posttoday

ไทย-บราซิลจ่อ MOU ลดข้อพิพาทอุดหนุนอ้อยน้ำตาล เดือนก.ค.นี้

20 กรกฎาคม 2564

ครม.เห็นชอบร่าง MOU ไทย-บราซิล ระงับข้อพิพาทอุดหนุนสินค้าน้ำตาล ย้ำชัดเลิกระบบโควตา งดจ่ายชดเชยโรงงาน คาดจะลงนามได้ภายในเดือนก.ค.นี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ว่า ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบราซิลว่าด้วย กรณีการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งเรื่องนี้สืบเนื่องจาก ในปี 2559 ทางบราซิลได้ยื่นเรื่องการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยกล่าวหาว่าไทยให้การอุดหนุนการผลิตและส่งออกสินค้าอ้อยและน้ำตาลซึ่งส่งผลกระทบต่อบราซิล และอ้างว่าระบบอ้อยและน้ำตาลของไทยไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ WTO

ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินการการแก้ไขข้อกล่าวหาดังกล่าวด้วยการออกมาตรการต่างๆ อาทิ ปรับปรุงโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ การยกเลิกระบบโควตาสินค้าน้ำตาล รวมทั้งการยกร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล  เป็นต้น ส่วนบราซิลได้เสนอให้จัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับไทยในปี 2562 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันปรับแก้ MOU จนเป็นที่ยอมรับแล้ว คาดว่าจะมีการลงนามภายในเดือนกรกฎาคมนี้

สำหรับสาระหลักของร่าง MOU ประกอบด้วย การรับทราบปรับแก้มาตรการของไทยที่เกี่ยวข้องกับข้อกังวลของบราซิล ได้แก่ 1.ยกเลิกระบบโควตาสินค้าน้ำตาล เมื่อ 15 มกราคม 2561 2.ยกเลิกการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ โดยแก้ไขมาตรา17 (18)  พระราชบัญญัติอ้อยและน้าตาลทราย พ.ศ.2527 3.ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 160 บาทต่อตันอ้อยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เมื่อ 11 ตุลาคม 2559 

4.ยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงาน ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น โดยแก้ไขมาตรา 47 และมาตรา 56 พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ซึ่งขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีการแก้ไข อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา