posttoday

ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ อิสรภาพทางความคิดคือสิ่งสำคัญ

08 สิงหาคม 2560

เหตุผลในการเลือกอาชีพใดอาชีพหนึ่งของใครหลายๆ คนอาจมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน บางคนเลือกทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งเพราะคำชี้แนะของครอบครัวและรอบตัว

โดย...อณุสรา ทองอุไร-ณัฐวดี ภิญญศิริ ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

เหตุผลในการเลือกอาชีพใดอาชีพหนึ่งของใครหลายๆ คนอาจมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน บางคนเลือกทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งเพราะคำชี้แนะของครอบครัวและรอบตัว บางคนอาจเลือกเพราะค่าตอบแทนสูง หรือบางคนก็อาจเลือกเพราะรักในอาชีพนั้นอย่างแท้จริง และหนึ่งในอาชีพที่เด็กหลายๆ คนใฝ่ฝันอยากจะเป็น นั่นก็คือ อาชีพ “ครู” ผู้ซึ่งคอยให้ความรู้ต่างๆ แก่ทุกคน

แม้ในปัจจุบัน อาชีพครูจะเกือบเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะดูเหมือนต้องคอยอยู่ในกรอบขององค์กรตลอดเวลา แต่หากลองมองในทางกลับกัน บางครั้งอาชีพครูก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครได้อีกหลายๆ คน ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ ที่ยึดถืออาชีพครูมานานกว่า 10 ปี การเป็นครูของเธอไม่ใช่เพียงการยืนพูดอยู่หน้าชั้น แต่สามารถทำให้ผู้สอนและผู้เรียนได้มากกว่านั้น เป็นการสร้างอิสรภาพทางความคิดให้แก่ทั้งตัวเธอเองและนักเรียน อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสามารถเลือกได้ว่า สิ่งไหนที่นักเรียนควรจะได้รับ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนไป หรือสิ่งไหนที่เธอจะสามารถริเริ่มขึ้นมาใหม่เพื่อพัฒนาให้ลูกศิษย์อันเป็นที่รักได้ก้าวหน้าต่อไป

ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชา Media and Communication สาขา Fine and Applied Arts Division คณะวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือใครอาจเคยรู้จักเธอมาก่อนจากการเป็นครูสอนการแสดงในรายการเรียลิตี้โชว์ ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ซีซั่นที่ 2 และเป็นครูใหญ่ในซีซั่นที่ 3

ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทที่ Goldsmiths College, University of London และปริญญาเอกที่ School of Oriental and African Studies, University of London

ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์  อิสรภาพทางความคิดคือสิ่งสำคัญ

 

รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 7 ปีเต็ม ก่อนที่ ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ จะเดินทางกลับมาเป็นอาจารย์ผู้สอนในสาขาวิชาศิลปะการแสดงที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่นั่นเธอใช้ชีวิตอยู่กับละครเวทีอย่างจริงจังและได้พบเจอกับเด็กนักเรียนหลากหลายประเภท กระทั่งเวลาล่วงเลยผ่านไป 11 ปี จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจึงเกิดขึ้นเพราะอยากสร้างความท้าทายใหม่ๆ ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ จึงกลายมาเป็นอาจารย์สอนที่คณะวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมบุกเบิกคณะใหม่

แม้ว่าในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้า เธอเคยได้รับการเชื้อเชิญให้ไปสอนในหลักสูตร Entertainment Media Production มาก่อน หากแต่ก็ปฏิเสธไป เพราะเป็นวิชาเน้นการถ่ายภาพ ไม่ได้เป็นการสร้างเนื้อหา ต่อมาภายหลัง เมื่อมีการเปิดสาขาใหม่ซึ่งเป็นสาขานิเทศศาสตร์ จึงทำให้เธอตัดสินใจไปโดยไม่ลังเล

ตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมา ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ เล่าให้ฟังว่า เธอไม่เคยคิดอยากเป็นอย่างอื่น นอกจากการเป็นอาจารย์ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นคนทนมีเจ้านายเยอะๆ ไม่ได้ รวมถึงตอนเด็กเคยเห็นแม่เป็นอาจารย์มาก่อน เห็นท่านมีอิสระในการทำงาน จึงคิดตั้งแต่ตอนนั้นว่า อยากเป็นครู

