posttoday

OTOP อาหาร ถูกใจนักช้อปมากสุด หนุนยกระดับสินค้าเพิ่มยอดขาย

06 เมษายน 2564

พาณิชย์ สำรวจสินค้าชุมชน สร้างเงินหมุนเวียน กว่า 3.4 แสนล้าน ชี้คนไทยนิยมซื้อในแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหาร-ของใช้ เป็นที่นิยม

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคสินค้าชุมชน ประจำเดือนก.พ. 2564 ว่า คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจและอุดหนุนสินค้าชุมชน ซึ่งจะช่วยให้สินค้าชุมชนสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้การสำรวจจากประชาชนจำนวน 8,031 คนทั่วประเทศ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 72.51 เคยซื้อสินค้าชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อมาเพื่อใช้หรือบริโภคเอง ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศรู้จักสินค้าชุมชนเป็นอย่างดี และสามารถเข้าถึงได้ง่าย

เมื่อสอบถามถึงประเภทสินค้าที่ซื้อ ผลการสำรวจพบว่า ของกินได้รับความนิยมมากที่สุด ร้อยละ 63.11 รองลงมา ของใช้ร้อยละ 28.42 และของที่ระลึก/ประดับตกแต่ง ร้อยละ 8.48 โดยเหตุผลหลักที่ทำให้ซื้อสินค้าชุมชน ได้แก่ ราคาย่อมเยา ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชน และสินค้ามีคุณภาพ (อาทิ สินค้าออแกนิกส์ ปลอดภัย และรสชาติดี)

ขณะที่สินค้าประเภทของที่ระลึก/ประดับตกแต่ง นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว ประชาชนให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าสินค้ามีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะท้องที่ และมีบรรจุภัณฑ์สวยงาม

OTOP อาหาร ถูกใจนักช้อปมากสุด หนุนยกระดับสินค้าเพิ่มยอดขาย

สำหรับความถี่และวงเงินที่ซื้อ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ซื้อสินค้าชุมชนไม่เกิน 10 ครั้งต่อปี ส่วนใหญ่ซื้อครั้งละไม่เกิน 500 บาท (ร้อยละ 82.41) โดยข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานรัฐ นักธุรกิจ/เจ้าของกิจการ และพนักงานบริษัท  มีแนวโน้มใช้จ่ายมากกว่าอาชีพอื่น เป็นที่น่าสนใจว่า มูลค่าการซื้อสินค้าชุมชนในสถานการณ์ปกติ มีมูลค่าถึงประมาณ 3.4 แสนล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 2.17 ของ จีดีพี

ส่วนช่องทางการซื้อสินค้า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ซื้อจากร้านค้าชุมชน/โชว์ห่วย/ศูนย์ OTOP มากที่สุดถึงร้อยละ 52.08 ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 18.77 และงานแสดงสินค้า ร้อยละ 15.19 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโอกาสการซื้อสินค้าชุมชนมักควบคู่ไปกับการเดินทางท่องเที่ยวในชุมชนนั้นเป็นหลัก ดังนั้น หากเราสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ด้านความพึงพอใจโดยรวมของสินค้าชุมชน ผู้ตอบ แบบสอบถามร้อยละ 45.01 พึงพอใจต่อสินค้าชุมชนขณะที่ผู้ที่ยังไม่พอใจ มีความคิดเห็นว่า สินค้าชุมชนต้องมีการพัฒนาการตลาดที่น่าสนใจ เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และตรงกับกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาคุณภาพสินค้า อาทิ ความสะอาด รสชาติ รูปแบบสินค้า ประโยชน์การใช้งาน ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และมีการขอมาตรฐานต่าง ๆ อาทิ มอก. ฮาลาล สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นต้น เพื่อให้สินค้ามีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถแข่งขันกับสินค้าอุตสาหกรรมและส่งออกได้

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าชุมชนในทุกภูมิภาค โดยเน้นการสร้างประสิทธิภาพ การขยายโอกาสทางการตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตและบริการอื่นๆ เพื่อให้สินค้าชุมชนมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการจดทะเบียนสินค้า GI  สนับสนุนกลุ่ม OTOP/สินค้าชุมชน ให้เข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ฟื้นฟูธุรกิจโชห่วยในชุมชน และการพัฒนาชุมชนควบคู่ธุรกิจผ่านวิสาหกิจเพื่อสังคม อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากในภูมิภาคต่างๆ มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง