posttoday

ธัญลักษณ์ อภิณหพานิชย์ จากเด็กสายวิทย์สู่เชฟขนมหวาน

04 สิงหาคม 2560

หากวันนั้นเธอไม่ตัดสินใจเบนเข็มชีวิตมาสอบตรงที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

หากวันนั้นเธอไม่ตัดสินใจเบนเข็มชีวิตมาสอบตรงที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อฝึกปรือฝีมือสำหรับเป็นเชฟ ตอนนี้เส้นทางชีวิตของ จูน-ธัญลักษณ์ อภิณหพานิชย์ เชฟขนมหวานหน้าตาชวนมองตั้งแต่แรกเห็น อาจต้องเปลี่ยนจากสวมผ้ากันเปื้อนไปสวมเสื้อกาวน์ ไม่ได้มีคำนำหน้าชื่อว่าเชฟ แต่ต้องเรียกเธอว่าเภสัชกรหญิงมากกว่า

“จูนเป็นเด็กสายวิทย์ คุณพ่อรับราชการ คุณแม่เป็นพยาบาล ที่บ้านสนับสนุนให้เอาดีด้านเภสัชกร ตอนแรกจูนก็ตั้งใจไปในสายนั้น แต่ปรากฏว่าไปสอบทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน จูนยังติดแค่ตัวสำรอง ระหว่างที่รอผล เลยมาลองสอบตรงที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ปรากฏว่าสอบติดคณะเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ เลยตัดสินใจเรียนที่นี่ดีกว่า เพราะจูนก็ชอบทำอาหารและขนมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว” เชฟขนมหน้าหวานแห่งร้านเอสเอ็นพี เฮดควอเตอร์ เปิดฉากเล่าถึงเส้นทางชีวิตเด็กสายวิทย์ที่พลิกผันอย่างออกรส

จูนบอกว่า การตัดสินใจของเธอในตอนนั้น แม้ช่วงแรกทางบ้านจะไม่เห็นด้วย แต่หลังจากได้เข้ามาเรียนและเริ่มมองเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพ ทางบ้านก็ค่อยๆ เปิดใจ

ธัญลักษณ์ อภิณหพานิชย์ จากเด็กสายวิทย์สู่เชฟขนมหวาน

 

“พอเข้ามาเรียน ทางมหาวิทยาลัยจะมีโครงการให้ไปฝึกงานกับบริษัทต่างๆ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน ตั้งแต่ปีหนึ่ง จูนเลือกเข้าโครงการฝึกงานกับเอสแอนด์พี เพราะมองว่าเป็นบริษัทใหญ่มีสายงานที่ค่อนข้างกว้างให้ได้เรียนรู้ เลยทำให้มีรายได้ระหว่างเรียน แถมยังได้เรียนรู้โลกแห่งการทำงานไปในตัว พอที่บ้านเห็นว่าเส้นทางที่เราเลือกมีอนาคตเลยเริ่มเห็นด้วยกับเส้นทางที่เราเลือก”

เชฟสาวยังบอกด้วยว่า หลักสูตรนี้เปิดโอกาสให้เธอได้เรียนรู้ทั้งศาสตร์การทำอาหารและขนม แต่สุดท้ายเธอเลือกเอาดีในสายขนมหวาน “จูนชอบกินขนมหวานอยู่แล้ว แต่ก่อนเวลาวันหยุดทีไรต้องไปตระเวนหาชิมขนมหวานอร่อยๆ พอได้มาเรียนก็ยิ่งหลงรักในศาสตร์การทำขนม เพราะเปิดโอกาสให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่”

การทำขนมต่างจากการทำอาหาร สำหรับเชฟสาวหน้าหวานมองว่า การทำอาหารไทยต้องพิถีพิถันในทุกขั้นตอนจริงๆ ถึงได้รสชาติถึงเครื่อง ขณะที่อาหารยุโรปถึงแม้จะส่วนผสมน้อย แต่เทคนิคในการปรุงอาหารค่อนข้างเยอะ ผิดกับขนมหวาน ที่แม้ตอนเรียนอาจารย์จะปลูกฝังว่า 1+1=2 แต่หลังจากได้ศึกษา และสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เธอกลับพบว่า เสน่ห์ของการทำขนมไม่ได้อยู่ที่การทำตามสูตรเท่านั้น แต่สูตรขนม 1 สูตร สามารถแตกออกเป็นสูตรย่อยได้มากมาย ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ของเชฟผู้อยู่เบื้องหลัง