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะรู้ว่าเรียนการละคร ถ้าไปอยู่ในธุรกิจแล้วจะต้องอยู่ในงานไร้อิสระไร้คุณภาพงานอย่างที่อยากทำ ถ้าอยากสร้างงานคุณภาพคงสร้างไม่ได้ ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้เธออยากเป็นครูมาตลอด อาจไม่รวยร้อยล้านพันล้าน แต่ได้รับอิสรภาพทางความคิดและเวลา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นมนุษย์ ก็คิดว่าเพียงพอ

ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์  อิสรภาพทางความคิดคือสิ่งสำคัญ

 

ในส่วนความแตกต่างระหว่างนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลกับนิเทศศาสตร์ของที่อื่น ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ ให้ความเห็นว่า เมื่อรู้ว่าตลาดสื่อกำลังกลายเป็นตลาดอาเซียน มหาวิทยาลัยนานาชาติที่มีภาษาอังกฤษเป็นช่องทางก็น่าจะได้เปรียบ

“ตั้งใจเปิดหลักสูตรเพื่อรองรับอาเซียนที่กำลังมา โดยต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กเข้าใจตลาดอาเซียน วัฒนธรรมสังคมการเมือง และอุตสาหกรรมด้านสื่อของอาเซียน ซึ่งความจริงมองไกลกว่านี้ อย่างเวลาดู Game of Thrones มันไม่ใช่การมานั่งแบ่งแยกว่าเป็นโทรทัศน์หรือว่าภาพยนตร์ แต่มันคือการรวมกันของช่องทาง ไม่ต้องมาแบ่งว่าเป็นภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือวารสาร เพราะ 1 เนื้อหาควรกระจายได้มากกว่า 10 ช่องทาง จึงสร้างสาขาที่ชื่อ Creative Content ขึ้นมา ดังนั้นนิเทศศาสตร์ของขวัญจึงเป็นนิเทศศาสตร์ที่เน้นการสร้างเนื้อหามากกว่าการสร้างรูปแบบ”

หลังจากเปิดสาขานิเทศศาสตร์ตามความตั้งใจแล้ว ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ ก็มองไปถึงอนาคตของนักเรียนที่ควรได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ตัวเอง จึงจัดให้มีชั้นเรียน Event Management (การบริหารการจัดงาน) กับเด็กตั้งแต่ชั้นปี 1 ซึ่งเป็นวิชาสอนวิธีการสร้างเนื้อหาให้สาธารณะรู้ว่าเรามีตัวตน และให้อิสระทางความคิดกับนักเรียนเต็มที่

เริ่มจากให้นักเรียนแข่งขันกันคิด Project ในวิชาดังกล่าวว่า เนื้อหาที่ควรนำมาจัดงานควรเป็นเรื่องอะไร จนเกิดเป็นเวิร์กช็อป หรือ Media Communication Master Class ขึ้นมา ซึ่งเมื่อปีที่แล้วมีเวิร์กช็อปในหัวข้อ Secrets of a Master Storyteller ได้ วิล สทอร์ นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้เขียนสารคดีให้กับ BBC มีผลงานตีพิมพ์ใน BBC, The Sunday Times และ The Guardians มาเผยเคล็ดลับงานเขียนระดับโลกให้คนในงานได้ฟัง

ขณะที่ปีนี้ เป็นหัวข้อใหม่จากกลุ่มนักเรียนประกวดความคิดและสามารถเอาชนะกลุ่มอื่นในชั้นได้ ชื่อหัวข้อว่า “The Art of SOUND Creation” กล่าวคือ เพลงมีผลในการสร้างแบรนด์อย่างไร และสามารถสร้างการจดจำได้อย่างไร คราวนี้บริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ (ประเทศไทย) ส่งคนมาพูด คือ ยุทธพงศ์ วรานุเคราะห์ ส่วนอีกคน คือ คีวาน ฟรอสต์ หรือ นักแต่งเพลงชาวอังกฤษและโปรดิวเซอร์ของศิลปินระดับโลก อาทิ บอย จอร์จ กับ มาร์ก รอนสัน ซึ่งเป็นคนทำเพลงกับ บรูโน มาร์ส บ่อยๆ

ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์  อิสรภาพทางความคิดคือสิ่งสำคัญ

 

อยากให้งานออกมาแบบฮิปๆ ไม่ต้องไฮโซมาก อยากให้เกรดสถานที่จัดงานอยู่ในระดับกลางๆ เพราะกลุ่มเป้าหมายเป็นนักดนตรีธรรมดากับคนเพิ่งเรียนจบแต่อยากขายงานได้ที่ต้องการหาแรงบันดาลใจ

ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ มีความตั้งใจว่า จะทำชั้นเรียนแบบนี้ทุกปีเพื่อให้เป็นที่รู้จัก อย่างตอนนี้กำลังสอนเนื้อหาให้เด็กสามารถพูดกับสังคมได้ว่า “เราคือใคร” แต่ภายใน 1-2 ปีข้างหน้าจะทำภาพยนตร์หรือสารคดี ทุนอาจไม่มาก แต่คาดว่าน่าเข้าถึงคนมากขึ้น

“เสน่ห์งานสอน คือ การได้ปั้นคนแล้วเห็นผล ภายใน 4 ปีมีเด็กเข้ามาในมือหลากหลาย จึงเห็นการเจริญเติบโตของเด็กๆ ด้วยมือเรา แต่ในขณะดียวกันก็ต้องยอมรับว่าไม่สามารถปั้นได้ทุกคน จะพยายามบอกลูกศิษย์เสมอ ไม่ว่าทำอะไรต้องไม่เสียใจภายหลัง ต้องทำให้ดีที่สุด เท่าที่ทำได้ในตอนนั้น เกิดเป็นคนต้องรู้คุณค่าของลมหายใจ

บางคนไม่รู้จักคุณค่าชีวิต ไม่รู้จักแสวงหา คิดแค่เรียนให้จบๆ ไปก็พอ แต่เมื่อมาเรียนสิ่งที่เป็นนิเทศศาสตร์มันต้องมีความชอบจริงๆ เพราะต้องทำงานหนัก เช่น ถึงเวลา 5 โมงเย็น ต้องซ้อมละคร ไม่มาไม่ได้ ตายสถานเดียว เพราะงานละครเป็นงานที่ต้องมีระเบียบวินัย เป็นการทำงานร่วมกับคนหมู่มาก บางครั้งประชาธิปไตยเกินไป คนก็ลืมเคารพส่วนรวม ดังนั้น จึงพยายามทำให้การมีระเบียบวินัยกลายเป็นวัฒนธรรมของหลักสูตรนี้”

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากอิสรภาพทางความคิดที่ได้มอบให้กับทั้งนักเรียนและตัวเอง ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ ยังมีอุดมการณ์อันแน่วแน่จากการจัดตั้งหลักสูตรนี้ขึ้นมา คือ เธอเชื่อว่าหลักสูตรนี้จะสามารถสร้างนักข่าวและสถานีข่าวที่ดีขึ้นมาได้ เธออยากสร้างผู้กำกับที่ไปไกลถึงเมืองคานส์ได้ตลอดเวลา สร้างคนที่เข้าใจเนื้อหาความเป็นคนไทยและเอเชีย รวมถึงมองหาคนทำหนังอินดี้ที่กล้าลุกขึ้นมาสร้างงานของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพานายทุน

“ทุกวันนี้ช่องทางมันเปิดกว้าง ถ้าดีจริงฝีมือถึงจริง ทำสารคดีส่งเน็ตฟลิกซ์ก็ได้ ไม่ต้องนั่งรอช่องทางไหน เพราะเรามีภาษาอังกฤษที่เป็นสากล จึงคิดว่าน่าจะตัดสินใจถูก อย่างน้อยภาษาอังกฤษของเด็กที่นี่ก็ดีจริง แต่ที่ยังเหลือคือแพสชั่น ทักษะที่ยังต้องตามหา และแรงผลักดันอื่นๆ ในชีวิต”

สุดท้าย ผศ.ดร.วรรณ์ขวัญ บอกว่า ในปีหน้าตั้งใจจัดงานใหญ่บนอาคารอทิตยาทร มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 5-6 เนื่องจากที่นั่นเป็นส่วนการสอนภาคปฏิบัติต่างๆ มีสตูดิโอถ่ายภาพยนตร์กับโรงละคร จึงตั้งใจจัดงานเปิดตึก ทั้งเทศกาลหนัง เทศการละคร และงานประชุมวิชาการด้านนิเทศศาสตร์พร้อมกันภายในคราวเดียว โดยจุดประสงค์หลักของงาน คือ เป็นเหมือนกับ Open House เพื่อแนะนำคณะอย่างเป็นทางการอีกครั้ง