posttoday

คุมเข้มผลไม้ไทยต้องปลอดโควิด หลังจีนออกกฏเหล็กตรวจเช็คทุกขั้นตอน

27 กรกฎาคม 2564

‘มนัญญา’ เตือนผู้ส่งออกผลไม้ไปจีน ยึดแนวทางป้องกันโควิดเข้มงวด ชี้หากจีนพบปนเปื้อน สั่งระงับนำเข้าทันที

นายพิเชษฐ์   วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์  ได้สั่งการให้กรมฯแจ้งเตือนผู้ส่งออกผลไม้ไปประเทศจีนให้เฝ้าระวังและปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันเชื้อโควิด-19 ติดปนเปื้อนไปกับสินค้าผลไม้อย่างเคร่งครัด  เนื่องจากปัจจุบันฝ่ายจีนมีมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก  

ทั้งนี้สินค้าผลไม้ที่ส่งออกไปจีนจะถูกตรวจกรดนิวคลิอิกเพื่อหาเชื้อโควิด-19 ในสินค้า และตรวจหาเชื้อในคนขับรถสินค้า  รวมทั้งการพ่นฆ่าเชื้อในสินค้า โดยเฉพาะที่ด่านโม่ฮานที่มีการตรวจสอบที่เข้มงวดมาก

ขณะเดียวกันได้ย้ำให้ผู้นำเข้าหรือบริษัทที่เป็นตัวแทนประสานกับผู้ส่งออกของไทยให้ทำการฆ่าเชื้อตู้คอนเทนเนอร์ทั้งภายในและภายนอก  รวมถึงห้องคนขับ  และฆ่าเชื้อบรรจุภัณฑ์ก่อนขึ้นตู้  โดยหากตรวจพบเชื้อโควิด-19 สินค้าผลไม้ครั้งที่ 1จะห้ามรถและสินค้าของบริษัทนั้นเข้าประเทศชั่วคราว 10-15 วันโดยอัตโนมัติ  หากตรวจพบครั้งที่ 2 ห้ามรถสินค้าของบริษัทนั้นเข้าประเทศถาวรโดยอัตโนมัติ  โดยในช่วงระหว่างวันที่ 15-22 กรกฎาคมที่ผ่านมามีการนำเข้าผลไม้ไทยที่ด่านโม่ฮานเฉลี่ยวันละประมาณ 100 ตู้

ดังนั้นจึงขอย้ำเตือนผู้ประกอบการของไทยในการควบคุม  กำกับดูแลและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดตั้งแต่สวน  โรงคัดบรรจุและขั้นตอนการขนส่งในทุกขั้นตอนเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ติดไปกับสินค้า  ซึ่งในขณะนี้จีนได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก  หากตรวจพบอาจนำไปสู่การระงับการนำเข้าสินค้าผลไม้จากไทยได้

ปัจจุบันจีนมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด- ในไทยเป็นอย่างมาก  ดังนั้นผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกัน อย่างเข้มงวด  โดยจะมีเจ้าหน้าที่ภายในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตรเข้าไปติดตามกำกับดูแลที่โรงคัดบรรจุ เนื่องจากในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูกาลส่งออกผลไม้ทางภาคใต้โดยเฉพาะทุเรียน  โดยช่วงระหว่างวันที่ 1 – 26 กรกฎาคม 2564 มีการส่งออกทุเรียนไปจีนแล้วจำนวน 5,337 ตู้  และในเดือนสิงหาคมนี้จะมีผลผลิตทั้งทุเรียนและมังคุดออกสู่ท้องตลาดจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ภายในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตร ร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบใบรับรอง GAP  และศัตรูพืช เพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก  พร้อมทั้งเพิ่มบุคลากรและขยายระยะเวลาในการปฏิบัติงานจากเดิม 19.00 น.ไปจนถึง 22.00 น.เพื่อให้สามารถตรวจปิดตู้สินค้าให้กับผู้ประกอบการได้ทันโดยไม่มีสินค้าตกค้างในแต่ละวัน