posttoday

ทีโอทีได้ซีอีโอใหม่เม.ย.

05 มกราคม 2554

บอร์ด ทีโอที พร้อมประกาศซีอีโอใหม่ได้เดือน เม.ย. ย้ำคนจริงทำงานจริง ชู 3 แผนหลักแห่งปี ยันประมูล 3จี 28 ม.ค. ไม่มีปัญหา

บอร์ด ทีโอที พร้อมประกาศซีอีโอใหม่ได้เดือน เม.ย. ย้ำคนจริงทำงานจริง ชู 3 แผนหลักแห่งปี ยันประมูล 3จี 28 ม.ค. ไม่มีปัญหา

นายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ทีโอที เปิดเผยว่า เนื่องจากในวันที่ 8 ม.ค. นี้ นายวรุธ สุวกร จะหมดวาระจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) ทีโอที ทางบอร์ดจึงมีมติประกาศรับสมัครผู้ที่มีความประสงค์จะเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวในวันที่ 10 ม.ค. นี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่เปิดยื่นซองประมูล 3จี ของทีโอที โดยจะเปิดกว้างให้ทั้งบุคคลภายในและภายนอกเข้าสมัคร และในเดือน ก.พ. จะประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้น จากนั้นจะเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์ สอบสัมภาษณ์ จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน เพื่อตรวจสอบจากคณะกรรมการสรรหา คาดว่าจะสามารถแต่งตั้งและประกาศกรรมการผู้จัดการคนใหม่ได้ภายในเดือน เม.ย.นี้

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่จะต้องทำหน้าที่สำคัญ 3 ประการ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานของทีโอทีในปี 2554 นี้ คือ การเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 3จี ทีโอทีบนคลื่นความถี่ 1,900 เมกะเฮิร์ตซ การนำโครงการโครงข่ายอัจริยะสำหรับอนาคต หรือ เอ็นจีเอ็น มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาทเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการปรับแนวทางในการทำตลาดของบริษัท เพื่อผลักดันยอดขายและผลกำไร

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที ได้มีมติแต่งตั้ง นายนพณัฏฐ์ หุตะเจริญ รองกรรมการผู้จัดการให้ สายงานขายและบริหารลูกค้าภูมิภาค เป็นรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. เป็นต้น ไป ซึ่งจะต้องสานต่องานสำคัญต่างๆ เช่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าต่างๆ ของทีโอที ให้สามารถแข่งขันได้กับคู่แข่งในตลาด เพิ่มสินค้าใหม่จากผลิตภัณฑ์เดิมที่บริษัทมีอยู่ การสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็นที่รู้จักและสนใจจากประชาชนให้มากที่สุด

สำหรับ การประมูลโครงการติดตั้งขยายโครงข่าย 3จี ทั่วประเทศมูลค่า 19,980 ล้านบาท สามารถเปิดประมูลด้วยวิธีอีเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-อ๊อคชั่น ได้ในวันที่ 28 ม.ค. นี้ ซึ่งในวันที่ 10 ม.ค. จะเป็นวันเปิดให้เอกชนที่สนใจมายื่นซองประกวดราคา โดยก่อนหน้านี้มีเอกชนสนใจเข้ามาซื้อซองเทคนิคไปแล้ว 10 ราย ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะบริษัทที่เข้ามาซื้อซอง เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งนั้น

นายอารีพงษ์ เผยต่อว่า หากบอร์ดเห็นชอบในโครงการเอ็นจีเอ็น และโครงการไฟเบอร์ออฟติคทูดิเอ็กซ์ หรือ เอฟทีทีเอ็กซ์ ขั้นตอนต่อไปต้องนำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. พิจารณา ก่อนเสนอให้ครม. โดยแผนการลงทุนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รับกับการแข่งขันในปัจจุบัน อีกทั้ง ยังเป็นการดำเนินตามนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติของนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ด้วย.