posttoday

ฐาปกรณ์ สุจริตอภิรักษ์ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อชีวิตโฟลว์ๆ

18 เมษายน 2560

เมื่อนึกถึงการออกแบบแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงการออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไปในแนวทางแฟชั่นไปเลย หรือไม่ก็การออกแบบบ้าน

โดย...อณุสรา ทองอุไร ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

เมื่อนึกถึงการออกแบบแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงการออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไปในแนวทางแฟชั่นไปเลย หรือไม่ก็การออกแบบบ้าน แต่ถ้าเป็นเรื่องของการออกแบบเฟอร์นิเจอร์อาจจะนึกภาพไม่ค่อยออกเท่าใดนัก วันนี้เราได้ไปสัมภาษณ์ชายหนุ่มวัย 35 ปี ที่ทำงานทางด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์มานานกว่า 10 ปี เป็นอาชีพที่เขาทำงานตามสายงานที่ได้ร่ำเรียนมา เป็นอาชีพเดียวที่เขาทำนับตั้งแต่จบการศึกษา

ฐาปกรณ์ สุจริตอภิรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ โฟลเวิร์ก (Flowork) ของ บริษัท สยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์เหล็กและเฟอร์นิเจอร์ไม้ชั้นนำของไทย เขาจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม ออกแบบผลิตภัณฑ์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยจบเอกด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์  ระหว่างเรียนมีการประกวดออกแบบ เขาได้รางวัลชมเชยจากการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สนามทำจากหวาย ให้กับบริษัท ฮาวายไทย

เขาจะถนัดการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ โดยจะปรับให้เหมาะสมกับการผลิตแบบจำนวนมาก รวมไปถึงการวิเคราะห์และออกแบบเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการออกแบบเพื่อรองรับพฤติกรรมในการใช้งานในการทำงาน และในสำนักงาน เฟอร์นิเจอร์เพื่อชีวิตโฟลว์ๆ ของคนออฟฟิศ

ด้วยความเข้าใจในความต้องการของคนรุ่นใหม่อย่างลึกซึ้ง เขาจึงพยายามจะออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อมุ่งตอบโจทย์เฟอร์นิเจอร์สำหรับออฟฟิศที่ลงตัวทั้งด้านดีไซน์และการใช้งาน

เขาบอกว่าโดยทั่วไปพนักงานใช้เวลาทำงานในออฟฟิศโดยเฉลี่ย 8-10 ชั่วโมง/วัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ดังนั้น เฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้ในออฟฟิศจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำองค์กรรุ่นใหม่หันมาให้ความใส่ใจทั้งในเรื่องของคุณภาพและดีไซน์กันมากขึ้น จึงคิดค้นแบรนด์ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้อย่างดีที่สุด มุ่งเน้นการผลิตเฟอร์นิเจอร์คุณภาพเยี่ยมสำหรับการใช้งานในออฟฟิศ จึงเป็น One Stop Service สำหรับมัณฑนากร ตอบทุกโจทย์ความต้องการของเฟอร์นิเจอร์สำหรับออฟฟิศได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ฐาปกรณ์ สุจริตอภิรักษ์ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อชีวิตโฟลว์ๆ

ฐาปกรณ์ กล่าวว่า ในการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์สำหรับออฟฟิศ นอกจากเรื่องของความสวยงามแล้ว ยังต้องคำนึงถึงขนาดพื้นที่และการใช้งานจริงด้วย เช่น โต๊ะทำงาน ต้องมีช่องสำหรับเดินสายไฟ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีพื้นที่ในการวางเอกสารและจัดเก็บอุปกรณ์ที่จำเป็น และเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งที่สำคัญมากก็คือเก้าอี้ พนักงานออฟฟิศใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานนั่งอยู่บนเก้าอี้ ดังนั้น เก้าอี้ที่ดีจะต้องออกแบบมาเพื่อท่านั่งที่ถูกต้อง ช่วยประคองหลัง ทำให้นั่งสบาย ลดการเป็นออฟฟิศซินโดรม

สำหรับโฟลเวิร์ก เฟอร์นิเจอร์สำหรับออฟฟิศที่ผ่านการดีไซน์และการผลิตด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอน นอกจากจะเสริมภาพลักษณ์ขององค์กร สะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารแล้ว ยังส่งผลต่อความสุขของคนทำงาน และช่วยให้การดำเนินงานภายในองค์กรเป็นไปอย่างสะดวกราบรื่นอีกด้วย

