ตีกัน เกิดขึ้นตลอด ส่วนมากจะเป็นเวทีคอนเสิร์ตกลางแจ้งที่คนมาเยอะๆ มีวงหลายๆ วง ควบคุมยาก คาดเดาได้ว่ามีเรื่องแน่นอน

วงเด่นๆ เรียกแขกที่เรตติ้งมากๆ อย่าง คาราบาว ถือว่าเป็นขวัญใจคนทั่วไป ยิ่งมีชื่อเสียง ยิ่งกว้างขวางเท่าไร ก็ยิ่งเป็นจุดเสี่ยงเท่านั้น เพราะคนตั้งใจจะมาฟรี มาแอ็กชัน มามัน แต่งตัวเป็นแก๊งนั้นแก๊งนี้ นัดกันมาเลย เป็นมูลเหตุของการทะเลาะวิวาท ไม่อยากโทษคนดู เพราะบางงานที่ราบรื่นมันก็น่าประทับใจ”

อย่างวงคาราวาน ด้วยเนื้อเพลง ท่วงทำนอง มันไม่เร้าใจ ไม่โจ๊ะ คนมาตั้งใจมาฟังมากกว่า เลยมีเหตุตีกันน้อยที่สุดเลยในบรรดาวงเพื่อชีวิต เท่าที่เห็น พอวงเราเล่น คนฟัง พอเราลง วงอื่นมาเล่นเท่านั้นตีกันเลย บางทีเพลงเดือนเพ็ญมันยังตีกันเลย” น้าหงาหัวเราะอย่างขมขื่น

ทั้งขู่ ทั้งปลอบ...มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของศิลปิน

“พี่น้องครับ ปรบมือขอความเมตตาให้พี่ๆ เขาออกไปได้ไหมครับ มีใครรอให้ตีอยู่เยอะแยะตามถนน ออกไปตีกับเขาสิ ถ้าเก่งจริง แถวนี้มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก น่าละอาย บ้านเมืองบอบช้ำมามากแล้ว เพราะผู้ใหญ่โง่ เป็นเด็กอย่าเสือกโง่ตาม”

เป็นคำด่ากราดออกไมโครโฟน เต็มไปด้วยความรู้สึกอัดอั้นตันใจของ ปูพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ขณะมองดูความวุ่นวายเบื้องล่างที่คล้ายสนามรบมากกว่างานคอนเสิร์ต เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้นักร้องดังใช้สารพัดวิธีในการผ่อนคลายบรรยากาศอันคุกรุ่น ตั้งแต่วิงวอนร้องกันดีๆ เปลี่ยนมาเล่นเพลงช้าเพื่อลดความตึงเครียด ถึงขั้นหยุดเล่นกลางคัน หันมาดุด่าสั่งสอนอย่างเหลืออด สุดท้ายเมื่อเหตุการณ์บานปลายจนควบคุมไม่อยู่ จึงต้องจำใจประกาศยกเลิกงานทันที

หงา กล่าวเสริมว่า จากประสบการณ์เดินสายเล่นตามผับ เล่นตามงานจ้าง จนถึงเวทีคอนเสิร์ตมานับพันๆ ครั้ง สาเหตุการทะเลาะวิวาทอันดับหนึ่งมาจากความเมามาย

“เรื่องความเมา ห้ามยาก บางงานห้ามคนเอาเหล้าเข้ามา กวดขันเต็มที่ แต่ไม่ได้ห้ามคนเมามาจากบ้านเข้า ทุกคนกะมาสนุกสนานเต็มที่ มาเฮกัน มันสุ่มเสี่ยง เกิดการหมั่นไส้ขึ้นระหว่างหมู่บ้าน ระหว่างสถาบัน

วิธีขู่ ปลอบ ขอร้อง เลิกเล่น มันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการแก้ปัญหาหลังจากเกิดขึ้นแล้ว ได้ผลมั่งไม่ได้ผลมั่ง แต่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ผมว่ามันต้องศึกษาดูวัฒนธรรมการจัดคอนเสิร์ต ลักษณะของงาน ทั้งผู้จัด สถานที่ กลุ่มผู้ชม ระบบรักษาความปลอดภัย ราคาบัตร อะไรต่อมิอะไรอื่นๆ อีกมากมาย

ศิลปินก็มีส่วนในการแก้ปัญหาบนเวที ไม่ใช่โหมความรุนแรง ใส่ความห้าว ฮึกเหิม คนดูก็ควรไม่โห่ฮา ส่งเสียงเชียร์”

‘ต้องใช้มืออาชีพเท่านั้น’ เสียงสะท้อนจากโปรโมเตอร์ตัวพ่อ

วินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล นักธุรกิจจัดงานคอนเสิร์ตผู้คร่ำหวอดมานาน ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้จัดต้องมีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ทุกรูปแบบ และต้องใช้มืออาชีพเท่านั้นในการทำงานทุกภาคส่วน

“การจัดคอนเสิร์ตให้สำเร็จราบรื่น ต้องคำนึงถึงหลายองค์ประกอบ วันเวลาจัดงาน สถานที่ การจัดระเบียบที่นั่ง จนถึงราคาบัตรก็มีส่วน โดยทางเทคนิค ถ้าคอนเสิร์ตที่มันสุ่มเสี่ยง ผมจะเลือกจัดวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดของพวกนักเลงทั้งหลาย มันจะแยกแยะไปได้ในระดับหนึ่ง

เด็กอาชีวะเสือกแต่งเครื่องแบบมา ทั้งที่เป็นวันหยุด ก็ต้องควบคุมดูแลเป็นพิเศษตั้งแต่ก่อนเข้างาน มันมาไม่ดีแน่ บางครั้งเราไม่อนุญาตให้เข้างานด้วยซ้ำไป ถ้าไม่ถอดเสื้อออก

ทีมรักษาความปลอดภัยต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ ส่วนมากเป็นทหาร ตำรวจนอกราชการ ควบคุมดูแล คอยสอดส่อง สังเกตการณ์ มีอุปกรณ์สื่อสารครบวงจร ทำงานภายใต้กฎหมาย ต้องตรวจสอบตั้งแต่เข้าประตู สกัดตั้งแต่ก่อนเข้างาน คอนเสิร์ตบ้านเราจะเห็นว่าใช้กำลังเยอะ ฟุ่มเฟือยมากกว่าเมืองนอกด้วยซ้ำไป มีเพียงแต่เจ้าหน้าที่ไปรักษาการณ์ แต่ไม่มีประสบการณ์”

อดีตดีเจคลื่นวิทยุชื่อดังเผยว่า ปัญหาคืออย่าให้เหตุมันเกิดก่อนแล้วค่อยแก้ หมั่นสังเกตการณ์ พร้อมทั้งเข้าใจวิธีการว่าต้องดูแลยังไง ภายใต้กรอบกติกาที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้

“ขอร้องกัน ถ้าไม่เชื่อฟังก็ต้องทุบกัน มันต้องมีอย่างนี้บ้าง ผู้ชมเถื่อนๆ กลุ่มนี้เป็นบุคคลที่พวกเราโปรโมเตอร์ไม่อยากต้อนรับเลย”