posttoday

เพลงเพื่อชีวิต : มองผ่านวีระศักดิ์ สุนทรศรี

23 ธันวาคม 2564

เล่าขานตำนานเพลง โดยประสาร มฤคพิทักษ์

บ่าย 22 ธ.ค. 64 ณ เมรวัดคู้บอน ซอยคู้บอน 38 รามอินทรา กายภาพของ แดง - วีระศักดิ์ สุนทรศรี หนึ่งในสี่แห่งวงดนตรีคาราวาน กลายสภาพเป็นเถ้าธุลี คืนสู่ดิน คืนสู่น้ำไปแล้ว ด้วยวัย 71 ปี โดยมีคุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานพิธีศพ มีหงา - สุรชัย จันทิมาธรและญาติมิตรเป็นเจ้าภาพ ท่ามกลางมวลมิตรแห่งแวดวงดนตรีเพื่อชีวิตมากหน้าหลายตา บรรยากาศอบอุ่นด้วยคุณธรรมน้ำมิตร

เพลงเพื่อชีวิต : มองผ่านวีระศักดิ์ สุนทรศรี

เพลงเพื่อชีวิต : มองผ่านวีระศักดิ์ สุนทรศรี

แดง - วีระศักดิ์ เกิดที่กรุงเทพฯ ไปเติบโตที่โคราช มาเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย เมื่อปี 2514 ความเป็นคนชอบอ่านชอบเขียน และรู้ภาษาอังกฤษดีพอสมควร ทำให้วีระศักดิ์ เข้ากลุ่มนักเขียน “พระจันทร์เสี้ยว” แห่งยุคก่อน 14 ตุลา 2516

เขารักเสียงเพลง ศึกษาโลกดนตรีตะวันตก มีคอลัมน์เขียนประจำอยู่ใน นสพ.สยามรัฐ และสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ รวมทั้งวารสาร “ปุถุชน” รายสะดวก

ความเป็นศิลปินที่มีความเป็นอิสระ เป็นตัวเองสูง สะท้อนเป็นงานเขียนแบบกลอนเปล่าซึ่งไม่ต้องมีฉันทลักษณ์มาเป็นกรอบเกณฑ์

เพลงเพื่อชีวิต : มองผ่านวีระศักดิ์ สุนทรศรี

ท่านขุนน้อยแห่ง นสพ.ไทยโพสต์ เขียนยกย่องเขาไว้ว่า วีระศักดิ์ เป็น “ผู้มีขีดความสามารถในการรจนาบทกลอนบทกวีที่เรียกกันว่า ‘กลอนเปล่า’ ได้อย่างชนิดลึกซึ้ง ประณีต ละเอียดอ่อน ระดับถือเป็นมือวางอันดับหนึ่งของประเทศไทย”

ในขณะที่ จันทนา ฟองทะเล นักเขียนอีกคนหนึ่งถึงกับจดจำวรรคทองของวีระศักดิ์และนำไปขยายผลต่อวรรคนั้นคือคำว่า

“เผด็จการฟาสซิสต์ เหมือนภูเขาหัวโล้น

ถึงแม้จะสูงตระหง่านเทียมฟ้า

ก็ไม่อาจเป็นร่มเงาให้กับประชาชนได้”

วีระศักดิ์ ในฐานะนักเขียน รวมผลงานเขียนของตนเองฝากไว้ในโลกวรรณกรรมถึง 5 เล่มด้วยกันคือ

- ความรำลึก ย้อนหลังคาราวาน (2527)

- คาราวานสัญจร (2539)

- ที่อยู่ ที่ยืน เพื่อชีวิต (2541)

- คาราวาน ตำนานทัพหน้าวงดนตรีเพื่อชีวิตของไทย (2544)

- พบเพื่อนเดือนตุลา (2544)

เพลงเพื่อชีวิต : มองผ่านวีระศักดิ์ สุนทรศรี

เขาบันทึกเรื่องเพลงเพื่อชีวิตไว้ว่า

“เพลงเพื่อชีวิต หยั่งรากลึก ลงในเนื้อดิน ของสังคมไทย หรือเพียงห้วงเวลา 25 ปีที่คาราวานได้อุบัติขึ้น หรือมันจะเป็นเพียงแค่ตำนานเท่านั้น”

“ผมอยากให้เพลงเพื่อชีวิตและดนตรีเพื่อชีวิต เป็นมากกว่าตำนาน หรือเครื่องหมายการค้าชนิดหนึ่งเท่านั้น”

