posttoday

ท็อป 10 กองทุน LTF เช็กก่อนตัดสินใจ "ถือ" หรือ "ขาย"

09 มกราคม 2561

เปิดโผกองทุนแอลทีเอฟที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดย้อนหลัง 5 ปี

โดย...พูลศรี เจริญ

ถือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ครบ 5 ปี ควรขายดีมั้ย หลังดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นที่ระดับ 1,800 จุดได้สำเร็จตามแรงลุ้น

ขณะที่มีการประเมินว่าปี 2561 มีกองทุนแอลทีเอฟที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยมีต้นทุนที่ดัชนีประมาณ 1,414 จุด มีผลตอบแทนประมาณ 23-26%

นักลงทุนจะขายหรือถือต่อแต่ละคนล้วนมีเหตุผลและปัจจัยเฉพาะตัวเป็นองค์ประกอบ

บางคนมีเป้าหมายว่าจะให้เงินก้อนนี้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ

บางคนก็บอกว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงิน

ขณะที่บางคนอาจบอกว่าพอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป้าหมายหลักของรัฐบาลในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟก็เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ไถ่ถอนเงินลงทุนจากกองทุนแอลทีเอฟ หรือใครที่ขายไปแล้วบางส่วน มีข้อมูลผลตอบแทนกองทุนแอลทีเอฟมาให้พิจารณาประกอบการตัดสินใจ เป็นข้อมูลที่จัดอันดับโดยบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ในที่นี้จะขอแสดงให้เห็นถึงกองทุนแอลทีเอฟที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดย้อนหลัง 5 ปี ดังนี้    

อันดับ 1 กองทุนเปิดภัทร หุ้นระยะยาวปันผล ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี ที่ 11.24% ต่อปี

อันดับ 2 กองทุนเปิด บรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว ให้ผลตอบแทน 10.30% ต่อปี

อันดับ 3 กองทุนเปิด แมนูไลฟ์ สเตร็งค์ คอร์ หุ้นระยะยาว ให้ผลตอบแทน 10.01% ต่อปี

อันดับ 4 กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาวอิควิตี้ ให้ผลตอบแทน 9.89% ต่อปี

อันดับ 5 กองทุนเปิด แวลูพลัส ปันผลหุ้นระยะยาว ให้ผลตอบแทน 9.78% ต่อปี

อันดับ 6 กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีเพิ่มค่าหุ้นระยะยาว ให้ผลตอบแทน 9.47% ต่อปี

อันดับ 7 กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ไลฟ์ หุ้นระยะยาว ให้ผลตอบแทน 9.05% ต่อปี

อันดับ 8 กองทุนเปิดวรรณเอเอ็มซีเล็คทีฟโกรท หุ้นระยะยาว ให้ผลตอบแทน 8.79% ต่อปี

อันดับ 9 กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาวแอ็คทีฟ SET50 ปันผล ให้ผลตอบแทน 8.73% ต่อปี

อันดับ 10 กองทุนเปิด ยูโอบี หุ้นระยะยาว ให้ผลตอบแทน 8.44% ต่อปี

ข้างต้นคือตัวอย่างผลตอบแทนที่ยกมาให้ดูโดยที่ยังไม่รวมเงินภาษีที่แต่ละคนได้สิทธิลดหย่อนในแต่ละปี แต่อย่างที่บอกว่าใครจะถือ หรือขาย ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล

มาดูกันว่าเบอร์หนึ่งที่มีกองทุนแอลทีเอฟ ภายใต้การบริหารสูงสุดอย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)บัวหลวง สถานการณ์เป็นอย่างไร

พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า ในช่วง 2 วันแรกของวันทำการปี 2561 (3-4 ม.ค.)มีเงินไหลออกสุทธิ 1,227 ล้านบาท (มีเงินไหลเข้า 65.9 ล้านบาท และมีเงินไหลออก 1,292.9 ล้านบาท )

สาเหตุที่ลูกค้าไถ่ถอนเงินออกจากกองทุนแอลทีเอฟบางส่วน เนื่องจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบกว่า20 ปี ทำให้มีนักลงทุนบางส่วนทยอยขายทำกำไรไปบ้าง

ซีอีโอกองทุนบัวหลวงมีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยปีนี้ว่าน่าจะยังไปได้ต่อ โดยยังมองว่าเป็นตลาดขาขึ้น ภายใต้สภาพปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อย่างเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว รวมถึงเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มฟื้นตัวเช่นกัน ทั้งจากภาคการส่งออก การบริโภคและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้มีตัวเลขคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2561 เติบโต 3.8-4%

“ดัชนีหุ้นไทยที่ปรับขึ้นมาจากระดับ 1,700 จุด มาแถวๆ 1,800 จุด ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนได้สะท้อนถึงความคาดหวังที่ดีต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในอนาคตนั่นเอง”

อย่างไรก็ดี พีรพงศ์ กล่าวว่า มีปัจจัยหลักที่นักลงทุนยังคงให้ความสำคัญ หนีไม่พ้นเรื่องของความคาดหวังที่จะเห็นการเลือกตั้งในปีนี้ และความสำเร็จของโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนต่อจากนี้ไป

ขณะที่ บลจ.กรุงศรี ให้ข้อมูลว่า 2 แรกหลังเปิดปีจอ (3-4 ม.ค.) ลูกค้าขายทำกำไรกองทุนแอลทีเอฟประมาณ 1,000 ล้านบาทซึ่งเป็นการขายทำกำไรออกบางส่วน เนื่องจากหุ้นปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดีลูกค้าส่วนใหญ่ยังถือลงทุนต่อไป

สำหรับปี 2560 มีเงินลงทุนใหม่ไหลเข้ากองทุนแอลทีเอฟ ภายใต้การบริหารของ บลจ.กรุงศรี 1.32 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีเงินไหลออก 8,900 ล้านบาท