posttoday

เศรษฐกิจจีน ไตรมาสสองปี'64โต 7.9% แต่เริ่มชะลอตัวจากต้นทุนผลิตสูงขึ้น

15 กรกฎาคม 2564

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยการขยายตัวเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 โต 7.9% (YoY) ทว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากต้นทุนลิตสูงขึ้น-แพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในจีนและประเทศคู่ค้าและมาตรการกดดันจันจากชาติตะวันตก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยรายงานวิจัยระบุว่า ภาคการผลิตจีนกลับมาเติบโตในระดับก่อนเกิดโควิด แต่เผชิญปัญหาใหม่เรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นแม้ว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index)ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขยายตัวในครึ่งปีแรก2564 ที่ร้อยละ 15.9 (YoY, YTD) และนับเป็นการเติบโตเฉลี่ย 2 ปี (ปี 2563 และ ปี 2564) ที่ร้อยละ 7.0 ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่สูงกว่าระดับปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19(เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.8 ในปี 2562)

อย่างไรก็ดีความน่ากังวลสะท้อนจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (Purchasing Managers Index) ภาคการผลิตที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดย PMI (CFLP) เดือนมิถุนายน 2564 ปรับลดลงมาแตะระดับ 50.9นับเป็นค่าต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และ PMI (Caixin) ปรับลดลงมาแตะระดับ 51.3 นับเป็นค่าต่ำสุดในรอบ 3 เดือน โดยเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการผลิตในจีนต้องเผชิญกับปัจจัยท้าท้ายต่างๆ อาทิ ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานประสบปัญหาคอขวด สะท้อนผ่านดัชนีราคาผู้ผลิต(Producer Price Index) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานยังคงอยู่ในระดับสูง

โดยในเดือนมิถุนายน 2564 PPI ขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.8 (YoY)ต่อเนื่องจากเดือนเมษายนและพฤษภาคม ที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 (YoY) 9.0 (YoY) ตามลำดับ ตลอดจนการแพร่ระบาดของโควิด-19ระลอกใหม่ในมณฑลกวางตุ้ง 1 ที่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้าทำให้ภาคธุรกิจจีนเผชิญวิกฤตด้านการขนส่ง ท่าเรือหยุดชะงักส่งผลให้การขนส่งเกิดความล่าช้า และส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น

ในขณะที่ต้นทุนของการผลิตนั้นไม่สามารถส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้ในขณะที่ความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเอง

ภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณความน่ากังวล จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จากไวรัสกลายพันธุ์แม้ว่าในครึ่งปีแรก 2564 ตัวเลขการค้าปลีก (Retail Sale) ขยายตัวร้อยละ23.0 (YoY, YTD) และนับเป็นการเติบโตเฉลี่ย 2 ปี (ปี 2563 และ ปี 2564) ที่ร้อยละ 4.4 แต่ยังเป็นระดับการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 (เติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.04 ในปี 2562)

สะท้อนถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัวแต่ยังไม่กลับมาในระดับเดิมขณะที่ภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤติการณ์โควิด-19

สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดแรงงานสากล (May Day)ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 ที่เติบโตกว่าร้อยละ 100 (YoY)ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดดังกล่าวกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19

อย่างไรก็ดี ความน่ากังวลยังคงอยู่ที่ความเป็นไปได้ของการประกาศปิดเมืองอีกครั้ง หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ประกอบกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อต้านไวรัสที่เกิดจากการกลายพันธุ์

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในมณฑลกวางตุ้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ส่งผลกระทบต่อภาคบริการมากกว่าภาคการผลิต สะท้อนผ่านตัวเลขPMI (Caixin) ภาคการบริการ เดือนมิถุนายนที่ปรับตัวลงแตะระดับ 50.3 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ถึงแม้ว่าทางการจีนจะใช้มาตรการเด็ดขาดทันท่วงที และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ให้ลุกลามขยายตัวเป็นวงกว้าง

หากแต่ PMI ภาคบริการสะท้อนให้เห็นถึงภาพความกังวลที่เกิดจะเกิดขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนและความเชื่อมั่นของประชาชนในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

  • การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขณะที่ภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมยังคงเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าโดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวโดดเด่นนั้นยังอยู่ในกระแสการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการ work-from-home

ทั้งการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และการลงทุนในบริการ E-Commerceขณะที่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมยังคงมีการขยายตัวแต่ในอัตรา ที่ต่ำกว่า อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ เห็นได้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในประเทศจีนนั้นดำเนินไปในทิศทางนโยบายที่ประเทศตั้งไว้ กล่าวคือเน้นการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีที่เพิ่มมูลค่าและเน้นคุณภาพ มากกว่าการลงทุนแบบเดิมที่เน้นการผลิตแบบการประหยัดเชิงขนาดเป็นหลัก

  • ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลาดส่งออกอันดับ 1ของจีนยังเป็นสหรัฐฯ โดยยอดการส่งออกรวมในครึ่งปีแรก 2564ขยายตัวร้อยละ 28.1 (YoY, YTD) แตะระดับ 9.85 ล้านล้านหยวนสินค้าส่งออกจีนที่มีการขยายตัวอย่างโดดเด่นได้แก่ ยานยนต์และแซสซีติดตั้งเครื่องยนต์ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ ในขณะที่สินค้าที่สนับสนันสนุนการส่งออกในปีที่แล้ว อาทิ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ขยายตัวเพียงเล็กน้อย

ในด้านของการนำเข้าของจีน ในครึ่งปีแรก 2564 ขยายตัวร้อยละ 25.9(YoY, YTD) แตะระดับ 8.22 ล้านล้านหยวน โดยแหล่งนำเข้าอันดับ 1ของจีนคือกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.6 ของยอดการนำเข้าทั้งหมด ตามมาด้วยกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 12.2) และไต้หวัน (สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 9.1) โดยสินค้าที่มีการขยายตัวอย่างโดดเด่นได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ แร่เหล็ก ขยายตัวร้อยละ 71.7 (YoY, YTD) แร่ทองแดง ขยายตัวร้อยละ46.5 (YoY, YTD) เมล็ดธัญพืช ขยายตัวร้อยละ 54.6 (YoY, YTD)

จากสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2ทางการจีนได้เลือกใช้นโยบายทางการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งโดยธนาคารกลางจีน (The People’s Bank of China)ได้ประกาศปรับลดอัตราดำรงเงินสำรองธนาคารพาณิชย์(Required Reserve Requirement) เป็นครั้งแรกในรอบปี

หลังจากที่มีการปรับลดอัตรา RRR ครั้งล่าสุดในเดือนเมษายน 2563 โดยการปรับ RRR ในครั้งนี้ มีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นการปรับ RRR ลดลง 50 bps ครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปตลอดจนขนาดเล็กซึ่งการปรับลด RRR ในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินในระบบกว่า 1 ล้านล้านหยวน (มูลค่าประมาณ 154 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) การปรับลด RRR ครั้งนี้ คาดว่าเป็นมาตรการเร่งให้มีการปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังประสบ ปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของต้นทุนการผลิต

กอปรกับการช่วยเหลือภาคบริการที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบางพื้นที่มองไปในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจีนยังคงฉายภาพเติบโต แต่ชะลอตัวกว่าช่วงครึ่งแรกของปีเล็กน้อย จากปัจจัยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนและภาคการผลิต

แม้ว่าจีนมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างสูงเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศที่ 1.44 พันล้านคน โดยมีการฉีดไปมากกว่า 1.38 พันล้านโดสการกลายพันธุ์ของไวรัสอาจทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงโดยอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดในระลอกใหม่จนทำให้ต้องประกาศปิดเมืองอีกครั้ง

ในขณะที่ทิศทางการส่งออกของจีน ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงจากทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้า และมาตรการของชาติตะวันตกที่ออกมาเพิ่มเติมเพื่อกดดันจีน โดยล่าสุดสหรัฐฯมีคำสั่งห้ามนำเข้าวัสดุโซล่าร์เซลล์จากบริษัทจีน 5 แห่ง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน ทั้งปี2564 ในกรอบร้อยละ 8.0-8.5 (YoY) บนสมมุติฐานว่าไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวงกว้าง ถึงแม้ว่าเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2564 ทั้งในภาคการผลิตจากต้นทุนที่สูงขึ้นและในภาคบริการจากการแพร่ระบาดโควิด-19

ในขณะที่เส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะถัดไป ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากประเด็นประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์ จากทั้งในประเทศจีนและประเทศคู่ค้าที่อาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯที่เริ่มยกระดับความรุนแรงจากระดับทวิภาคีเป็นระดับพหุภาคีจากการกดดันจีนร่วมกันผ่านการประชุมร่วมของกลุ่มประเทศ G7 และ NATOในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งสัญญาณเชิงลบกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ

และมีความเป็นไปได้ในการออกมาตรการตอบโต้จีนมาเพิ่มเติมทั้งในด้านมาตรการกันกีดกันทางการค้าและกฎหมายด้านความมั่นคงซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของจีนในอนาคต อย่างไรก็ดีท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย คาดว่าทางการจีนยังคงมีเครื่องมือทางการเงินและการคลังที่มากพอในการประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งเป้าไว้ หรือขยายตัวทั้งปี 2564 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0(YoY)

ภาพ-คลังภาพบางกอกโพสต์ , โพสต์ทูเดย์