posttoday

7 แอร์ไลน์ออกโรง จี้‘บิ๊กตู่’จัดซอฟท์โลนพยุงสายการบิน 5 พันล้านก่อนถึงคราวปิดตัว

21 กรกฎาคม 2564

7 สายการบิน ทวงถามซอฟท์โลนหลังถูกภาครัฐเมินเฉย เรียกร้องออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงธุรกิจเเละชีวิตพนักงานเกือบ 2 หมื่นคน จ่อตบเท้าพบนายกฯอีกรอบ

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย  พร้อมคณะกรรมการของ 7 สายการบิน จัดประชุมนัดพิเศษในรูปแบบ virtual conference  เพื่อออกแถลงการณ์ร่วม เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวผลกระทบสายการบิน หลังถูกระงับบินชั่วคราวตามคำสั่งของ ศบค. ตั้งเเต่วันนี้ (21 กรกฎาคม 2564)

นายพุฒิพงศ์  กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น และที่ผ่านมาได้ยื่นเอกสารขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) หรือซอฟท์โลนเพื่อจัดสรรให้กับสายการบินทั้ง 7 สาย ตั้งเเต่การระบาดของโควิด-19 รอบเเรก (เดือนมีนาคม 2563) และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบนยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล รวมเป็นระยะเวลากว่า 478 วัน หรือ  17 เดือน

ทั้งนี้ ล่าสุดสมาคมฯ ได้ปรับลดตัวเลขวงเงินซอฟท์โลน จากจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท (จากการยื่นขออนุมัติครั้งเเรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563)  เหลือเพียง 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมเกือบ 2 หมื่นคน ในครึ่งปีหลังของ 2564

อย่างไรก็ตามจากมาตรการรัฐบาลล่าสุดในการจำกัดการเดินทาง ส่งผลต่อการระงับการให้บริการชั่วคราว ในทุกเส้นทางบินเข้าออกพื้นที่สีเเดงเข้ม ตั้งเเต่ 21 กรกฎาคม 2564 (วันนี้) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัจจุบัน 7 สายการบิน มีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานทั้งสิ้นรวมกว่า 900 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนด้านการปฏิบัติการบินและการบำรุงรักษาเครื่องบินอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งทางสมาคมฯ ประเมินว่าอาจจะเเบกรับภาระไม่ไหว หากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือเเละเยียวยาจากภาครัฐโดยเร่งด่วน และอาจส่งผลต่อการกลับมาให้บริการในอนาคตของสายการบิน

ทางสมาคมฯ โดย 7 สายการบิน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณามาตรการความช่วยเหลือวงเงินซอฟท์โลน อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยประคองธุรกิจสายการบินเเละการจ้างงานพนักงาน รวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบความเสียหายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเเละท่องเที่ยวภาพรวม เนื่องจากสายการบินคือธุรกิจด่านหน้าสำคัญ ที่เชื่อมต่อให้เกิดการกระจายเเละสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

“ตลอดกว่าหนึ่งปีครึ่ง นับตั้งเเต่การเเพร่ระบาดของโควิด-19 สายการบินทั้ง 7 สาย ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเองเเละปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจให้รอดจากสถานการณ์อันยากลำบากครั้งนี้ เรายังมีความหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติซอฟท์โลนโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว” นายพุฒิพงศ์กล่าว

7 แอร์ไลน์ออกโรง จี้‘บิ๊กตู่’จัดซอฟท์โลนพยุงสายการบิน 5 พันล้านก่อนถึงคราวปิดตัว

นายสันติสุข คล่องใช้ยา   ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย  กล่าวว่า วงเงินซอฟท์โลนที่ขอภาครัฐเพื่อต้องการนำมารักษาสภาพการจ้างงานของพนักงาน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละเกือบ1 พันล้านบาท รวมที่ผ่านมามีต้นทุนรวม 1 หมื่นกว่าล้านบาท  ซึ่งยังไม่รวมค่าเช่าเครื่องบิน   ค่าน้ำมันและค่าบริหารจัดการอื่นๆที่แต่ละสายการบินต้องแบกรับ  ดังนั้นจึงขอความเห็นใจจากรัฐบาลในเรื่อง เพื่อที่จะต่อลมหายใจพนักงาน

ขณะที่ชาริตา ลีลายุทธ    ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ กล่าวว่า  เราไม่ได้นิ่งนอนใจทำทุกช่องทางเพื่อหาเงินในการดำรงการจ้างงานของพนักงาน ก่อนหน้านี้ไปพบรมว.แรงงาน เพื่อขอให้ช่วยเหลือ 7 สายการบิน แต่ก็ได้รับคำตอบว่าช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กเท่านั้น  ปัจจุบัน  7 สายการบิน มีพนักงานรวม 2 หมื่นคน    ถ้าท้ายสุดยังไม่ได้รับคำตอบจากภาครัฐ อาจจะต้องเข้าพบนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง

นายวรเนติ หล้าพระบาง   ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า เท่าที่ประเมินสถานการณ์ ในกรณีร้ายแรงสุด ต้องหยุดบิน 3 เดือน  สายการบินคงอยู่ไม่ได้สักราย หลังจากนี้คงไม่ได้เห็น  และไม่อยากให้เกิดขึ้น  สำหรับเงื่อนไขซอฟท์โลนที่ขอไป  5,000 ล้านบาท ปลอดหลักประกัน   แต่สามารถใช้สลอตหรือ สิทธิการบินมาใช้เป็นหลักประกันได้  การผ่อนชำระขึ้นอยู่กับภาครัฐหรือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)  จะกำหนดออกมา   โดยขอให้คำนึงบนพื้นฐานสถานการณ์โควิดด้วย

7 แอร์ไลน์ออกโรง จี้‘บิ๊กตู่’จัดซอฟท์โลนพยุงสายการบิน 5 พันล้านก่อนถึงคราวปิดตัว

“หวังว่ารัฐบาลจะกระจายวัคซีนให้เพียงพอ  ตัวเลขติดเชื้อดีขึ้นหลังล็อกดาวน์  เพื่อให้สายการบินกลับมาทำการบินได้  เมื่อถึงตอนนั้นเราก็พร้อมที่จะกลับมาบินตามนโยบายเปิดประเทศ  หวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล “

นายนัดดา   บุรณศิริ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์  กล่าวว่า  ปัจจัยแรกตัวเลขการติดเชื้อ  การเสียชีวิตลดลงแค่ไหน 2การยอมรับของประเทศคู่ค้าว่ากลับมาเที่ยวเปิดประเทศ จะสามารถมีความมมั่นใจแค่ไหน    ที่เรามองกันอาจมีความพยายามเปิดบ้านได้ปลายไตรมาส4  ถ้าเราโชคดี  2 ปัจจัยดีขึ้น น่าจะไตรมาสแรกปี65  แต่ในโลกคึวามเป็นเจริงเมื่อทุกอย่างเข้าที่ กลางปีหน้า การบินระหว่างประเทศจะเริ่มกลับมาเห็นได้ 40-50%

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า  ขณะนี้สายการบินมีต้นทุนที่แบกรับ ทั้งค่าน้ำมัน  ค่าเช่าเครื่อบิน ค่าซ่อมบำรุง  ดังนั้นเงินซอฟท์โลน จะช่วยเยียวยาให้กับสายการบินได้  ขณะเดียวกันควรลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำ เนื่องจากสายการบินมีความสำคัญต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจประเทศ  ช่วบสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกนำเข้าสินค้า  ท้ายสุดดถ้าอุตสหกรรมการบินปิดตัวลงจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆด้วย