posttoday

GPSC โชว์นวัตกรรมแบตเตอรี่ G-Cell : เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในอาเซียน

20 สิงหาคม 2564

ภายใต้วิสัยทัศน์ การนำนวัตกรรมพลังงานมาสร้างสรรค์พลังงานแห่งอนาคต ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC สู่การเปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell ด้วยนวัตกรรมการผลิตภายใต้เทคโนโลยี SemiSolid เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยโรงงานฯ แห่งนี้ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง บนพื้นที่.... รองรับกำลังการผลิตเบื้องต้น  30 เมกะวัตต์ชั่วโมง พร้อมแผนขยายกำลังการผลิตระดับกิ๊กะวัตต์ชั่วโมง ในอนาคตอันใกล้

โรงงานดังกล่าว ดำเนินการเปิดไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎกาคม 2564 โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศริสิสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธีฯ

GPSC โชว์นวัตกรรมแบตเตอรี่ G-Cell : เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในอาเซียน

3 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานยั่งยืน แห่งอนาคต

นายวรวัฒน์ ทิพยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า  จากวิสัยทัศน์ของ กลุ่มปตท. ที่พร้อมเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่โลกอนาคต ด้วยพลังงานที่ยั่งยืน อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ร่วมกันของกลุ่มปตท. โดยมี GPSC เป็นหนึ่งกำลังหลักในการขับเคลื่อนอุตสากรรมแบตเตอรี ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของอีโคซิสเต็มดังกล่าว 

โดยทิศทางการดำเนินการดังกล่าวของ GPSC ประกอบด้วยกลยุทธ์ 3S หลักสำคัญ คือ  

  • Synergy and Integration การควบรวมทิศทางการทำงานด้านต่างๆ เพื่อผสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มกำลังผลิตเดิมของ GPSC กับเป้าหมายใหม่ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของ GPSC มีความเข้มแข็ง น่าเชื่อถือ เพื่อส่งมอบบริการและสินค้าคุณภาพที่สูงขึ้น ให้กับลูกค้า
  • Selective Growth การเลือกการเติบโตในบางพื้นที่ ที่ GPSC มีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน รวมถึงการเลือกการเติบโต โดยร่วมไปกับกลุ่มปตท. อาทิ กลุ่มธุรกิจโดยรอบที่อยู่ติดกับประเทศไทยในกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม (CLMV)
  • S-Curve Business การเปลี่ยนผ่านในรูปแบบของอุตสาหกรรมไปสู่อีโคซิสเต็ม จากการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน และมีความยั่งยืนกับโลกใบนี้ ที่พร้อมส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป

“การเปิดโรงงานแห่งนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจGPSC ภายใต้กลยุทธ์ที่3 จากการมีส่วนร่วมในอีโคซิเต็มระหว่างกลุ่มปตท. ที่พร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายวรวัฒน์ กล่าว

G-Cell นวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน

นายวรวัฒน์ กล่าวว่า “โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ GPSC แห่งนี้ถือเป็นผลสำเร็จจากแนวคิดและความเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ ด้านนวัตกรรมการผลิตเบตเตอรีที่เข้ามาช่วยลดขั้นตอนด้านต่างๆ ไปจนถึงความสามารถในการจัดการวัตถุดิบ(สาร)บางอย่างที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี เพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด และถูกนำมาประยุกต์สู่การเปิดโรงงานแห่งนี้ภายใต้นวัตกรรมการผลิตแบตเตอรีด้วยเทคโนโลยี 24M จากการที่ GPSC ได้เข้าไปลงทุนในประเทศจีน ราว7 ปีก่อนหน้านี้”

GPSC โชว์นวัตกรรมแบตเตอรี่ G-Cell : เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในอาเซียน

รู้จัก เทคโนโลยี24M–SemiSolid Technology

สำหรับนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับสิทธิ (License) ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย โดยเริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือ ลิเธียมไอรอนฟอสเฟต ด้วยกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh)ต่อปี โดย GPSC มีแผนขยายกำลังการผลิตของโรงงานแห่งนี้เพิ่มเป็น 100 MWh ต่อปี และก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 GWh ต่อปี จนถึง 5 GWh  ภายใน 5 ปี และ 10 GWh ภายใน10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ GPSC ยังอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด Giga-scale เพื่อต่อยอดให้ GPSC เป็นผู้นำทางด้านการให้บริการด้านแบตเตอรีและระบบกักเก็บพลังงาน มุ่งสู่การเป็นผู้พัฒนาโซลูชั่นเพื่อบริหารจัดการพลังงานชั้นนำ (Energy Management Solution Provider) ของประเทศไทย

ขยายลงทุนในจีน ต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

นายวรวัฒน์ กล่าวว่า GPSC ได้เข้าร่วมลงทุน บริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ประเทศจีน ในการผลิตแบตเตอรี NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) ภายใต้เทคโนโลยี 24M เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไป เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์และเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ S-Curve เพื่อดำเนินการเด้านยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม Passenger EV ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ประเทศไทยให้การส่งเสริมและมีเป้าหมายการผลิตให้ได้ 30% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในปี 2573

เจาะคุณสมบัติแบตเตอรี LFP-NMC

นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าววา โรงงานG-cell แห่งนี้มีจุดเด่นด้านนวัตกรรมการผลิต หรือ ที่เรียกว่า Development Process Innovation ด้วยใช้เทคโนโลยีการผลิต SemiSolid ของ 24M ที่เข้ามาช่วยลดขั้นตอนกระบวนการการผลิตในด้านต่าง ในการผลิตแบตเตอรี

สำหรับแบตเตอรี LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือ ลิเธียมไอรอนฟอสเฟต มีคุณสมบัติเด่นด้านความปลอดภัยสูง ราคาประหยัด มีอายุการใช้งาน (Lifecycle) 4,000 ครั้ง เหมาะสมกับการใช้งานในกลุ่มรถบัส รถขนาดเล็ก (Small Vehicles) หรือ รถตุ๊กตุ๊ก(ในประเทศไทย) โดยในปีแรกโรงงานแห่งนี้ จะสามารถผลิตแบตเตอรีเพื่อรองรับการใช้งานให้กับรถบัส ประมาณ 100 คัน และ รถตุ๊กตุ๊ก 3,000 คัน      

ขณะที่ แบตเตอรี NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) มีคุณสมบัติด้านขนาดกระทัดรัด น้ำหนักเบา แต่จะมีราคาค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแบตเตอรี LFP ซึ่งเหมาะสำหรับการนำไปใช้งานในยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี (Electric Vehicles) ส่วนบุคคลในท้องตลาดทั่วไป มีอายุการใช้งาน (Lifecycle) ราว 1,000 ครั้ง โดย GPSC ได้เข้าไปร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีดังกล่าวในประเทศจีน ด้วยต้องมีการเชื่อมต่อกับการใช้งานรถอีวี พร้อมมองแผนขยายไลน์การผลิตแบตเตอรีNMC ในประเทศไทย

เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในอนาคตด้วยเช่นกัน