ไอดอลที่เป็นแรงบันดาลใจของเขานั้น อันดับหนึ่งในดวงใจเลยก็คือ กษัตริย์นักพัฒนา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของปวงชนชาวไทย ผู้ที่เป็นนักคิดและนักพัฒนาอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย “พระองค์ท่านมีบทบาทในชีวิตผมมากๆ ในตอนมัธยมปลายผมได้ศึกษาเรื่องกังหันน้ำชัยพัฒนาอย่างจริงจัง เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจเลยว่าอยากเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ อยากออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งาน” เขากล่าวอย่างภูมิใจ

เมื่อเข้ามาเรียนแล้วก็ได้เจอไอดอลอันดับที่สอง อาจารย์ต่อวงศ์ ปุ้ยพันธวงศ์ จากการที่เขาได้เรียนวิชาความรู้จากอาจารย์ และได้อาจารย์คอยให้คำแนะนำในเรื่องของหลักการทำงาน วิธีการทำงานออกแบบ ให้คำปรึกษาทั้งในเรื่องของการออกแบบและเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ชีวิตในฐานะนักออกแบบ

ในการทำงาน เขายึดหลักการทำงาน 23 ข้อ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นแนวทางในการทำงานเป็นหลัก พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงาน ทรงมีมุมมองที่กว้างไกลทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง

ฐาปกรณ์ สุจริตอภิรักษ์ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อชีวิตโฟลว์ๆ

“ผมเป็นคนชอบมีทีมงานเป็นคนที่เก่งๆ เก่งกว่าได้ยิ่งดีเลย เราทำงานกันเป็นทีม เรียนรู้กันและกัน ยิ่งทำงานกับคนเก่ง เราก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ และหลักการบริหารงานของผม คำว่าทีมสำคัญที่สุด ทุกคนต้องสามารถรู้เรื่องงานของแต่ละคนได้ เน้นให้มีการแชร์การทำงานกันเสมอ

ที่สำคัญคือหลักการ Work Life balance ที่ใช้โดยตลอดครับ โดยในทีมจะเน้นการทำงานแบบรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้เสร็จ ไม่อนุญาตให้อยู่ทำงานหลังเลิกงานครับ อันนี้ห้ามโดยเด็ดขาด เพราะต้องการให้เอาเวลาที่เหลือไปใช้ให้เกิดประโยชน์อื่นๆ เช่น เรียนรู้ พักผ่อน อยู่กับครอบครัว”

การทำงานต้องเป็นระบบ ที่เริ่มจากการศึกษาหาข้อมูลจากวงกว้างก่อน เพื่อให้เขามีข้อมูลโดยรวม จากนั้นค่อยทำการวิเคราะห์แก้ปัญหาจากจุดเล็กๆ ทีละจุดๆ โดยที่เขาต้องพยายามมองผลกระทบให้ครอบคลุมกับทุกข้อมูลที่มีมาทั้งหมดด้วย

เนื่องจากเขาต้องคอยตรวจเช็กก่อนว่าการออกแบบนั้นเหมาะสมกับกระบวนการผลิตภายในโรงงานหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้ตีกรอบจำกัดอยู่แค่ความสามารถในการผลิตของโรงงานอย่างเดียว หากมีชิ้นส่วนในการออกแบบที่จำเป็นต้องมี แล้วเขาวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าแล้ว ก็จะหาผู้ผลิตที่สามารถทำได้มาผลิตให้ เพราะเขาคำนึงถึงการออกแบบสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเป็นหลัก

เรื่องการออกแบบนั้นมีตันหรือไม่นั้น เขาตอบว่ามีบ้างเหมือนกัน ส่วนมากจะเป็นขั้นตอนที่ทำการผลิตตัวอย่าง ที่ผลิตออกมาแล้วไม่ได้ตามที่ได้วิเคราะห์และออกแบบไว้ อาจจะเนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิต หรือจากการทดลองใช้งาน ทำให้บางทีแทบจะไปต่อไม่ถูกเลย เพราะว่าเป็นแบบที่มีการกลั่นกรองแล้วพอสมควร พอทำไม่ได้เลยเหมือนแทบจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ส่วนตอนออกแบบจะเป็นตอนที่สรุปโจทย์ไม่ลงตัว ส่วนมากจะมาจากข้อมูลความต้องการที่เรามีนั้นมากเกินไป ทำให้ต้องคิดการออกแบบที่ตอบสนองหลายอย่างเกินไป เลยทำให้โจทย์กว้างมาก ทำไปเรื่อยๆ ก็จะเจอแต่ปัญหาให้แก้ไขที่เพิ่มเข้ามา ส่วนมากเลยต้องวนกลับมาตั้งโจทย์ใหม่อีกครั้ง และพยายามลดทอนให้เหลือเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ฐาปกรณ์ สุจริตอภิรักษ์ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อชีวิตโฟลว์ๆ

