posttoday

อุตฯรถยนต์สะดุด โตโยต้าหยุดผลิตชั่วคราวหลังรง.ชิ้นส่วนติดโควิด

22 กรกฎาคม 2564

ส.อ.ท.ชี้อุตสาหกรรมรถยนต์เจอพิษโควิด หลังพบคลัสเตอร์รง.ชิ้นส่วน กระทบไลน์ผลิตรถยนต์โตโยต้าต้องหยุดชั่วคราว

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่งขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปในรถยนต์  อย่างกรณีของบริษัทโตโยต้าต้องหยุดชั่วคราวเนื่องจากพนักงานของผู้ผลิตชิปในรถยนต์ติดโควิดต้องปิดโรงงาน ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าป้อนให้กับโตโยต้า

“เดิมอุตสาหกรรมรถยนต์มีการขยายตัวตามลำดับแม้จะอยู่ในช่วงโควิด โดยเฉพาะการส่งออก แต่ขณะนี้เริ่มกังวลในเรื่องขาดเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ขณะที่การนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านก็เจอการล็อกดาวน์ ดังนั้นบางแห่งสต๊อกสินค้าจึงไม่พอ และคาดว่าปัญหานี้จะยังคงมีถึงปีหน้า ซึ่งก็เป็นรถยนต์บางรุ่นเท่านั้นที่ผลินไม่ได้ตามออเดอร์”

สำหรับสถิติจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมิถุนายน 2564 มีทั้งสิ้น 134,245 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 87.22 เทียบกับช่วงเดียวกันจากฐานต่ำของปีก่อนเนื่องจากการระบาดของโควิด19 แต่ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2564 ร้อยละ 4.23 เพราะผลิตได้ไม่เต็มที่จากการขาดชิ้นส่วนในบางรุ่น โดยรวมการผลิตตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 844,601 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.34 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปีนี้กำหนดไว้ที่ 1.55-1.6 ล้านคันเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิม 1.5 ล้านคัน

ด้านการผลิตเพื่อส่งออกเดือนมิถุนายน 2564 ผลิตได้ 74,574 คัน เท่ากับร้อยละ 55.55 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 ร้อยละ 74.18 ส่วนเดือนมกราคม - มิถุนายน 2564 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 486,237 คัน เท่ากับร้อยละ 57.57 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 40.37

การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ  เดือนมิถุนายน 2564 ผลิตได้ 59,671 คัน เท่ากับร้อยละ 44.45 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 ร้อยละ 106.55 และเดือนมกราคม - มิถุนายน 2563 ผลิตได้ 358,364 คัน เท่ากับ ร้อยละ 42.43 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - มิถุนายน 2563 ร้อยละ 37.97 ขณะที่คาดการณ์ยอดขายในปีนี้จะใกล้เคียงกับปีก่อน 7.5 แสนคัน

ส่วนรถจักรยานยนต์ ผลิตได้ทั้งสิ้น 216,671 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 ร้อยละ 141.28   โดยยอดการผลิตรถจักรยานยนต์เดือนมกราคม - มิถุนายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,261,176 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 43.73

ด้านยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมิถุนายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 61,758 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 15.07   ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากการระบาดของโควิด19 ระลอกสามที่รุนแรงมากขึ้น มีการจำกัดการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ และรถยนต์บางรุ่นผลิตไม่พอกับความต้องการเพราะขาดชิ้นส่วน  ส่งผลให้ภาพรวมยอดขายเดือนมกราคม - มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 373,193 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.57   

สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป  เดือนมิถุนายน 2564 ส่งออกได้ 83,022 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 65.88 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกของประเทศคู่ค้าดีขี้น อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ยุโรป ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 49,278.48 ล้านบาท  โดยช่วงม.ค.-มิ.ย.มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 473,489 คัน มีมูลค่าการส่งออก 270,708.06 ล้านบาทและคาดว่าทั้งปีจะส่งออกได้  8-8.5 แสนคัน

นายสุรพงษ์  กล่าวว่า แม้อุตสาหกรรมรถยนต์จะเจอปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ขาดบางรุ่น แต่ภาพรวมการส่งออกยังไปได้ดี ทำให้ปรับเป้าการผลิตเพิ่มขึ้น  ซึ่งได้รวมปัจจัยเสี่ยงต่างๆไว้หมดแล้ว