posttoday

กู้ชีพสัญญาณเศรษกิจเอสเอ็มอีก่อนวิกฤต เร่งกระจายวัคซีน-หยุดดอกเบี้ย 6 เดือน

16 กรกฎาคม 2564

ค้าปลีก เสนอปลดล็อคกระจายวัคซีนให้เร็วที่สุด และหยุดดอกเบี้ย 6 เดือน เพื่อต่อลมหายใจให้ SME พร้อมข้อเสนอ 3 มาตรการหลักเยียวยาธุรกิจตลอดซัพพลายเชน

รายงานข่าวจาก สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่าตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบใน 10 จังหวัดสีแดงเข้มประกอบด้วยกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการทั้งในและนอกระบบประกันสังคม มีระยะเวลาในการช่วยเหลือ 1 เดือน โดยครอบคลุม 10 กลุ่มอาชีพ รวมทั้งลดค่าน้ำค่าไฟแก่ประชาชนทั่วประเทศอีก 2 เดือนเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้าง นายจ้างและประชาชนที่ได้รับผลกระทบในช่วงล็อคดาวน์

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่ามาตรการภาครัฐครั้งนี้ออกมาได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมได้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่ ต้องการจากรัฐบาล คือ การเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและทั่วถึงให้กับบุคลากรของกลุ่มการค้าปลีกและบริการเพื่อให้การล็อคดาวน์ครั้งนี้ เจ็บแต่จบ และหากฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ก็จะสามารถเปิดประเทศได้

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ และควรครอบคลุมผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทุกกลุ่ม รวมทั้งขยายระยะเวลาในการเยียวยาให้ยาวขึ้น พร้อมเร่งดำเนินการให้เงินเยียวยาถึงมือโดยทันที

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ขอเสนอ 3 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนที่ชัดเจน

1.1 ใช้พื้นที่จุดฉีดวัคซีนที่ภาคค้าปลีกและบริการได้เตรียมไว้ทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

1.2 เร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรของกลุ่มการค้าปลีกและบริการให้ทั่วถึง

1.3 สนับสนุนชุดตรวจ Rapid Antigen Testให้กับธุรกิจในภาคค้าปลีกและบริการเพื่อนำไปตรวจเชิงรุกให้กับบุคลากรในบริษัทเป็นการลดความเสี่ยงของการระบาด

2. มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการ

2.1 ลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มเป็น 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน

2.2 เพิ่มมาตรการพักหนี้ ช่วยลูกหนี้ในพื้นที่ล็อคดาวน์ จาก 2 เดือน เป็น 6 เดือน พร้อมหยุดคิดดอกเบี้ยเงินกู้2.3 สนับสนุนให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เป็นผู้รับสินเชื่อ Soft Loan จากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปให้กับผู้ประกอบการ SME

3. มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน

3.1 ปรับกลไกโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ให้เหมือนกับ โครงการ “ช้อปดีมีคืน” และเพิ่มวงเงินเป็น100,000 บาท เพื่อกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง

3.2 ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมโดยจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตั้งแต่บาทแรก และห้ามขายสินค้าต่ำกว่าทุน

3.3 ปลดล็อคขั้นตอนการออกใบอนุญาตเหลือเพียง 1 ใบ (Super License) จากเดิมที่ต้องขอใบอนุญาตกว่า 43 ใบ จาก 28 หน่วยงาน

3.4 ขยายเวลาโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับนักศึกษาจบใหม่ (Co-payment) ซึ่งจะสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 ออกไปอีก 1 ปี

3.5 ทดลองใช้ระบบการจ้างงานประจำเป็นรายชั่วโมงเพื่อสอดคล้องกับช่วงฟื้นฟูธุรกิจและเกิดการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้น

“วิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการทั่วประเทศ กว่า 100 บริษัท ครอบคลุม SME ในห่วงโซ่การค้ามากกว่า 100,000 ราย นับเป็น 40%ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกทั้งประเทศ หรือ คิดเป็น 12% ของ GDPซึ่งมีความสำคัญและถือได้ว่าเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจไทย และในสถานการณ์ที่ท้าทายนี้" นายญนน์ กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับภาครัฐด้วยสรรพกำลังทั้งหมดของสมาคมฯ และภาคีเครือข่าย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดนี้ จะต้องทำให้เกิดขึ้นทันที ผมเชื่อว่า ด้วยการรวมพลังของเราทุกคน จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง 

กู้ชีพสัญญาณเศรษกิจเอสเอ็มอีก่อนวิกฤต เร่งกระจายวัคซีน-หยุดดอกเบี้ย 6 เดือน

ภาพ-คลังภาพบางกอกโพสต์, โพสต์ทูเดย์