posttoday

กกร.ลดคาดจีดีพี เหลือ 2.75-3.5% เซ่นพิษเงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด

04 กรกฎาคม 2565

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติปรับประมาณเศรษฐกิจไทยในปี 65 ลงเหลือ 2.75-3.5% จากเดิม 2.5-4.0% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน มิ.ย. สาเหตุจากอัตราเงินเฟ้อไทยสูง 5-7% เป็นอุปสรรคสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. เปิดเผยว่า กกร. ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะสามารถขยายตัวในกรอบ 2.7-3.5% ลดจากกรอบเดิมที่ 2.5-4.0% ตามสภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ประเมินว่ายังจะสูงต่อเนื่อง รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ นายผยง ระบุว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะสหรัฐฯ และยุโรป ที่ล้วนมีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งปีหลัง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้กำลังซื้อของครัวเรือนและความสามารถในการบริหารต้นทุนของภาคการผลิต ขณะที่ต้นทุนทางการเงินกำลังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ดังนั้น เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในช่วงครึ่งหลังของปี หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบต่อราคาพลังงานยังไม่มีคลี่คลาย

นอกจากนี้ ทางฟากของเศรษฐกิจจีนเองก็กำลังประสบปัญหาภาวะชะลอตัวอย่างมากจากนโยบาย zero covid policy และอาจฟื้นตัวได้ช้า แม้รัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ทำให้ภาคการส่งออกของไทยเผชิญความท้าทายมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าการท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศจะฟื้นตัวได้ดีถึงระดับกว่า 80% ของภาวะปกติในช่วงครึ่งปีแรก และในช่วงครึ่งปีหลัง จะมีแรงส่งเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากช่วงครึ่งปีแรก แต่จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงในระดับ 6-8% ในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลง และต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทาง กกร. จึงเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนใน 3 ด้าน

1. ขอให้เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งรัดการดำเนินโครงการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนอ่อนแอ จากภาวะเงินเฟ้อสูง 

2. ขอให้พิจารณาปรับราคากลางจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความเหมาะสม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานหรือด้านงานบริการกับภาครัฐ เนื่องจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ มีการปรับราคาสูงขึ้นกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้มาก ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น 

3. ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง เช่น การเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งคาดหมายว่าหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้