posttoday

นิยามใหม่ SME

31 ตุลาคม 2561

ในคราวการประชุมบอร์ด สสว. เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา มีประเด็นหนึ่งในการพิจารณา

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ในคราวการประชุมบอร์ด สสว. เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา มีประเด็นหนึ่งในการพิจารณา ซึ่งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้นำเสนอคือร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดจำนวนการจ้างงานหรือรายได้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. ...

ที่มาของเรื่องดังกล่าวคือ แผนการปฏิรูปประเทศที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2561 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2561 โดยในแผนปฏิรูปประเทศด้านการพัฒนาขีดความสามารถและการแข่งขันประเด็นการปฏิรูปที่ 16 การเพิ่มระดับการแข่งขันทางธุรกิจ-วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้กำหนดให้ สสว.ทบทวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการอ้างอิงจากรายได้ จำนวนลูกจ้าง และ/หรือปัจจัยอื่นๆ ให้มีความชัดเจนและสามารถนำไปปรับใช้ ซึ่งนั่นคือที่มาของร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดจำนวนการจ้างงานหรือรายได้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. ...

สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวคือ เพื่อใช้ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือผู้ประกอบการ

จากเดิมที่ได้กำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎกระทรวงได้กำหนดจำนวนการจ้างงานและมูลค่าสินทรัพย์ถาวรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2545 ไว้ คือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีจำนวนแรงงาน 50-200 คน สินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน 50-200 ล้านบาท ซึ่งในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดจำนวนการจ้างงานหรือรายได้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. ...

สำหรับการดำเนินงานในเรื่องที่ผ่านมาคือ สสว.ได้ดำเนินการทบทวนและกำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใหม่ โดยพิจารณาจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีการประชุมระดมความเห็น (Focus Group) จำนวน 2 ครั้ง เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมการผลิต สมาคมการค้า รวมทั้งส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการเงินที่มีภารกิจด้านการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 52 หน่วยงาน ซึ่งได้ข้อสรุปที่เป็นประเด็นเห็นความมีการปรับเปลี่ยนหลายเรื่อง

อาทิ จำนวนการจ้างงาน มูลค่าทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) รายได้ ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว

นอกจากนี้ สสว.ยังได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ การพิจารณาถึงข้อดีและข้อจำกัดของเกณฑ์ต่างๆ การศึกษานิยาม SME ของต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับนิยามใหม่ของ SME

โดยเฉพาะในประเทศที่มีโครงสร้างของจำนวน SME ที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าการกำหนดนิยามส่วนใหญ่จะมีการกำหนดนิยามของวิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprise) ไว้ด้วย และเกือบทุกประเทศจะกำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยใช้เกณฑ์การจ้างงานหรือรายได้กิจการ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

นิยามวิสาหกิจรายย่อย ภาคการผลิต บริการ และการค้า (ค้าส่ง-ค้าปลีก) จำนวนแรงงานไม่เกิน 5 คน รายได้กิจการไม่เกิน 1.8 ล้านบาท

นิยามวิสาหกิจขนาดขนาดย่อม ภาคการผลิต แรงงานไม่เกิน 50 คน รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ภาคบริการและการค้า แรงงานไม่เกิน 30 คน รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท

วิสาหกิจขนาดกลาง ภาคผลิต แรงงานไม่เกิน 200 คน รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ภาคบริการ แรงงานไม่เกิน 100 คน รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท และภาคการค้าแรงงานไม่เกิน 50 คน รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท

โดยในกรณีที่จํานวนการจ้างงานเข้าลักษณะของวิสาหกิจขนาดหนึ่ง แต่จำนวนรายได้เข้าลักษณะของวิสาหกิจอีกขนาดหนึ่งให้ถือจํานวนการจ้างงาน หรือรายได้ที่มากกว่าเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา และจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

สสว.เชื่อมั่นว่า เมื่อร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดจำนวนการจ้างงานหรือรายได้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. ... ประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงเมื่อไหร่ ก็จะทำให้การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย SME ในการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือผู้ประกอบการในมิติต่างๆ ต่อไป