posttoday

ธุรกิจร้านอาหาร วอนรัฐต้องคุมระบาดโควิดให้อยู่ได้แล้ว จากทั้ง3 เฟสเสียหายหลักแสนล. คำสั่งงดนั่งกินในร้าน

28 มิถุนายน 2564

สมาคมธุรกิจร้านอาหารไทย มองมาตรการห้ามนั่งกินในร้านทั้ง3 รอบทำภาพรวมธุรกิจเสียหายหลักแสนล้านบาท พังต้นทุนทั้งระบบสต๊อกวัตถุดิบ-สถานที่-พนักงาน ทางออกรัฐต้องเร่งคุมระบาดโควิดให้อยู่

ธุรกิจร้านอาหาร วอนรัฐต้องคุมระบาดโควิดให้อยู่ได้แล้ว จากทั้ง3 เฟสเสียหายหลักแสนล. คำสั่งงดนั่งกินในร้าน

นางลัดดา สำเภาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท พัฒนามาตรฐานร้านอาหาร (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในฐานะนายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร ว่าหลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ซึ่งลงนาม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยหนึ่งในมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คือ กำหนดในพื้นที่กทม.ที่ให้ร้านอาหาร จำหน่ายเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้นเป็นเวลา 30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป

โดยมาตราการฯดังกล่าว ที่ประกาศออกมาโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ได้ส่งผลกระทบยังผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในกรุงเทพฯแบบไม่ทันตั้งตัว ด้วยยอดขายหลักกว่า90% มาจากการนั่งรับประทานในร้าน ซึ่งทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ต้องแบกรับต้นทุนกระทันหัน ทั้งการบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารที่คำนวนสั่งซื้อล่วงหน้า ด้านสถานที่ที่เตรียมไว้ รวมถึงพนักงาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการจากก่อนหน้าที่รัฐบาลได้ประกาศผ่อนคลายและอนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้เพียงไม่นานในช่วงที่ผ่านมา

“ปัจจุบัน คาดว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารทั่วไปไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้ง 3 ระยะ จากการที่ภาครัฐไม่อนุญาตให้นั่งทานในร้าน ไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นถึงหลักแสนล้านบาท” นางลัดดา กล่าว 

นางลัดดา กล่าวต่อว่าจากมาตรการล่าสุดของรัฐบาล ที่ประกาศออกมานั้น ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในกรุงเทพฯ ต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และได้มีการปรับตัวพร้อมกันมาโดยตลอดทั้งการใช้แพล็ตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้บริการจัดส่งอาหาร(เดลิเวอรี) แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดด้วยปัจจุบันเจ้าของร้านอาหารยังต้องเสียค่า GP ให้กับเจ้าของแพล็ตฟอ์มออนไลน์รายใหญ่จากต่างประเทศในอัตราเดิม 30% แม้ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับลดค่าGP ให้กับร้านเหลืออัตรา 25% ซึ่งเป็นเพียงช่วงเวลาเดือนเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้ในส่วนของสมาคมฯ เองได้เร่งช่วยสมาชิกสมาคมธุรกิจร้านอาหารไทย ให้หันมาใช้กลยุทธ์การตลาดแบบดั้งเดิม คือ 4Ps ทั้งด้านสินค้า(อาหาร) ราคา โปรโมชัน และ สถานที่ ก็คือหน้าร้าน โดยใช้แพล็ตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ มาสื่อสารกับผู้บริโภคลูกค้าโดยตรงเพื่อสร้างการรับรู้สินค้าบริการ เพื่อให้มีโอกาสและเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าได้รับทราบช่องทางธุรกิจบริการร้านอาหารของตนเองได้มากขึ้น นอกเหนือจากการพึ่งพาแพล็ตฟอร์มเดลิเวอรี่ต่างๆ เพียงอย่างเดียว

“ภาครัฐต้องเร่งจบการแพร่ระบาดให้โดยเร็ว ด้วยผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารไทยในตอนนี้ หลายรายไม่สามารถไปต่อได้แล้ว โดยเฉพาะการประกาศมาตรการฯล่าสุดที่ไม่มีการแจ้งให้รู้ล่วงหน้าในครั้งนี้ เพราะถ้าหากรัฐยังคุมโควิดไม่อยู่ จะกระทบต่อไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ต่อไปอีกอย่างแน่นอน” นางลัดดา กล่าว 

ภาพ-คลังภาพบางกอกโพสต์, โพสต์ทูเดย์