posttoday

ส่งออกทำนิวไฮพุ่ง 43 % โตสุดในรอบ 11 ปี

23 กรกฎาคม 2564

“จุรินทร์”ชี้ส่งออกกลไกขับเคลื่อนศก.ไทยเดือนมิ.ย.ทำสถิติ 43.82% ผ่านมาครึ่งปี ขยายตัว 15 % โตกว่าเป้าหมาย เร่งปลดล็อคปิดรง.คลัสเตอร์หวั่นกระทบไลน์การผลิต

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์   รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์   เปิดเผยถึง ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมิถุนายน 2564การส่งออกของไทยเมีอัตราขยายตัวที่ร้อยละ 43.82 เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี มีมูลค่า 23,699.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคผลิตทั่วโลก  รวมถึงปัจจัยเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมภาคการส่งออกของไทย

ทั้งนี้ภาพรวมการส่งออกครึ่งปีแรกของปี 2564  มีมูลค่า 132,334.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.53 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 129,895.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 26.15 ดุลการค้าครึ่งปีแรก เกินดุล 2,439.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการขยายตัว ได้แก่ 1. สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้า3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง

4. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต และ 5. สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ มีการขยายตัวในระดับสูง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้า

“การส่งออกยังป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เป้าหมายเดิมปีนี้จะขยายตัว 4%  ผ่านไปแล้ว 6 เดือน ขยายตัวได้ 15% ถือเป็นสัญญาณที่ดี ขณะนี้พาณิชย์และเอกชนยังต้องร่วมมือกันแก้ไขอุปสรรค โดยเฉพาะเดือนก.ค.-ส.ค.ที่ยังมีปัญหาในเรื่องภาคการผลิต เนื่องจากหลายโรงงานต้องปิดชั่วคราวจากโควิด-19 ดังนั้นจะต้องเข้าไปช่วยในส่วนนี้เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าส่งออกให้ตามความต้องการของตลาดโลก”

นายจุรินทร์  กล่าวว่า ปัญหาการผลิตที่เกิดในเดือนก.ค.คือ  บางจังหวัดสั่งปิดโรงงานแบบเหมารวม  ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ส่วนไหนที่มีปัญหาก็ปิดส่วนนั้น แต่ส่วนไหนไม่มีปัญหาหรือได้รับผกระทบควรให้เปิดดำเนินการได้  หรือปิดทั้งโรงงานแล้วส่วนไหนที่แก้ไขปัญหาจบแล้วควรเปิดให้ดำเนินการผลิตได้ เพื่อไม่ใหการผลิตหยุดชะงัก และส่งผลกระทบส่งออกโดยจะรายงานประเด็นนี้ให้ศบค.พิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตามแผนส่งเสริมการส่งออกในช่วง ก.ค-ธ.ค.  จะต้องรักษาการส่งออกให้ขยายตัวต่อเนื่อง ดังนี้ 1.เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก 130 กิจกรรม กับตลาดคู่ค้า ขณะนี้มียอดขายล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท

2.เร่งเปิดตลาดใหม่ที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เห็นตัวเลขชัดจน เช่นซาอุดิอารเบีย  ลาตินอเมริกา สินค้าที่มีโอกาสคือ สินค้ายุคนิวนอมอล อาหารสุขภาพ  อาหารรูปแบบใหม่ อาหารกระป๋อง  สินค้าที่มีอนาคตคือ ชิ้นส่วนยานยนต์