posttoday

ร้านเสริมสวยที่เปิดมา30 ปี ยอมอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ 22 วัน ฝ่าวิกฤตโควิด19

21 มีนาคม 2563

หลังจาก กรุงเทพมหานคร (กทม) โดย พล.ต.ต. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. ออกประกาศ สั่งปิดสถานที่เสี่ยง เพิ่ม 22 วัน เริ่ม 22 มี.ค. -12 เม.ย. 63 เว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารขายได้เฉพาะหิ้วกลับบ้าน

สำหรับสถานที่เสี่ยงปิดเพิ่มเติม ได้แก่ สปา นวดเพื่อสุขภาพ สถานบริการควบคุมน้ำหนัก สปาอาบน้ำ ตัดขนสัตว์ ลานสเก็ตหรือโรลเลอร์เบรด กิจการเสริมสวย และคลินิคเสริมความงาม สวนสนุก โบว์ลิ่ง ตู้เกม กิจการบริการคอมพิวเตอร์

สนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟ สระว่ายน้ำ กิจการสักผิว กิจการบริการเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้าน บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน สนามพระ สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่สถานที่จัดประชุมและนิทรรศการ ตลาดทุกประเภท ยกเว้นแผงของสด และแผงค้าที่จำหน่ายอาหารตามความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ห้างสรรพสินค้า ยกเว้นส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย สถานศึกษารัฐ เอกชน โรงเรียนประจำ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสอนศาสนา

โรงเรียนกวดวิชาทุกแห่ง สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันอบรมวิชาชีพทั่วกรุงเทพฯ

อยุธยา ไพศาลทรัพย์ผล ผู้ประกอบการธุรกิจ ร้านเสริมสวย Salon Taya และ ธุรกิจเครื่องมือสินค้าเกษตร บอกว่าในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย(เอสเอ็มอี) มานานร่วม 30 ปี จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มองว่าเป็น "world Crisis" ของทั่วโลก ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

"เป็นปัญหาของระบบทั้งโลก เกิดขึ้นเพื่อให้เราเรียนรู้ แม้ตอนนี้จะป้องกันยังไม่ได้ แต่ดูแลได้ และเชื่อว่าจะมีวัคซีน ออกมาใช้ในระยอันใกล้ี้ ซึ่งโควิด-19 ตีงนี้ ถือเป็นบทเรียนของเราทุกคนทั่วโลก"

สำหรับ มาตรการของกทม. ที่ประกาศ ออกมานั้น ในส่วนของธุรกิจร้านเสริมสวย ซึ่งมีอยู่สองสาขา ที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ และ ศูนย์การค้าฟอร์จูน พร้อมปิดบริกการทันที ตามระยะเวลาที่กทม. ประกาศออกมารวม 22 วัน

โดยช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาจทำให้ ธุรกิจเสริมสวย ขาดรายได้ไปกว่าสองแสนบาท จากรายได้ที่หายไป แต่ยังคงมีต้นทุนคงเดิม โดยเฉพาะการจ่ายรายได้ให้กับพนักงานของร้าน ที่มีอยู่ราว 5 คน ไปจนถึงต้นทุนดำเนินการในด้านต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การที่ธุรกิจ ยังสามารถดำรงอยู่ได้มาถึง 30 ปีนั้น มาจากแนวทางหลักในการดำเนินกิจการภายใต้หลัก "ปรัชญาพอเพียง" ของในหลวงรัชกาลที่9 ที่ตนเอง ยึดถือปฎิบัติมาโดยตลอด พร้อมยกตัวอย่าง เข่น หากเราหารายได้มีเงินอยู่ 10 บาท ใช้ 3 บาท เหลือเก็บ 7 บาท

"ตลอดระยะเวลา 30 ปีของการทำธุรกิจจะต้องมีความระมัดวังอยู่ที่เสมอ และที่ สำคัญ คือ พอเพียง" อยุธยา อธิบาย

และเมื่อทำเช่นนี้มาเรื่อยๆ ถึงคราววิกฤตใดๆเกิดขึ้น ธุรกิจนั้นๆ ก็จะยังรอดได้อยู่ หรือ หากมีคำถามว่า "เอามาใช้จ่ายเพียงแค่ 3 บาท แล้วมันจะพอหรือ?" เจ้าของธุรกิจเสริมสวย ให้คำตอบว่า "คำว่า พอ หรือ ไม่พอ นั้น ขึ้นอยู่กับใจของเรา ไม่ใช่สินค้า"

ดังนั้น ในช่วงระหว่าง ที่จะมีการ "ล็อค ดาวน์" หรือ ปิดกรุงเทพฯ นั้น ถือ เป็นระยะเวลาที่ ธุรกิจ รวมถึง ประชาชนทั่วไป ควรเตรียมความพร้อมเพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหาวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ร่วมกัน "หากทำแล้วทุกอย่างจะจบ"

อย่างธุรกิจร้านเสริมสวย ตัดผม ของตนเองนั้นก็จะปิดให้บริการตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว เพื่อรับมาตรการ "ล็อค ดาวน์" อย่างจริงจัง ส่วนกิจการเครืองมือเกษตรนั้น คาดจะยังดำเนินการได้อยู่ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ด้วยเป็นสินค้าที่ทำตลาดในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตามสำหรับสิ่งที่ ภาครัฐ ควรเร่งดำเนินการออกมาทันที หลังผ่านพ้น "ล็อค ดาวน์ กรุงเทพฯ" 22 วัน ไปแล้ว คือ มาตรการเยียวยา ลูกจ้าง ปะชาชน ผู้ประกอบการธุรกิจ ห้าง ร้าน ที่จะสูญเสียรายได้ ในช่วงดังกล่าวไป

โดยในส่วนของ ภาคประชาชน อาทิ นโยบายผ่อนปรน การชำระค่างวดสินค้า บ้าน หรือ รถยนต์ ฯลฯ ที่กำหนดชำระค่างวดตามวันเวลาที่กำหนด อาจให้เลื่อนได้ออกไป หรือ ในส่วนของ ผู้ประกอบการ มีมาตรการเยียวยา ผู้ประกอบการ ด้านเครดิตภาษีลูกค้า เป็นระยะเวลา 2-3 ปี จากปัจจุบันให้ใช้จ่ายปีเดียว

รวมถึง มาตรการผ่อนปรน ด้านสาธารณูปโภค ของประชาชน เช่น น้ำปะปา ไฟฟ้า เป็นต้น หรือ คูปอง ประเภทต่างๆ สำหรับผู้ประกอบ เพื่อเป็นเงินช่วยผู้ประกอบการ เป็นต้น

พร้อมทิ้งท้ายว่า จากวิกฤตครั้งนี้ถือว่าแย่ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไข ในตอนนี้ทันที เพราะหากช้ากว่านี้ อนาคต จะแย่ขึ้น

โดย ดวงใจ จิตต์มงคล