posttoday

สึนามิญี่ปุ่นทำศก.ไทยหดตัว0.2%

24 มีนาคม 2554

ผลกระทบญี่ปุ่นต่อไทยอาจทำเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง 0.2% ส่งออกลดลงเหลือ 2.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยลดเหลือ 9 แสนคน

ผลกระทบญี่ปุ่นต่อไทยอาจทำเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง 0.2% ส่งออกลดลงเหลือ 2.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยลดเหลือ 9 แสนคน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า  ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงจากเป้าหมายเดิม 0.1-0.2% ส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นอาจมีมูลค่าลดลงเหลือ 2.2-2.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวประมาณ 8-10% ทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 8,000 -1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่การท่องเที่ยวคาดว่าอาจทำให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาเที่ยวไทยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9 แสนคน จากเดิมที่คาดว่าจะมีคนญี่ปุ่นมาเที่ยวเมืองไทย 1.04 ล้านคน ทำให้สูญเสียรายได้ 3,000 -5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการภาคบริการและอุตสาหกรรมจำนวน 800 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-21 มี.ค.2554 พบว่าในธุรกิจท่องเที่ยวผู้ประกอบการเห็นว่ายอดขายจะลดลง 15.1% ยอดจองทัวร์โรงแรมไปญี่ปุ่นลดลง 78.8%การยกเลิกการจองทัวร์/ที่พักไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 77.2% ยอดจองทัวร์โรงแรมจากญี่ปุ่นมาไทยลดลง 2.4% การยกเลิกการจองที่พัก/ทัวร์จากญี่ปุ่นมาไทยเพิ่มขึ้น 19.4%

ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ทำการค้าระหว่างประเทศกับญี่ปุ่น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตอบว่า ยอดขายจะลดลง 22.2% ต้นทุนเพิ่มขึ้น 14.8% สภาพคล่องธุรกิจลดลง 19.4% ยอดรับคำสั่งซื้อลดลง 21.8% ส่งออกสินค้าไปประเทศญี่ปุ่นลดลง 35.9% และนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นลดลง 32.2% 

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ที่ผู้ประกอบการเห็นว่ายอดขายจะลดลง 6% ต้นทุนเพิ่มขึ้น 44.4% ยอดรับคำสั่งซื้อลดลง 12.5% ส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นลดลง 23.3% และนำเข้าจากญี่ปุ่นลดลง 26.7% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มียอดขายลดลง 23.3% ต้นทุนเพิ่มขึ้น 15.6% ยอดคำสั่งซื้อลดลง 10.9% ส่งออกลดลง 31.7% และนำเข้าลดลง 29.8%

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยอดขายลดลง 14.1% ต้นทุนเพิ่มขึ้น 14.3% ยอดคำสั่งซื้อลดลง 21.8% ส่งออกลดลง 41.5% และนำเข้าลดลง 38.3% อุตสาหกรรมเหล็ก ลอดขายลดลง 19.1% ต้นทุนเพิ่มขึ้น 15.3% คำสั่งซื้อลดลง 16.3% ส่งออกลดลง 29.3% และนำเข้าลดลง 25.7% และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ายอดขายลดลง 23% ต้นทุนเพิ่มขึ้น 14.3% คำสั่งซื้อลดลง 25.5% ส่งออกลดลง 40.5% และนำเข้าลดลง 35.2%

สำหรับระยะเวลาที่จะได้รับผลกระทบผู้ประกอบการส่วนใหญ่คิดว่าจะกระทบประมาณ 6 เดือน และญี่ปุ่นจะใช้เวลาฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 เดือน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวค่อนข้างมาก โดยการประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ปรับกลยุทธทางด้านราคา เพิ่มจุดเด่นของสินค้าและเพิ่มโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า สร้างช่องทางการตลาด และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์และกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน กระตุ้นการส่งออกและหาช่องทางใหม่ สนับสนุนด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้ ช่วยเหลือด้านต้นทุน และเพิ่มแหล่งเงินทุนสำรองให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