ธัญลักษณ์ อภิณหพานิชย์ จากเด็กสายวิทย์สู่เชฟขนมหวาน

 

“สิ่งที่จูนชอบและรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ทำขนมคือ เราสามารถใส่ความเป็นเราลงไปในขนมได้ไม่สิ้นสุด ทุกครั้งที่ได้ทำขนม จูนรู้สึกว่าเวลาผ่านไปไวเหลือเกิน อีกเหตุผลที่จูนชอบทำขนมมากกว่าทำครัว เพราะห้องทำเบเกอรี่ส่วนใหญ่จะเป็นครัวเย็น แต่ถ้าเป็นครัวทำอาหารส่วนใหญ่จะร้อน” จูน บอกเล่าถึงความรักที่มีต่อการทำขนมอย่างอารมณ์ดี

ทุกวันนี้ จูนบอกว่า แม้ความสุขจากการตระเวนชิมขนมจะลดลง เพราะด้วยอาชีพเชฟขนมหวานทำให้ต้องชิมขนมแทบทุกวันอยู่แล้ว แต่ด้วยเนื้องานที่เปิดโอกาสให้เธอได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ในการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ตลอดเวลา ราวกับอยู่ในห้องทดลองที่มีโจทย์ใหม่ๆ เข้ามาท้าทายตลอดเวลา เลยทำให้สนุกกับการทำงานทุกวันจนไม่คิดจะโบกมือลา ส่วนอนาคต เธอวางแผนว่ายังอยากเรียนต่อ เพื่อหาความรู้ด้านการทำขนมเพิ่มเติม หลังจากนั้นจึงเดินหน้าสานฝันตัวเองที่อยากจะมีร้านขนม

“ตอนนี้จูนยังสนุกกับการเป็นเชฟขนม ยังไม่คิดจะลองไปชิมลางบทบาทใหม่ๆ เพราะการทำขนมเป็นทักษะที่ต้องหมั่นซ้อมมือ ถ้าทิ้งนานๆ ก็จะลืม ข้อดีของการเป็นเด็กสายวิทย์แล้วมาทำงานที่ต้องอาศัยศิลปะเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ คือ ทำให้เราได้เปรียบเพื่อนๆ เวลาเรียนอะไรที่ต้องอาศัยความรู้ด้านวิทย์ เราจะเข้าใจได้เร็ว แต่ข้อเสียคือ เราจะอาจอ่อนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ก็ต้องอาศัยหมั่นฝึกปรือ พยายามหาซิกเนเจอร์ของตัวเองให้เจอ”

ธัญลักษณ์ อภิณหพานิชย์ จากเด็กสายวิทย์สู่เชฟขนมหวาน

 

ชวนคุยมาถึงตรงนี้ เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วอะไรคือซิกเนเจอร์ในขนมผลงานของเชฟจูน คำถามนี้ทำเอาจูนหยุดคิดสักครู่ ก่อนเฉลยว่า ขนมของเธอต้องมีเทกซ์เจอร์ชุ่มฉ่ำหนักครีมและผลไม้

แม้วันนี้จูนจะยิ้มรับกับความสนุกที่แวะเวียนมาทักทาย อีกหนึ่งความท้าทายที่เธอได้รับจากการทำงานที่นี่ คือ โอกาสในการเป็นอาจารย์เวิร์กช็อปแต่งหน้าเค้กด้วยดอกไม้ให้กับผู้ที่สนใจ

“เป็นอีกงานที่ท้าทายค่ะ ต้องใจเย็น สมาธิต้องดี (หัวเราะ) เพราะเวลาสอนไม่เหมือนเวลาทำเอง บางครั้งผู้เรียนในห้องก็มีพื้นฐานไม่เท่ากัน ในฐานะผู้สอนเราต้องพยายามให้ผู้เรียนเรียนรู้ไปพร้อมกันได้” เชฟจูนกล่าวทิ้งท้าย