posttoday

ค้าปลีกยังสาหัส จากพิษโอมิครอนผสมต้นทุนแพง ยอดขายลด

06 กุมภาพันธ์ 2565

ธปท.สำรวจธุรกิจยังสาหัส จากพิษโอมิครอนผสมต้นทุนแพง ยอดขายลด ยอมขาดทุนไม่ขึ้นราคารักษายอดขาย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) และผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนมกราคม 2565 โดยสามารถสรุปสาระสำคัญของแต่ละผลสำรวจได้ดังนี้

(1) ผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) เดือนมกราคม 2565

- ในเดือนมกราคม 2565 การฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยยังคงถูกกดดันจากปัญหาการขนส่งที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ กำลังซื้อที่อ่อนแอ และความกังวลการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron สอดคล้องกับการฟื้นตัวของระดับการจ้างงานโดยรวมปรับลดลงจากเดือนก่อน ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่อยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ส่วนหนึ่งมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดและอัตราการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้น รวมถึงความรุนแรงของเชื้อไวรัสที่ลดลง

- สัดส่วนของบริษัทที่มีสภาพคล่องมากกว่า 6 เดือนเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิตเป็นสำคัญ เช่น การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 3 เดือน ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มการผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย

- ประเด็นพิเศษ ภายใต้ภาวะที่ต้นทุนสูงขึ้น ธุรกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคา โดยบางส่วนจะใช้วิธีการอื่นแทนการปรับราคา เช่น การปรับลดโปรโมชั่น การลดปริมาณ/ ลดคุณภาพ หรือการออกสินค้ารุ่นใหม่ เพื่อเป็นการลดต้นทุน และอีกบางส่วนสามารถแบกรับต้นทุนได้นานถึง 12 เดือน ขณะที่ธุรกิจที่มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มราคา ส่วนใหญ่คาดว่าจะปรับได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

(2) ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนมกราคม 2565 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

- ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงมากและอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จากผลกระทบและความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงการลดวงเงินของมาตรการกระตุ้นการบริโภค และส่งผลต่อเนื่องไปยังความเชื่อมั่นฯ ในระยะถัดไป

- ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายน้อยลงจากเดือนก่อน จากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron ที่ขยายวงกว้างขึ้น และกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากสินค้าราคาแพงขึ้นมียอดขายลดลง โดยเฉพาะสินค้าหมวดอาหาร และการเลือกชื้อสินค้าที่มีโปรโมชั่นเป็นส่วนใหญ่