posttoday

โควิด-ล็อกดาวน์ ฉุดยอดใช้พลังงานชะลอตัว จ่อตรึงราคาแอลพีจีถึงสิ้นปี

16 สิงหาคม 2564

สนพ. ชี้ทิศทางใช้พลังงานทั้งปีโตแค่ 0.1% ผลกระทบจากโควิด โดยเฉพาะน้ำมันติดลบ 5.5 % เตรียมเสนอตรึงราคาก๊าซแอลพีจีครัวเรือนถึงสิ้นปีนี้

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.8 % จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

ในขณะที่การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลง3.9 % ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในเดือนเมษายน 2564 และจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ Work From Home และจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมิถุนายน  ส่วนการใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลง 53%  เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างมาก

ด้านการใช้ไฟฟ้า ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า1 (System Peak) ของปี 2564 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 เวลา 14.49 น. อยู่ที่ระดับ 31,023 เมกะวัตต์เพิ่มขึ้น 2.2%  เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 45 %อยู่ในสาขาอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 6.1%  จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ในครัวเรือนลดลง 1.9%

การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและการใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจลดลงร้อยละ 5.0 จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 อย่างชัดเจน อาทิ ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีก

สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564  ใช้สมมติฐานจากสศช.คาดจีดีพีโต 0.7 – 1.5% ส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.1%  ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นการใช้น้ำมันลดลง 5.5% และการใช้ไฟฟ้าลดลง 0.4 %

สำหรับการใช้ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ในภาคครัวเรือน เตรียมพิจารณาขยายมาตรการตรึงราคาไปจนถึงสิ้นปี 2564เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน จากเดิมที่ตรึงราคาไว้สิ้นสุดเดือนก.ย. ด้วยราคา 318บาทต่อถัง(15ก.ก.)  โดยจะเสนอเพิ่มกรอบวงเงินชดเชยราคาแอลพีจี ให้อยู่ในวงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบัน 1.8 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการในการป้องกัน โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