posttoday

GPSC -สวทช.สร้างเศรษฐกิจฐานราก ปั้น 2 ชุมชนสมาร์ทฟาร์มมิ่ง

17 มีนาคม 2565

GPSC เอ็มโอยู สวทช. ดึงงานวิจัยนวัตกรรมสร้างเศรษฐกิจชุมชน นำร่องสมาร์ทฟาร์มมิ่ง บ้านสวนต้นน้ำ –บ้านห้วยขาบสู่เกษตรวิถีใหม่

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนาม (MOU) บันทึกข้อตกลงด้านการดำเนินงาน “โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน”กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสนับสนุนการขยายผลงานวิจัยของ สวทช.ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการแพทย์มาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อน โดยมีโครงการ GPSC Smart Farming (เกษตรอัจฉริยะ) เป็นโครงการนำร่อง 2 ชุมชน ในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน และมีเป้าหมายการดำเนินงานภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี (ต.ค.64 - ต.ค.67)

ทั้งนี้ในกรอบความร่วมมือเป็นก้าวสำคัญในการนำผลงานวิจัยของ สวทช.นวัตกรรมและนาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบที่เป็นแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อนำไปใช้ได้จริงในชุมชนในพื้นที่ห่างไกลและที่ขาดแคลนด้านสาธารณูโภค 

รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพภายในชุมชนที่มีความพร้อมในการพัฒนาและต่อยอดการผลิตเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งสวทช. มีโครงการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ  

ขณะที่GPSCพร้อมเข้าไปสนับสนุนขยายผลงานวิจัยในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี  ด้านการบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในชุมชนที่ GPSC เข้าไปสนับสนุน รวมทั้งจัดหาทรัพยากรด้านต่างๆ ทั้งบุคลากรอุปกรณ์เทคโนโลยีด้านพลังงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในชุมชนเป้าหมายอื่นๆต่อไปหลังจากที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มให้กับชุมชนนำร่อง 2 แห่งแรกนี้

GPSC -สวทช.สร้างเศรษฐกิจฐานราก ปั้น 2 ชุมชนสมาร์ทฟาร์มมิ่ง

สำหรับการพัฒนาโครงการนำร่อง  GPSC Smart Farming (เกษตรอัจฉริยะ)ได้มีการนำแพลตฟอร์มนวัตกรรมนาโนเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมมาพัฒนาใน 2 ชุมชน โดยชุมชนนำร่องแรกได้แก่ พื้นที่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ที่ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย คือ 1.1 การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน มุ่งเน้นการจัดอบรมให้ความรู้และประโยชน์ของการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดจนพันธุ์พืชที่เหมาะสมการเพาะปลูกในแต่ละฤดูกาล (Training & Workshop) และ 1.2 ระบบเกษตรอัจฉริยะในโรงเรือน โดยพัฒนาระบบอัจฉริยะที่เหมาะสมกับพื้นที่ ติดตั้งระบบและทดสอบการใช้งาน ประกอบด้วย การติดตั้งพลังงานหมุนเวียน (RE)  การปลูกพืชด้วยแสง LED  ระบบการให้น้ำอัจฉริยะและระบบเซนเซอร์สำหรับการติดตามสภาพแวดล้อม

ส่วนของชุมชนนำร่องที่ 2 ได้แก่ พื้นที่บ้านสวนต้นน้ำ อ.เขาชะเมา จังหวัดระยอง  ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ 2.1 ‘Magik Growth’ นวัตกรรมถุงห่อทุเรียนแทนการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และช่วยทำให้เปลือกบาง-เนื้อหนาขึ้นเป็นการช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)โดยจากงานวิจัยพบว่าทุเรียนที่ห่อด้วยถุง Magik Growthจะมีเปลือกบางลง30%ทำให้น้ำหนักรวมของผลทุเรียนเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่เนื้อจะแน่นขึ้นและมีสีเหลืองขึ้น

2.2 Application ตรวจวัดความสุกของทุเรียน พัฒนาจากการตรวจวัดด้วยคลื่นเสียง แสดงผลใน Application บนมือถือเพื่อแสดงระดับความสุกของทุเรียนแต่ละลูก ช่วยให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนในระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้ขายได้ราคาดีขึ้นเนื่องจากทุเรียนมีความสุกพอดี

“Smart Farming จะสอดรับกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดโควิด 19 ซึ่งมีแรงงานที่มีความรู้กลับไปอยู่ภูมิลำเนาจำนวนมาก เพื่อไปพัฒนาการเกษตรโดยนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้มาต่อยอดสู่ความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต โดยการยกระดับปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ 1.ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต2.เพิ่มคุณภาพมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้า3.ลดความเสี่ยงในเรื่องการระบาดของศัตรูพืชและภัยธรรมชาติและ4.ถ่ายทอดองค์ความรู้โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาโดยใช้พลังงานเพื่อให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพและมาตรฐานที่จะนำไปสู่การสร้างโอกาส อาชีพ และรายได้อย่างยั่งยืนในภูมิภาคต่างๆ ของไทย โดย GPSC สนับสนุนการจัดหาทรัพยากรทั้งอุปกรณ์ บุคลากร และสวทช. พัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้งาน” นายวรวัฒน์กล่าว

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(วทน.)สู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน ระหว่าง 2 หน่วยงาน มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้ด้าน วทน.ไปสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยโมเดล BCG โดย สวทช. ในฐานะเลขาของคณะกรรมการบริหาร BCG ของกระทรวง อว. ได้มีส่วนในการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมขับเคลื่อนตั้งแต่เรื่องเกษตรอาหาร สุขภาพการแพทย์ พลังงานและเคมีชีวภาพตลอดจนท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  เพื่อมุ่งให้นำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงและมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน