posttoday

"Algaeba"สร้าง AgTech เพื่อการทำฟาร์มประมง-อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ

18 กรกฎาคม 2561

"Algaeba" สตาร์ทอัพการเกษตรของไทย ได้นำเสนอเทคโนโลยีการทำฟาร์มสัตว์น้ำรูปแบบใหม่

"Algaeba" สตาร์ทอัพการเกษตรของไทย ได้นำเสนอเทคโนโลยีการทำฟาร์มสัตว์น้ำรูปแบบใหม่

************************

โดย....วราภรณ์ เทียนเงิน

"Algaeba" สตาร์ทอัพการเกษตรของประเทศไทย ได้นำเสนอเทคโนโลยีเพื่อการทำเกษตรฟาร์มประมง สัตว์น้ำไทยรูปแบบใหม่ ให้เติบโตด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมมาสร้างธุรกิจไทย พร้อมแข่งขันในตลาดโลก ด้วยเทคโนโลยี ที่เป็น ดีพเทคโนโลยีของบริษัทเอง

“กันย์ กังวานสายชล” ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท อัลจีบา เปิดเผยว่า “Algaeba” สตาร์ทอัพด้านการเกษตร (Agriculture Technology) หรือ Agtech ที่มีเทคโนโลยีในเชิงลึกของบริษัทที่ได้พัฒนาขึ้นเอง (ดีพ เทคโนโลยี) โดยก่อตั้งด้วยทีม 3 คนที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ได้แก่ ดร.กันย์ , เจษนุวัฒน์ ด่านลาพล ซีโอโอและผู้ร่วมก่อตั้ง (COO/Co-Founder) และ บดินทร์ ชีวธนากรณ์กุล ซีทีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง (CTO/Co-Founder)

เทคโนโลยีที่บริษัทได้พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.สาหร่ายแบบเข้มข้น ที่เหมาะสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงลูกกุ้ง 2.การสร้างระบบในเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่มีมาตรฐาน และ 3. การสร้างแฟลตฟอร์มสำหรับเกษตรผู้เพาะเลี้ยงลูกกุ้ง ด้วยเทคโนโลยีระบบเพาะเลี้ยงลูกกุ้งแบบอัตโนมัติ (Automated Hatchery) โดยทุกผลิตภัณฑ์เป็นเทคโนโลยีที่บริษัทได้คิดค้นเอง เพื่อร่วมเปลี่ยนโฉมภาคการเกษตรและประมงของประเทศไทย

1.สาหร่ายแบบเข้มข้น บริษัทได้สร้างรูปแบบ (แพลตฟอร์ม) ของการเลี้ยงสาหร่ายขึ้นมาเอง จึงเหมาะสำหรับเกษตรกร ในกลุ่มผู้ที่เลี้ยงลูกกุ้ง และต้องใช้สาหร่ายขนาดเล็กเป็นอาหารให้แก่ลูกกุ้ง ส่งผลให้เกษตรผู้เลี้ยงลูกกุ้ง มีกำไรเพิ่มขึ้น 30%

ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มผู้ทำฟาร์มเพาะลูกกุ้งประมาณ 1,500 โรงเรือน ทั้งกุ้งขาว กุ้งกุลาดำ และกุ้งก้ามกราม ซึ่งอุตสาหกรรมกุ้งในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ และในตลาดทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 1.30 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงและมีอัตราการขยายตัวสูง

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาผู้เลี้ยงลูกกุ้งของไทยมักประสบปัญหาเรื่องสาหร่ายที่นำมาเลี้ยงลูกกุ้งไม่ได้ตามที่ต้องการ เนื่องจากการเลี้ยงลูกกุ้งที่จะต้องเจอปัจจัยภายนอกหลายด้าน ทั้งสภาพอากาศและสภาพแวดล้อม ส่งผลทำให้ควบคุมคุณภาพการเลี้ยงสาหร่าย ไม่ได้ตามที่ต้องการ

ทีมได้สร้างเทคโนโลยีในเชิงลึก (Deep technology) เพื่อสามารถควบคุมการเลี้ยงสาหร่ายแบบเข้มข้น และเป็นการเลี้ยงในระบบโรงเรือนปิดที่สามารถดูแลควบคุมได้ทุกด้าน รวมถึงสามารถดูแลจัดการต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ และสามารถแข่งขันได้กับผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดต่างประเทศ

"Algaeba"สร้าง AgTech เพื่อการทำฟาร์มประมง-อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ

2. โรงเรือนต้นแบบในการเลี้ยงสาหร่ายและพร้อมทำตลาดสู่กลุ่มลูกค้า โดยมุ่งเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ตะวันออกและในภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการเลี้ยงลูกกุ้ง จึงประเมินว่าในปีนี้จะได้กลุ่มลูกค้าไม่ต่ำกว่า 5 ราย และได้มีกลุ่มลูกค้าในภาคตะวันออกที่สนใจใช้ผลิตภัณฑ์แล้ว