เมื่อวงดนตรีเล็กๆ ของสองสหาย หงา - สุรชัย จันทิมาธร และวีระศักดิ์ สุนทรศรี ในชื่อวง “ท.เสน และสัญจร” ตระเวนเล่นอยู่ทางภาคอีสาน ได้บรรจบกับวง “บังคลาเทศแบนด์” ซึ่งมีหว่อง - มงคล อุทก และ อืด - ทองกราน ทานา ทั้งสองวงถูกอัธยาศัยกันยิ่งนัก จึงรวมวงเป็น “คาราวาน” เมื่อกลางปี 2517 โดยมี หมู - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เข้าร่วมวงเป็นบางช่วง

คาราวาน มีเพลง “คนกับควาย” ฝีมือ สมคิด สิงสง มีเพลง “นกสีเหลือง” จากฝีมือ วินัย อุกฤษณ์ มีเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ คาราวานแต่งเพลงของตนเอง เช่น “ข้าวคอยฝน” “จิตร ภูมิศักดิ์” และนำเอา “เซิ้งอิสาน” รวมทั้งบทกวี “เปิบข้าว” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ มาใส่ทำนอง ทำให้วงคาราวานมีเพลงร้องเพลงเล่น ในยุคตั้งต้นวงเมื่อปี 2516 หลายเพลง

เพลงแรกๆ ของคาราวานในยุคนั้น กลายเป็นเพลงที่วงดนตรีเพื่อชีวิตอีกหลายวงนำไปเล่น เช่น กรรมาชน โคมฉาย คาราบาว คุรุชน กงล้อ รวมฆ้อน แฮมเมอร์ โฮป คีตาญชลี ฯลฯ

เพลงเพื่อชีวิต : มองผ่านวีระศักดิ์ สุนทรศรี

ในวันนี้ แม้จะมีคนในแวดวงเพลงกลุ่มหนึ่ง พยายามลบเลือนบทบาทของคาราวาน เสมือนหนึ่งว่า สังคมไทยไม่มี วง “คาราวาน” อยู่ในโลกนี้ แต่ในความเป็นจริง เพลงของคาราวานมากมายได้จำหลักอยู่ในหัวใจคนไทยไปแล้ว เหมือนที่ แดง - วีระศักดิ์ ชี้ว่า “เพลงเพื่อชีวิต หยั่งรากลึกลงในเนื้อดินของสังคมไทยแล้ว” ซึ่งแน่นอนว่าคาราวานเป็นวงหลักที่ยืนพื้นได้มั่นคงยั่งยืนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2519 ขณะที่วงคาราวาน และวงโคมฉาย กำลังตระเวนแสดงทางภาคอีสาน เริ่มที่ลานย่าโม โคราช ต่อไปเล่นที่อุบลราชธานี ค่าวันที่ 5 ตค. เล่นที่ ม.ขอนแก่น และแล้ว

วันรุ่งขึ้น 6 ตุลาคม 2519 ได้เกิดโศกนาฏกรรมกลางเมืองหลวง ทหารตำรวจของทางการยุคนั้นเข้าล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงขั้นจับนักศึกษามาแขวนคอที่ต้นมะขามแล้วทุบตีด้วยเก้าอี้เหล็ก และจับนักศึกษาคนหนึ่งมาเผานั่งยางกลางสนามหลวงอย่างทารุณ ตามมาด้วยการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คืนประเทศสู่เผด็จการเต็มรูปอีกครั้ง

คาราวานและโคมฉายซึ่งมีทั้งนักร้องและนักดนตรีเต็มวงกว่าสิบชีวิต ตัดสินใจเข้าสู่แดนปฏิวัติในเขตป่าพื้นที่ภูซาง ซึ่งเป็นรอยต่อสามจังหวัดคือเลย หนองคาย และอุดรธานี

5 ปีเศษ ในเขตป่าเขาที่ยากลำบากและเสี่ยงชีวิต วีระศักดิ์ ดุจเดียวกับเพื่อนคนอื่นที่รวมวง ต่างก็มือหนึ่งถือกีตาร์อีกมือหนึ่งถือปืน ในฐานะหน่วยศิลป์ของขบวนปฏิวัติทำหน้าที่พร้อมสู้รบแบบถึงเลือดถึงเนื้อ และพร้อมจะเล่นเพลงด้วยเครื่องดนตรีประจำตัว

นโยบายการเมือง นำการทหารในยุคพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ต่อเนื่องถึงยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 66 / 2523 เปิดทางให้คนป่าคืนเมืองโดยไร้ความผิดใดๆ

คาราวานกลับคืนสู่เมืองในเดือนเมษายน 2525 อีก 2 เดือนต่อมามีการแสดง Concert for UNICEF ที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์

หลังจากวงดนตรีอื่นเล่นครบจบไปแล้ว คาราวานเป็นวงปิดท้ายในตอนค่ำ ทันทีที่พิธีกรสาว ชื่อ แดง - จันทรา ชัยนาม ประกาศว่า

“ณ บัดนี้ ขอเชิญพบกับวงดนตรีเพื่อชีวิต ที่ทุกคนรอคอยมานานแสนนาน - คาราวาน”

ม่านผืนใหญ่เปิดขึ้น สปอตไลท์สาดแสงจับไปที่ หงา - แดง -หว่อง - อืด สี่สหายเพิ่งสลัดชุดทหารป่ามาสวมใส่ชุดคนเมืองปรากฏตัวกลางเวทีครบถ้วน ไม่มีใครตกหล่นไปไหน หลังจากที่พวกเขาห่างสังคมเมืองหลวงไป 6 ปีเต็ม ทำให้คนเนืองแน่นหอประชุมตื่นเต้นปรบมือต้อนรับด้วยความปีติสนั่นห้องประชุมเป็นเวลายาวนาน

และเมื่อ INTRO เพลง “คืนรัง” ดังขึ้นตามมาด้วยเสียงหวนหาอันเป็นเอกลักษณ์ของหงาคาราวานว่า

“โอ้ยอดรัก ฉันกลับมา

จากภูผา ที่ไกลแสนไกล

จากโคนรุ้ง ที่เนินไศล....” 

ผู้คนในห้องประชุมพากันสะอื้นกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

เสียงร้องและกีตาร์ของหงา เสียงกีตาร์ริธึมคุมจังหวะของแดง เสียงพิณของหว่อง เสียงไวโอลินของอืด สอดประสานเป็นเพลงที่ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมเปี่ยมปีติเต็มตื้นอย่างมีลักษณะประวัติศาสตร์

เล่าปี่ มีขงเบ้ง กวนอู เตียวหุย ประกอบกันเป็นสี่สหายทำให้ จ๊กก๊ก เป็นก๊ก “พยัคฆ์ติดปีก” เหนือแผ่นดินจีนในยุคโบราณฉันใด สี่สหายคาราวานก็ฉันนั้น

หงา แดง หว่อง อืด ก็ดุจกัน ทำให้คาราวานประกอบส่วนสอดประสานกันลงตัว กลายเป็นต้นธารแห่งเพลงเพื่อชีวิต เป็นนักรบทางศิลปวัฒนธรรม ในสมรภูมิรบเพื่อเอกราช ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม เพื่อชาวนาชาวไร่ ผู้ใช้แรงงาน และผู้คนที่เสียเปรียบในสังคมไทย จากวันนั้น จวบจนวันนี้ และแน่นอน เพลงเพื่อชีวิตของไทย “เป็นมากกว่าตำนาน เป็นมากกว่าเครื่องหมายการค้า” ดังที่ แดง - วีระศักดิ์ ได้ตั้งปณิธานอันสูงส่งไว้แล้ว 

หมายเหตุ เพลงที่วีระศักดิ์ แต่งเนื้อและทำนอง มี 2 เพลงเด่นคือ

1. มารวมกันนะเธอจ๋า

2. ชาวนา

ส่วนเพลง “ค่ำลง” นั้น หงาเป็นคนแต่ง และให้ แดง - วีระศักดิ์ เป็นคนร้องจะด้วยเนื้อหา

ท่วงทำนองหรือบุคลิกก็ตาม ทำให้เพลงค่ำลงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของ แดง - วีระศักดิ์ สุนทรศรี

เพลง ค่ำลง

เนื้อและทำนอง สุรชัย จันทิมาธร

นักร้อง วีระศักดิ์ สุนทรศรี 

** ค่ำลงค่ำลง เอิงเอย ค่ำลงค่ำลง

นกน้อยโผลง สู่พุ่มมะไฟ

เสียงลมแผ่วโผย มาทางใด

อ๋อลมแผ่วพลิ้ว เจ้าใบไผ่

หรีดร้องเรไร ดนตรี

** ทุ่มกายเทใจ เอิงเอย ทุ่มกายเทใจ

โถมแรงฟันไร่ ต่อสู้ตลอดปี

ถางดงเบิกฟ้าไม่รอรี

หากินอย่างนี้ มานานปี

หล่อเลี้ยงชีวี ด้วยงาน

** กระจองงอแง เอิงเอย กระแตกระเล็น

สายลมเย็นๆ โชยพัดที่ชาน

สูบแต่ยาฉุนมานมนาน

จนลูกจนหลานมันเต็มบ้าน

ได้พักสำราญบานเย็น

** ค่ำลงค่ำลง เอิงเอย ค่ำลงค่ำลง

ตะวันลับดง แลหาไม่เห็น

เหมือนตัวเรานี้ที่ลำเค็ญ

ทั้งวัยก็คล้อยดังยามเย็น

ไม่รู้จะเป็นฉันใด 

โดย : ประสาร มฤคพิทักษ์ / [email protected]