โชคดีว่าอยู่บริษัทแบบนี้แม้มีกรอบในการออกแบบ แต่ก็อิสระในการคิดพอสมควร เพราะที่บริษัทนี้ให้อิสระในการคิดกับเขามาก โดยทางทีมขายและการตลาดจะใส่ใจกับเรื่องที่ว่า งานที่ออกแบบมานั้นตอบโจทย์ความต้องการและข้อมูลที่ให้ไปได้แค่ไหน และมีจุดเด่นที่อะไร และให้ความสำคัญกับการทดลองใช้งานจริงมากกว่าที่จะมาจำกัดการออกแบบด้วยงบประมาณหรือต้นทุน เนื่องจากเขาดูแลครอบคลุมในส่วนของต้นทุนอยู่แล้วในขั้นตอนการออกแบบ ซึ่งทางบริษัทก็เชื่อใจและมั่นใจในประสบการณ์ทำงานของเขาพอสมควร เลยทำให้เขาสามารถทำงานออกแบบที่มีประสิทธิภาพที่ดีออกมาได้จริง ไม่ใช่ฝันอยู่แค่บนกระดาษออกแบบเท่านั้น

สำหรับการออกแบบที่ดีในความคิดเขานั้นคือเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงภาพโดยรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต้องตอบโจทย์ให้ได้ครอบคลุม และคิดถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวของชิ้นงานที่เขาจะออกแบบ เพื่อให้สามารถเข้ากันได้อย่างลงตัว ทั้งในตอนที่มีการใช้งาน และไม่ได้มีการใช้งาน โดยเขามีคติประจำใจว่า สินค้าที่คุณออกแบบ ไม่ได้อยู่เพียงชิ้นเดียวในห้องเปล่าๆ ดังนั้นหากเขาจะเป็นนักออกแบบที่ดีเขาต้องไม่คิดถึงแค่งานออกแบบของเขาอย่างเดียว และถ้ายิ่งคิดถึงการลดภาระให้กับสภาพแวดล้อมได้ก็จะดีมากขึ้น

ซิกเนเจอร์ที่เป็นการออกแบบที่บ่งบอกถึงตัวเขาเอง อยู่ที่รายละเอียดข้างใน ภายนอกส่วนมากจะดูเรียบง่าย แต่ภายในจะประกอบไปด้วยหลายๆ ชิ้นงาน ที่มีการออกแบบมาให้รองรับกันและกัน ส่วนมากงานออกแบบจะออกแบบมาในแนวทางรองรับพฤติกรรมการใช้งานให้ได้หลายๆ รูปแบบ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปมาได้ในตัว และรูปแบบที่สามารถเข้ากับสภาพแวดล้อมได้กลมกลืนกัน

เขาบอกว่าเมื่อเจอปัญหาอุปสรรค เขาพยายามที่จะให้พลังใจตัวเอง ด้วยการพยายามมองบวกเข้าไว้ ส่วนมากก็จะคิดว่าเขาคงสื่อสาร ทำให้คนอื่นไม่เข้าใจเพียงพอ และยังพยายามไม่มากพอ ยังเก่งไม่มากพอ เลยทำให้ยังเจอกับอุปสรรคอยู่ แต่ถ้าเจออุปสรรคที่ไม่สามารถแก้ไขเลย ก็จะยอมถอยหลังมาหนึ่งก้าว เพื่อมองภาพรวมก่อน ค่อยก้าวเข้าไปใหม่ เขาคิดว่าถ้าพยายามมองบวกเข้าไว้ ใจเย็น และคิดให้รอบคอบอย่างมีสติ อุปสรรคถูกแก้ไข หรือทุเลาลงได้