3. ระบบเพาะเลี้ยงลูกกุ้งแบบอัตโนมัติ (Automated Hatchery) จะเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพในการเลี้ยงลูกกุ้ง ที่ใช้เทคโนโลยีในการดูแลการเลี้ยง จากเดิมจะใช้คนทำหน้าที่ดูแลเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง โดยเทคโนโลยีทำให้สามารถวิเคราะห์ทั้งขนาดของลูกกุ้ง จำนวนลูกกุ้ง รวมถึงวิเคราะห์การให้อาหารแก่ลูกกุ้งว่าควรให้ระดับเท่าใด และมีความเหมาะสมหรือไม่ ส่งผลให้ได้กุ้งที่มีมาตรฐานออกมาสู่ตลาดในทุกตัว

สำหรับการสร้างโรงเรือนเพาะเลี้ยงลูกกุ้งแบบอัตโนมัติที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะนำมาทำตลาดได้ในอนาคต โดยปัจจุบันเกษตรกรทั่วไปที่เลี้ยงลูกกุ้ง จะมีราคาจำหน่ายประมาณ 6-10 สตางค์ต่อตัวเท่านั้น ส่วนแบรนด์ใหญ่ในตลาดจะจำหน่ายราคาลูกกุ้งที่ 19-21 สตางค์ต่อตัว ดังนั้น เมื่อมีโรงเรือนมาใช้ในการเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง จะส่งผลทำให้เกษตรกรสามารถสร้างกุ้งที่มีมาตรฐานสู่ตลาด และได้ราคาที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถดูแลต้นทุนได้อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ การสร้างเทคโนโลยีเพื่อการเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง จึงจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรรายย่อยที่เพาะสัตว์น้ำ รวมถึงทำให้เกษตรกรรายย่อย สามารถรวมกลุ่มมาเป็นเครือข่าย มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพในการผลิตและดูแลต้นทุนได้อย่างแข็งแกร่งมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการแข่งขันในตลาดจะเน้นด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้

“กันย์” กล่าวต่อว่า แรงขับเคลื่อนสำคัญในการมุ่งพัฒนา สตาร์ทอัพด้านการเกษตร มาจากก่อนหน้านี้ตนเองได้ทำงานภาคเอกชน และได้ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีพลังงานทดแทนด้วยสาหร่ายขนาดเล็กอย่างต่อเนื่องมาหลายปี แต่ต่อมาเมื่อสถานการณ์ราคาพลังงานของโลกที่เปลี่ยนไปจึงมีการเปลี่ยนแปลงด้านแนวทางการพัฒนา ทำให้ตนเองอยากนำองค์ความรู้ที่ได้ทำมา มาสร้างประโยชน์ต่อเกษตรกร ส่งผลให้ตัดสินใจที่จะออกมาจัดตั้ง บริษัทใหม่ดังกล่าว ภายใต้เทคโนโลยีของบริษัทที่ได้สร้างขึ้นเอง

"Algaeba"สร้าง AgTech เพื่อการทำฟาร์มประมง-อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ

ขณะเดียวกันทีมผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสองคน ต่างมีความเชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยี การพัฒนาฮาร์ดแวร์ และการมีองค์ความรู้ทั้งด้านระบบไฟฟ้า รวมถึงการมีความเชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต จึงช่วยผสมผสานในการสร้างเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์สู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

“ความท้าทายสำคัญในการทำสตาร์ทอัพการเกษตร จะเป็นเรื่องการเจาะตลาดสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพราะในตลาดจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่ และการเจาะตลาดกลุ่มลูกค้ารายย่อย ที่ได้ทำการเกษตรมานานแล้ว โดยแต่ละรายจะมีความรู้ในการทำเกษตรของตัวเองอยู่แล้ว” กันย์ กล่าว

กันย์ กล่าวว่า พร้อมที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ ทั้งสาหร่ายแบบเข้มข้น ระบบการเพาะเลี้ยงลูกกุ้งแบบอัตโนมัติท โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายต่อเนื่อง ไปยังเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา ปู หอย และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ได้ต่อไป พร้อมกันนี้จะร่วมสร้าง ผู้ประกอบการเกษตรของประเทศไทยให้เข้าสู่ การทำสมาร์ทฟาร์ม

ในช่วงที่ผ่านมา “Algaeba” ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการของ “MIT Enterprise Forum Thailand” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) โดยโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส ร่วมกับ ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมจัดโดยผู้เชี่ยวชาญของ สถาบันเอ็มไอที (MIT) รวมถึงการได้คัดเลือกไปนำเสนอในงาน ที่จัดขึ้นใน Startup Spotlight 2018 จัดโดย MITEF ที่เมือง บอสตัส ประเทศสหรัฐ

ผลจากการได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการสู่ ตลาดในประเทศสหรัฐ จึงได้รับความสนใจจากลูกค้าในประเทศสหรัฐอย่างมาก ทำให้มีโอกาสขยายผลิตภัณฑ์สู่ตลาดต่างประเทศเช่นกัน

กันย์ กล่าวต่อว่า จะผลักดัน “Algaeba” ให้มีการเติบโตและพร้อมร่วมพัฒนาไปกับเกษตรกรไทยให้เข้มแข็งด้วยเทคโนโลยี รวมถึงการเข้าสู่ สมาร์ทฟาร์มเมอร์อย่างเต็มรูปแบบ

"Algaeba"สร้าง AgTech เพื่อการทำฟาร์มประมง-อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ

"Algaeba"สร้าง AgTech เพื่อการทำฟาร์มประมง-อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ

"Algaeba"สร้าง AgTech เพื่อการทำฟาร์มประมง-อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